
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
กรมการขนส่งทางบก ออกกฎให้รถบรรทุกวัตถุอันตราย ติดตั้ง GPS ทุกคัน เพื่อคุมพฤติกรรมคนขับ และป้องกันเหตุร้าย โดยมีบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป
เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา นายวัฒนา พัทรชนม์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขส.ทบ.) เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก เตรียมออกมาตรการป้องกันอุบัติเหตุในการขนส่งวัตถุอันตรายทั้งด้านตัวรถ พนักงานขับรถ และผู้ประกอบการขนส่ง โดยด้านตัวรถ กำหนดให้รถบรรทุกวัตถุอันตรายต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ (GPS Tracking) เพื่อให้สามารถติดตาม ควบคุม กำกับดูแล พนักงานขับรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ จะบังคับใช้กับรถบรรทุกวัตถุอันตราย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป สำหรับรถที่จดทะเบียนก่อนวันบังคับใช้และติดตั้งเครื่อง GPS อยู่แล้ว สามารถใช้ต่อไปได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556 พร้อมทั้งสั่งการให้สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครทุกเขตพื้นที่ และสำนักงานขนส่งทุกจังหวัด เข้มงวดในการตรวจสภาพรถบรรทุกวัตถุอันตราย โดยเฉพาะตัวถัง และอุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องยึดติดกับโครงรถอย่างมั่นคง เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน
นายวัฒนา กล่าวต่อว่า ด้านพนักงานขับรถ เตรียมจัดตั้งศูนย์ประวัติผู้ขับรถสาธารณะ และรถบรรทุกวัตถุอันตราย เพื่อสนับสนุนข้อมูลประวัติผู้ขับรถ และผู้ประจำรถให้แก่ผู้ประกอบการขนส่ง เพื่อช่วยคัดกรองก่อนรับเข้าทำงาน และเป็นการส่งเสริมให้ผู้ขับรถมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเตรียมปรับปรุงหลักสูตรการอบรมการขอรับใบอนุญาตขับรถ และการต่ออายุของรถบรรทุกวัตถุอันตรายให้เป็นไปตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายทางถนนของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งยุโรปภายใต้องค์การสหประชาชาติ (ADR) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มอบรมหลักสูตรใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2556 เป็นต้นไป
อีกทั้ง ยังกำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งต้องจัดทำรายงานการตรวจสภาพรถเบื้องต้นประจำวันก่อนการใช้งานทุกครั้ง และต้องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของพนักงานขับรถก่อนออกให้บริการ ต้องอบรมพนักงานขับรถเป็นประจำทุกปี รวมทั้งต้องจัดตั้งศูนย์ควบคุมการเดินรถด้วยระบบ GPS และต้องติดตั้งระบบ GPS ในรถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุกวัตถุอันตรายทุกคัน พร้อมทั้งกำชับให้ผู้ประกอบการขนส่งวัตถุอันตรายต้องใช้พนักงานขับรถที่มีใบอนุญาตขับรถชนิดที่ 4 เท่านั้น หากพบการฝ่าฝืนจะลงโทษขั้นสูงสุด
นายวัฒนา ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จะมีการบูรณาการร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรุงเทพมหานคร, กรมธุรกิจพลังงาน, กองบังคับการตำรวจจราจร และกองบังคับการตำรวจทางหลวง ดำเนินการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุในกรุงเทพมหานคร และในเขตท้องที่จังหวัดนครราชสีมา กรณีรถขนส่งวัตถุอันตรายเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือมีสาธารณภัยเกิดขึ้น คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนได้ในระดับหนึ่ง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
