x close

คนไทยหนี้เพิ่ม สุขลดลง ผลพวงรถคันแรก - บ้านหลังแรก


คนไทยหนี้เพิ่ม สุขลดลง


คนไทยหนี้เพิ่ม สุขลดลง ผลพวงรถคันแรก-บ้าน (ไทยโพสต์)

          สศช. เผย คนไทยมีหนี้สินเพิ่มขึ้น - ความสุขลดลง ยอดคงค้างสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่ม 20.4% หรือ 2.74 ล้านบาท ผลพวงโครงการรถยนต์คันแรกและบ้านหลังแรก แต่ความสามารถชำระหนี้ลดลง เอ็นพีแอลพุ่ง 25.1% แนะใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง

          เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ว่า สถานการณ์ครัวเรือนไทยมีหนี้สินเพิ่มขึ้น แต่มีความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ลดลง ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีมูลค่า 2.74 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.4% ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 และไตรมาสแรกของปี 55 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้สิทธิ์ตามโครงการรถยนต์คันแรกและบ้านหลังแรกของรัฐบาล โดยสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 33.6% สินเชื่อเพื่อการบริโภคอื่น ๆ 30.3% และสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย 10.3%

          นางสุวรรณี กล่าวต่อว่า สำหรับความสามารถในการชำระหนี้คืนกลับลดลง โดยเห็นได้จากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลนั้น เพิ่มขึ้น 25.1% คิดเป็นมูลค่า 56,527 ล้านบาท หรือ 21.4% ของเอ็นพีแอลรวมทั้งหมด ขณะที่มูลค่าสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไป เพิ่มขึ้น 37.8% หรือ 7,382 ล้านบาท และสินเชื่อบัตรเครดิตที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้น 11%

          "ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินตัวมากขึ้น และเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังและติดตาม โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย ที่มีแนวโน้มใช้จ่ายตามค่านิยมของสังคม หรือได้รับแรงจูงใจจากการโฆษณาขายสินค้า"

          รองเลขาธิการ สศช.กล่าวอีกว่า สภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 3 ยังมีดัชนีความสุขลดลง ซึ่งจากผลสำรวจของเอแบคโพลล่าสุด พบว่าความสุขมวลรวมของคนไทยลดลงจากร้อยละ 6.18 ในเดือน มีนาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 5.79 ในเดือน กันยายน 2555 หลังพบว่ามีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจในครัวเรือนที่ค่าครองชีพสูงขึ้น ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ก็เป็นข้อกังวลของคนไทยมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

          "จากนโยบายค่าแรง 300 บาท ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่กลับพบว่าแรงงานมีการออมเงินที่น้อยมาก โดยสัดส่วนการออมเงินของแรงงาน ล่าสุดมีเพียง 7.8% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เท่านั้น ขณะที่ญี่ปุ่นมีสัดส่วนการออมเงินมากกว่า 50% ทั้งที่แรงงานไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะแรงงานผู้สูงอายุมากขึ้นก็ตาม หรือเท่ากับว่าคนไทยแก่แล้วยังจนเหมือนเดิม ขณะที่คนญี่ปุ่นแก่แล้วรวย เพราะเขามีการออมเงินมาตั้งแต่วัยเด็ก"

          นางสุวรรณี กล่าวด้วยว่า จำเป็นอย่างยิ่งต้องส่งสัญญาณให้มีระบบเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างจริงจัง พร้อมกับการส่งเสริมให้มีการออมเงินตั้งแต่วัยเด็ก โดยกระทรวงการคลังต้องทบทวนเรื่องของเงินออมแห่งชาติใหม่เนื่องจากไม่สามารถรอช้าได้อีกต่อไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คนไทยหนี้เพิ่ม สุขลดลง ผลพวงรถคันแรก - บ้านหลังแรก โพสต์เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2555 เวลา 09:07:34 2,775 อ่าน
TOP