ค้นชีวิตนายอำเภอท่าปลา ข้าราชการคนดีของแผ่นดิน


ค้นชีวิตนายอำเภอท่าปลา ข้าราชการคนดีของแผ่นดิน


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการคนค้นฅน โพสต์โดย คุณ CutelyBearEntTV1 สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

            ช่วงหลังมานี้ เราอาจจะได้ยินข่าวเชิงลบที่เกิดขึ้นกับแวดวงข้าราชการของเมืองไทย แต่สำหรับ "นายประสงค์ อุไรวรณ์" นายอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ คนนี้ เขาคือข้าราชการคนหนึ่งที่จะทำให้ทุกคนได้รับรู้ว่า "ข้าราชการดี ยังมีอยู่จริง" ซึ่งเรื่องราวชีวิตของเขาถูกตีแผ่ไว้อย่างน่าสนใจในรายการคนค้นฅน เมื่อวันเสาร์ที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา...

            ตลอด 24 ชั่วโมงของนายอำเภอประสงค์ อุไรวรณ์ คือเวลาราชการที่เขาต้องปฏิบัติหน้าที่ "ข้าของแผ่นดิน" ถึงแม้ว่า นายอำเภอประสงค์ จะย้ายมาประจำอยู่ที่อำเภอท่าปลาได้ไม่ถึงปีดี แต่นายอำเภอคนนี้ก็บุกไปแล้วแทบจะทั่วทุกพื้นที่ที่รับผิดชอบ

ค้นชีวิตนายอำเภอท่าปลา ข้าราชการคนดีของแผ่นดิน

            งานของนายอำเภอประสงค์เริ่มตั้งแต่เช้า แต่ไม่ใช่มานั่งโต๊ะเฉย ๆ หากแต่ทุกวันเขาต้องลงพื้นที่ไปคลุกคลีกับชาวบ้าน เพื่อติดตามปัญหา เรื่องร้องเรียน ช่วยชาวบ้านทำฝาย ให้ความคิด ความรู้ในด้านต่าง ๆ รวมทั้งเข้าไปให้ความช่วยเหลือครอบครัวยากจน เป็นการทำงานที่สมกับคำกล่าวว่า "บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชน" อย่างแท้จริง

            หลังจากงานในพื้นที่เสร็จสิ้น ก็เป็นเวลาดึกดื่นมืดค่ำแล้วที่นายอำเภอจะได้กลับออกมา แต่ถึงจะดึกแค่ไหน นายอำเภอประสงค์ก็จะต้องแวะไปที่ห้องทำงานทุกครั้ง เพื่อสะสางงานต่าง ๆ แม้จะมีแฟ้มงานกองอยู่ตรงหน้านับสิบ แต่เขาก็ต้องอ่านจนหมดไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ก่อนจะเดินทางกลับบ้านในช่วงดึก และเป็นเช่นนี้ทุกวัน

            "นายอำเภอที่ดี ต้องยึดประชาชนเป็นที่ตั้งในการที่จะดูแลทุกข์สุขของประชาชน เป็นแบบอย่างที่ดีให้เขานำไปใช้ นำไปปฏิบัติได้" นายอำเภอท่าปลา กล่าว พร้อมกับยืนยันว่า ตัวเขาเองไม่เคยไปยุ่งเกี่ยว หรือล้วงลูกในเรื่องงบประมาณ และจะไม่รับสิ่งที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหยิบยื่นมาให้อย่างเด็ดขาด

ค้นชีวิตนายอำเภอท่าปลา ข้าราชการคนดีของแผ่นดิน

            หากใครได้รู้จักนายอำเภอประสงค์จะรู้ดีว่า เขาเป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างสมถะ และเรียบง่ายเป็นอย่างมาก อย่างเช่นในห้องทำงานของเขาแทบจะไม่เคยเปิดเครื่องปรับอากาศเลย ส่วนไฟก็เปิดเพียงดวงเดียวเท่านั้น ซึ่งเขาบอกว่า นี่เป็นบุญคุณของมารดาที่เป็นผู้ปลูกฝังเขาให้รู้จักประหยัด ขณะที่บ้านพักของเขาก็เป็นบ้านหลังไม่ใหญ่นัก มีเพียงโต๊ะทำงานเก่า ๆ ข้าวของเครื่องใช้จำนวนหนึ่งวางอยู่ ไร้ซึ่งตู้โชว์ ของประดับตกแต่งบ้าน อย่างที่ในบ้านของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคนมีกัน หรือแม้แต่พัดลมก็ยังไม่มี

            เมื่อถามว่า ในอำเภอท่าปลาแห่งนี้ มีปัญหาอะไรที่นายอำเภอเห็นอยู่บ้าง นายอำเภอประสงค์ บอกว่า เขาเป็นคนจังหวัดอุตรดิตถ์จึงทราบปัญหาของที่นี่ดี โดยตั้งแต่ในอดีต คนท่าปลามีปัญหาเรื่องสุขภาพ ขาดธาตุไอโอดีน ทำให้มีผู้ป่วยโรคคอพอกสูงมากจังหวัดหนึ่งในประเทศ และยังมีเรื่องการอพยพโยกย้ายถิ่นจากการสร้างเขื่อน ทำให้เกิดปัญหาที่ดินทำกินตามมา ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมานานแล้ว แต่จนถึงบัดนี้ชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

ค้นชีวิตนายอำเภอท่าปลา ข้าราชการคนดีของแผ่นดิน

            นอกจากนั้น นายอำเภอก็เห็นว่า ชาวบ้านยังมีปัญหาเรื่องการทำเกษตรกรรม เพราะพื้นที่ใหม่ที่ย้ายมาอยู่กันนั้น เป็นที่เนินสูง ไม่มีน้ำ ทำการเกษตรไม่ได้ผลดี เขาจึงใช้แนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านให้ทำมาหาเลี้ยงชีวิตได้ รวมทั้งการบุกป่าฝ่าดงเข้าไปทำฝายให้ชาวบ้าน เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร แม้ว่าจะต้องทำฝายท่ามกลางฝนที่ตกกระหน่ำ แต่นายอำเภอก็ไม่ยอมวางมือจากงานที่อยู่ตรงหน้า ทำให้ชาวบ้านที่มาช่วยทำฝายด้วยกันตัดสินใจสู้เคียงข้างนายอำเภอที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด จนสุดท้ายก็สำเร็จเป็นฝายเก็บน้ำดังที่ตั้งใจ

            ทุกงานเพื่อมวลชนที่นายอำเภอทำนั้น เขาทำอย่างตั้งใจจริง ไม่ใช่ทำพอเป็นพิธี อย่างเช่นการปลูกป่า เราอาจจะเคยเห็นผู้ที่เดินทางมาเป็นประธานในพิธีออกมากล่าวเปิดงาน แล้วลงมือปลูก 1 ต้นพอเป็นพิธี ก่อนจะเดินทางกลับ แต่สำหรับนายอำเภอคนนี้ เขาจะกลับก็ต่อเมื่อต้นกล้านับพันนับหมื่นต้นที่นำมาเตรียมไว้ถูกปลูกลงบนผืนป่าทั้งหมดแล้ว

ค้นชีวิตนายอำเภอท่าปลา ข้าราชการคนดีของแผ่นดิน

            ความมุ่งมั่น และความทุ่มเทของนายอำเภอประสงค์ ทำให้ชาวบ้านประทับใจและรักนายอำเภอคนดีคนนี้เป็นอย่างมาก ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนในอำเภอท่าปลาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยู่มา 60-70 ปี เพิ่งจะเคยเห็นนายอำเภอที่ลงมาคลุกคลีกับประชาชนมากขนาดนี้เป็นคนแรก แม้ว่านายอำเภอจะย้ายมาอยู่ไม่ถึงปี แต่ชาวบ้านแทบทุกหมู่บ้าน รู้จักนายอำเภอคนใหม่กันเกือบหมด

            ขณะเดียวกัน ก็ยังมีชาวบ้านอีกกลุ่มที่ไม่ได้อพยพออกมาจากการสร้างเขื่อน แต่นายอำเภอก็ไม่ได้ทอดทิ้งพวกเขาเหล่านั้น เขาได้นั่งเรือเข้าไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านถึงหมู่บ้าน และนอนค้างเอาแรงบนเสื่อเก่า ๆ ผืนหนึ่งในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอย่างไม่ถือตัว ก่อนจะรีบตื่นขึ้นมาช่วยชาวบ้านทำนาตั้งแต่เช้าตรู่ โดยไม่ห่วงเรื่องข้าวปลาอาหาร ซึ่งเขาบอกว่า การทำเช่นนี้ เพื่อจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

            หลายคนอาจจะมองว่า คนเป็นถึงนายอำเภอไม่จำเป็นต้องออกมาลงมือลงแรงในหลาย ๆ เรื่องด้วยตัวเองขนาดนี้ แต่สำหรับนายอำเภอประสงค์ เขากลับมองว่า เกียรติและศักดิ์ศรีของนายอำเภอ คือ การที่ประชาชนยอมรับในตัวเขา หาใช่ตำแหน่งในชุดสีกากีไม่

ค้นชีวิตนายอำเภอท่าปลา ข้าราชการคนดีของแผ่นดิน

            "ผมว่าเกียรติของการเป็นนายอำเภอ คือการที่ประชาชนยอมรับจากตัวเราจริง ๆ จากการที่ตัวเราเป็นตัวเรา ไม่ใช่อำนาจตามกฎหมาย ตามตำแหน่งหน้าที่ ก็เหมือนกับที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านเคยกล่าวไว้ อำนาจไม่ได้อยู่ที่พระแสงศาสตรา แต่อยู่ที่ราษฎรยอมรับนับถือ ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ยั่งยืน และเป็นตัวตนที่แท้จริงของตำแหน่งนี้มากกว่า" นายอำเภอประสงค์ กล่าวในที่สุด

             เพราะแนวคิด "ข้าราชการ คือ ข้ารับใช้ของประชาชน" ที่ทำมาตลอดชีวิตการสวมเครื่องแบบสีกากี จึงไม่น่าแปลกใจที่ข้าราชการของแผ่นดินไทย อย่าง "นายอำเภอประสงค์ อุไรวรณ์" จะได้รับรางวัลเกียรติยศจากโครงการ "มหาดไทย ดำรงธรรม ดำรงราชานุภาพ" ซึ่งเป็นรางวัลที่เชิดชูและเทิดทูนความดีที่เขาได้สร้างให้กับแผ่นดิน สมฐานะ "ข้าของแผ่นดิน" อย่างแท้จริง













เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ค้นชีวิตนายอำเภอท่าปลา ข้าราชการคนดีของแผ่นดิน โพสต์เมื่อ 27 สิงหาคม 2555 เวลา 15:13:17 11,530 อ่าน
TOP
x close