พลิกแฟ้ม คดีดัง 24 มกราคม 2543 ก็อดอาร์มี บุกยึด รพ.ราชบุรี



พลิกแฟ้ม คดีดัง 24 มกราคม 2543 ก็อดอาร์มี บุกยึด รพ.ราชบุรี

พลิกแฟ้ม คดีดัง 24 มกราคม 2543 ก็อดอาร์มี บุกยึด รพ.ราชบุรี

         หากจะเอ่ยถึงเหตุการณ์ระทึกขวัญที่โด่งดังที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย คดีหนึ่งที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย นั่นก็คือ เหตุการณ์ที่ทหารได้บุกเข้าชิงตัวประกันเพื่อช่วยเหลือชาวไทย หลังจากที่ถูกกะเหรี่ยงก็อดอาร์มีบุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี เมื่อวันที่ 24 มกราคม ปี พ.ศ. 2543 

         และในวันนี้ก็เป็นวันครบรอบ 13 ปีของเหตุการณ์ดังกล่าว กระปุกดอทคอมจึงไม่พลาดนำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าวมาฝากเพื่อน ๆ ค่ะ

เหตุการณ์ก็อดอาร์มี บุกยึดสถานทูตพม่า พ.ศ. 2542

         เหตุการณ์ก็อดอาร์มีบุกยึดสถานทูตพม่า พ.ศ. 2542 และโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี พ.ศ. 2543 เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงภายในประเทศไทยที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกัน 2 เหตุการณ์ในช่วงระยะเวลาห่างกันเพียงไม่กี่เดือน ด้วยกลุ่มคนกลุ่มเดียวกัน ที่เป็นนักศึกษากะเหรี่ยงคริสต์ สัญชาติพม่า ติดอาวุธสงคราม เรียกกองกำลังตัวเองว่า ก็อดอาร์มี (God's Army) หรือ กองกำลังพระเจ้า

         เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 เวลา 11.45 น. กลุ่มนักศึกษาพม่า จำนวน 12 คน พร้อมอาวุธปืนและระเบิด บุกเข้าไปในสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ที่ถนนสาทร จับเจ้าหน้าที่สถานทูตและประชาชนที่เข้าไปติดต่อราชการเป็นตัวประกัน ไว้ได้ราว 20 คน จากนั้นก็ชักธงชาติพม่าและชักธงของพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (Nationality League for Democracy) ขึ้นไปแทน

         ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมนักศึกษาพม่าคนอื่น ๆ ที่อยู่บริเวณเดียวกันมาสอบสวน ควบคู่ไปกับการเจรจาปล่อยตัวประกัน ทำให้ทราบว่า หัวหน้าผู้ก่อการครั้งนี้ ชื่อ นายจอห์นนี่ ซึ่งได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลทหารพม่าให้ปล่อยตัว นางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน ให้กลับไปทำหน้าที่หลังได้รับการเลือกตั้งหลายถล่มทลายในปี พ.ศ. 2533 ทางฝ่ายรัฐบาลไทย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ได้เดินทางมาสั่งการและเปิดศูนย์อำนวยการขึ้นที่อาคารไบเออร์ ที่อยู่ติดกับสถานทูต

         ระหว่างนี้ การเจรจาไม่ได้ผล แต่ตัวประกันสามารถทยอยหนีออกมาได้เรื่อย ๆ หลังสถานทูต จนเหลือเพียง 5 คน จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. นายจอห์นนี่ได้ต่อรองขอเฮลิคอปเตอร์ให้ไปส่งตนและพรรคพวกที่ชายแดนไทย-พม่า ที่จังหวัดราชบุรี ทางรัฐบาลไทยได้ตอบรับ โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ เสนอตัวเป็นตัวประกันนั่งโดยสารไปด้วยเพื่อรับรองความปลอดภัยจนกระทั่งถึงที่หมาย ซึ่งระหว่างตอนที่รถของนักศึกษาและรถของเจ้าหน้าที่ไทยออกจากสถานทูต ได้มีการปิดถนนสาทรและมีการรายงานสดจากที่เกิดเหตุของบรรดาสื่อมวลชนช่องต่าง ๆ ในที่สุด เมื่อผ่านไป 25 ชั่วโมงนับจากเกิดเหตุ เหตุการณ์ก็จบลงอย่างสงบ

         หลังจากนั้น สื่อมวลชนได้ต่างพากันเสนอแนะและวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้อย่างกว้างขวาง ทำให้ทราบว่า กองกำลังก็อดอาร์มีนี้ มีผู้นำเป็นเด็กผู้ชายฝาแฝดอายุเพียง 12 ขวบ ชื่อ ลูเธอร์ กับ จอห์นนี่ ฮะทู เป็นเด็กแฝดที่มีลิ้นสีดำ ซึ่งเป็นผู้มีบุญตามคติความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงและชาวพม่า และที่พำนักของนักศึกษาพม่าในประเทศไทย มีศูนย์ใหญ่ที่สุด ชื่อ ศูนย์มณีลอย ที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีนักศึกษาที่หลบหนีจากเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศพม่ามาพำนักยังศูนย์นี้จำนวนมาก ซึ่งทางรัฐบาลจะต้องให้ความดูแลและรอบคอบทางด้านความปลอดภัยมากกว่านี้


เหตุการณ์ก็อดอาร์มี บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี จังหวัดราชบุรี พ.ศ. 2543

         เช้าวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2543 กองกำลังก็อดอาร์มี กลุ่มเดิมที่นำโดย นายจอห์นนี่ จำนวน 10 คน ได้ก่อเหตุด้วยการปลอมตัวเป็นผู้โดยสารนั่งรถประจำทางสายสวนผึ้ง-ราชบุรี แล้วใช้ปืนเอ็ม-16 และระเบิดจี้คนขับรถให้พาไปยังโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี เมื่อไปถึงได้บุกยึดโรงพยาบาล จับแพทย์ พยาบาล และคนไข้ประมาณ 1,000 คน เป็นตัวประกัน

พลิกแฟ้ม คดีดัง 24 มกราคม 2543 ก็อดอาร์มี บุกยึด รพ.ราชบุรี

พลิกแฟ้ม คดีดัง 24 มกราคม 2543 ก็อดอาร์มี บุกยึด รพ.ราชบุรี

         จากนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยพยายามเข้าไปช่วยเหลือตัวประกัน แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากผู้ก่อการได้วางระเบิดดักไว้ที่ลาดจอดรถทั้งด้านหน้าและด้านหลังโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีเจรจาต่อรองจนทราบว่า กลุ่มก็อดอาร์มี ต้องการนำตัวแพทย์ และพยาบาลไปรักษาทหารกะเหรี่ยงที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกทหารรัฐบาลพม่าปราบปรามอย่างหนัก โดยข้อเรียกร้อง 5 ข้อของกะเหรี่ยงก็อดอาร์มี่ มีดังนี้

         1. ให้รัฐบาลไทยหยุดใช้ปืน ค 120 มม. ยิงชนกลุ่มน้อยตามแนวตะเข็บชายแดนและให้รับรักษาผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย

         2. ให้รัฐบาลไทยหยุดช่วยเหลือทหารพม่าที่มาใช้ดินแดนไทยมาต่อสู้กับชนกลุ่มน้อย

         3. ให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือผู้อพยพบ้านบ่อหลี

         4. ให้รัฐบาลไทยกดดันรัฐบาลพม่าให้ยอมรับชนชาติกะเหรี่ยง

         5. ให้รัฐบาลไทยลงโทษทหารไทยที่สั่งให้ยิงฐานกำลังของตน

         ระหว่างนี้มีการยิงปืนขู่เป็นระยะ ๆ กดดันไม่ให้ตำรวจ-ทหารเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม ต่อมาสถานการณ์เริ่มดีขึ้น เมื่อกะเหรี่ยงก็อดอาร์มี่ยอมปล่อยตัวประกันเด็ก สตรี และคนชราที่ป่วยออกมารักษา เพื่อแลกกับอาหาร

         เมื่อความมืดเข้าครอบคลุม นักรบพระเจ้าเปลี่ยนเสื้อผ้าจากลายพรางมาเป็นชุดผู้ป่วย เพื่อให้ตำรวจทหารแยกแยะไม่ออก ป้องกันการจู่โจมและปิดประตูหน้าต่าง ไฟฟ้า ไม่ให้สังเกตเห็นความเคลื่อนไหวภายใน

         อย่างไรก็ตาม เมื่อใกล้ค่ำสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลง ผู้ก่อการร้ายขอเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ เพื่อนำคณะผู้ก่อการร้ายไปส่งชายแดน เมื่อฝ่ายเจรจาซักถามให้ไปส่งที่ใด ผู้ก่อการร้ายตอบไม่ได้ สับสน กังวล ไม่แน่ใจในความปลอดภัย ตอบเพียงว่าขอให้ไปส่งแนวชายแดนพื้นที่ของกะเหรี่ยงก็อดอาร์มี แต่การต่อรองก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้

         ในขณะที่พยายามจัดหาสิ่งที่ฝ่ายผู้ก่อการร้องขอมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยทั้งทหารและตำรวจพยายามต่อรองเพื่อหันเหความสนใจ โดยการถ่วงเวลาให้ผู้ก่อการอ่อนล้าและรอกำลังเสริม เพราะฝ่ายไทยวางแผนเตรียมจัดการขั้นเด็ดขาด เนื่องจากเกรงว่าหากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อจะไม่เป็นผลดี กองกำลังผสมชุดปฏิบัติการนเรศวร 261 ของ ตชด. หน่วยอรินทราช 26 ของ บช.น.และชุดปฏิบัติการ 90 จากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี จึงค่อย ๆ คืบคลานเข้าประจำจุดอย่างเงียบเชียบและรัดกุม รอคอยคำสั่งปฏิบัติการ เน้นความรวดเร็วและแม่นยำ ที่สำคัญต้องไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต นอกจากผู้ก่อการร้าย

         ในที่สุด เวลา 04.00 น. ของวันที่ 25 มกราคม กองกำลังหน่วยนเรศวร 261 จำนวน 50 นายได้บุกเข้าไปช่วยเหลือตัวประกัน ควบคู่ไปกับการจัดการขั้นเด็ดขาด โดยใช้เวลาเพียงไม่ถึง 20 นาที สามารถช่วยเหลือตัวประกันไว้ได้ทั้งหมดอย่างปลอดภัย และกลุ่มก็อด อาร์มี่ เสียชีวิต 10 คน

พลิกแฟ้ม คดีดัง 24 มกราคม 2543 ก็อดอาร์มี บุกยึด รพ.ราชบุรี

         จนกระทั่งวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2544 ลูเธอร์และจอห์นนี่ ฮะทู พร้อมลูกน้องทั้ง 27 คน ได้เข้ามอบตัวต่อทางการไทย และถูกส่งไปอยู่ในค่ายผู้อพยพ พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านต้นยาง ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี


วันกองทัพไทย

         สำหรับการปราบผู้ก่อการร้ายดังกล่าวตรงกับ 25 มกราคม วันกองทัพไทยพอดิบพอดี ซึ่งทุกปีมีการเดินสวนสนามประกาศความยิ่งใหญ่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้เอกราช ทรงเป็นนักรบผู้กล้าหาญ นักรบผู้ยิ่งใหญ่โดยเฉพาะสมรภูมิที่สู้รบกับพม่า พระองค์ประสบชัยชนะอย่างสง่างามและเด็ดขาด

         แต่สถานการณ์ที่คลุมเครือดังกล่าวทำให้ ณ เวลานั้น กองทัพไทยยังไม่สามารถเฉลิมฉลองได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดย ผบ.ทบ.พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ในทุกสนามรบ ยอมไม่ได้เด็ดขาด ชาติอยู่เหนืออื่นใด จะปล่อยให้ก็อดอาร์มี กองกำลังกะเหรี่ยงลูบคมหยามศักดิ์ศรีทหารไทย คนไทย ถึงสองครั้งได้อย่างไร 

         แผนเผด็จศึกถูกจัดวางอย่างรอบคอบรัดกุม ไม่มีผู้ใดรู้ล่วงหน้าเลยเพียงแต่กำชับให้ทุกหน่วยต้องพร้อมปฏิบัติเมื่อมีคำสั่งเท่านั้น เพียงคำนี้ทุกหน่วยรบรู้เองว่าจะปฏิบัติอย่างไร และอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป การซักซ้อม ประสานการปฏิบัติหน่วยต่อหน่วย ซ้อมครั้งแล้วครั้งเล่า ซ้ำซาก กำหนดทิศทางต้องลงตัวเสมอ ผิดแม้แต่องศาเดียวหมายถึง ชีวิตตัวประกัน ชีวิตตนเอง ชื่อเสียงประเทศชาติ เกียรติภูมินักรบไทย จนในที่สุดกองทัพไทยก็สามารถปราบผู้ก่อการร้ายลงได้อย่างราบคาบ


มาทำความรู้จักกับ ก็อดอาร์มี่ นักรบของพระเจ้า 

         ตั้งแต่ปี 2530 นักศึกษาและประชาชนชาวพม่าเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลทหารเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงถูกกวาดล้างอย่างหนัก จนต้องหลบหนีมาอาศัยอยู่กับชนกลุ่มน้อยตามแนวตะเข็บชายแดน บางส่วนหนีเข้ามาฝั่งไทย ด้วยความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์นักศึกษาพม่าขึ้นที่บ้านมณีลอย ต.วังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2534

พลิกแฟ้ม คดีดัง 24 มกราคม 2543 ก็อดอาร์มี บุกยึด รพ.ราชบุรี
จอห์นนี่และลูเธอร์ ฮะทู 

พลิกแฟ้ม คดีดัง 24 มกราคม 2543 ก็อดอาร์มี บุกยึด รพ.ราชบุรี

         ต่อมาปี 2538 กองกำลังกะเหรี่ยงกู้ชาติเคเอ็นยู ถูกทหารพม่าตีแตกออกเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มหนึ่งใช้ชื่อว่า "ก็อดอาร์มี่" หรือนักรบพระเจ้า มีผู้นำเป็นเด็กแฝดลิ้นดำ 2 คน คือ จอห์นนี่และลูเธอร์ ฮะทู ซึ่งมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มนักศึกษาพม่าศูนย์มณีลอย เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลพม่า เช่น บุกยึดสถานทูตพม่าเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2542 และยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี ปี 2543 และมีความพยายามอีกหลายครั้ง

         จนกระทั่งวันที่ 16 มกราคม 2544 สองเด็กแฝดลิ้นดำพร้อมลูกน้องเข้ามอบตัวต่อทางการไทย สุดท้ายทางการไทยจึงสั่งปิดศูนย์ในปี 2545 โดยมีนักศึกษาบางส่วนถูกส่งตัวไปยังประเทศที่สาม

world_id:56bc55f24d265a831d8b4597



ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พลิกแฟ้ม คดีดัง 24 มกราคม 2543 ก็อดอาร์มี บุกยึด รพ.ราชบุรี อัปเดตล่าสุด 11 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 16:39:50 66,765 อ่าน
TOP
x close