x close

ปากคำแม่-ภรรยา...มะรอโซ จันทราวดี จากเหยื่อตากใบ สู่แกนนำ RKK



มะรอโซ จันทรวดี
มะรอโซ จันทรวดี

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  บ้านราชดำเนิน , pataniforum.com

         เหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนับ 50 คน บุกเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการ กองร้อยปืนเล็กที่ 2 สังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 กองทัพเรือ เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จบสิ้นลงด้วยการเสียชีวิตของผู้ก่อความไม่สงบที่มาในชุดแต่งกายเลียนแบบทหารถึง 16 ราย หนึ่งในนั้นก็คือ นายมะรอโซ จันทราวดี อายุ 30 ปี แกนนำคนสำคัญของการก่อเหตุนับครั้งไม่ถ้วนในพื้นที่บาเจาะ ที่เป็นที่ครั่นคร้ามของชาวบ้าน

ปากคำแม่-ภรรยา...มะรอโซ จันทราวดี จากเหยื่อตากใบ สู่แกนนำ RKK

         ถึงตรงนี้หลายคนอาจตั้งคำถามว่า เหตุใดชาวบ้านธรรมดา ๆ คนหนึ่งในอดีตอย่าง "มะรอโซ จันทราวดี" ถึงก้าวขึ้นมาเป็นแกนนำอาร์เคเค และก่อคดีสะเทือนขวัญมากมาย จนมีหมายจับ ป.วิอาญา ถึง 11 หมาย พร้อมกับค่าหัวที่สูงถึง 2 ล้านบาท

         เพื่อหาคำตอบนี้ "เอกรินทร์ ต่วนศิริ" อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับมารดา และภรรยาของนายมะรอโซ จันทราวดี ถึงที่บ้านในอำเภอบาเจาะ ก่อนจะเขียนบทความรายงานพิเศษ ชื่อ "มะรอโซ จันทราวดี : จากเหยื่อสู่ แกนนำ RKK" ลงในเว็บไซต์ pataniforum.com เป็นข้อมูลเชิงลึกที่หลายคนไม่เคยรู้...

ปากคำแม่-ภรรยา...มะรอโซ จันทราวดี จากเหยื่อตากใบ สู่แกนนำ RKK

         ข้อมูลจาก นางเจ๊ะมะ เจ๊นิ อายุ 53 ปี ผู้เป็นมารดา เผยให้ทราบว่า มะรอโซ จันทราวดี ลูกชายของเธอ เคยอยู่ในเหตุการณ์ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 และลูกชายก็เล่าให้เธอฟังว่า เขารู้สึกเจ็บปวดและแค้นใจมากที่ตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด แค่เดินทางผ่านไปยังเส้นทางที่มีการชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้เจตนาเข้าร่วมการชุมนุม แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว พร้อมกับมัดมือ ถีบ ใช้ปืนทุบตีร่างกาย และโยนซ้อนทับกันในรถบรรทุกของทหารที่จับตัวผู้ชุมนุมเอาไว้ ซึ่งตอนที่อยู่บนรถบรรทุกนั้น มะรอโซ พยายามดิ้นจนเชือกที่มัดอยู่หลุดออก และเข้าไปช่วยแก้มัดให้เพื่อน ๆ คนอื่นที่อยู่ในรถด้วยกัน

         หลังจากเหตุการณ์ตากใบสิ้นสุดลง มะรอโซ เป็นคนหนึ่งที่รอดชีวิตกลับมาได้ หลังจากนั้น เขาก็เอาแต่เก็บตัวอยู่คนเดียว ไม่ค่อยคุยอะไรกับใคร ทั้งที่ก่อนหน้านั้น มะรอโซ เป็นคนขยันขันแข็ง มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ค้าขายเก่ง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นายมะรอโซแทบจะเปลี่ยนไปเป็นคนละคน

         นางเจ๊ะมะ เล่าให้ฟังอีกว่า หลังจากนั้นไม่นานได้เกิดเหตุลอบวางระเบิดรถทหารที่ลาดตระเวนหมู่บ้าน มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตทันที 10-11 นาย มะรอโซ ถูกทางการออกหมายจับ และจากนั้นเป็นต้นมา ชื่อของนายมะรอโซก็เป็นที่ต้องการของเจ้าหน้าที่ เขาจึงต้องหนีออกจากหมู่บ้าน และตั้งแต่นั้นมา ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบอะไรขึ้นในพื้นที่บาเจาะ ชื่อของนายมะรอโซจะถูกระบุว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแทบทุกกรณี ทั้งในฐานะผู้สั่งการ หรือผู้ปฏิบัติการ

         และเมื่อนายมะรอโซคือแกนนำผู้ก่อความไม่สงบคนสำคัญที่ทางการต้องการตัว นั่นทำให้ครอบครัวของนายมะรอโซเองถูกเจ้าหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหว และบุกค้นบ้านอยู่บ่อยครั้ง โดยนายเจ๊ะมะ เคยถูกจับกุมไปขังที่ค่าย ในข้อหามีกระสุนปืนในบ้าน ส่วนน้องชายของนายมะรอโซ ซึ่งมีหน้าตาคล้ายกับพี่ ก็เคยถูกเจ้าหน้าที่จับไปคุมขัง 21 วัน ในข้อหาขว้างระเบิด แต่สุดท้ายก็ถูกปล่อยกลับมา เพราะไม่มีหลักฐานเอาผิด นอกจากนี้ ยังเคยเกือบถูกเจ้าหน้าที่ที่มาบุกจับถึงในหมู่บ้านยิงปืนใส่ เพราะเข้าใจผิดว่า นี่คือตัวมะรอโซ พลางตัดพ้อว่า ทำไมต้องมาทำอย่างนี้ เพราะน้องชายของมะรอโซมีสติไม่ค่อยดีเท่าไร

ปากคำแม่-ภรรยา...มะรอโซ จันทราวดี จากเหยื่อตากใบ สู่แกนนำ RKK

         ผู้เป็นแม่เล่าว่า ที่ผ่านมา ทหารเข้ามาค้นบ้านของเธอบ่อยมาก แต่หลัง ๆ จะยืนอยู่แค่หน้าบ้าน ไม่เข้ามาในบ้าน เพราะเธอจะด่าไม่หยุดว่าทำไมต้องมาทุกวันด้วย ซึ่งเธอก็วิเคราะห์ว่า ที่เจ้าหน้าที่ทำเช่นนี้คงต้องการบีบให้มะรอโซออกมามอบตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐ

         อย่างไรก็ตาม การที่มะรอโซเสียชีวิตในครั้งนี้ นางเจ๊มะ บอกว่า ยอมรับได้ และไม่กล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะถือว่าเป็นการต่อสู้กันทั้งสองฝ่ายที่มีอาวุธ แต่แม้จะจุดจบจะเป็นเช่นนี้ เธอก็ยังยืนยันว่า ลูกชายของเธอเป็นคนดี แต่เหตุการณ์ตากใบต่างหากที่ทำให้ลูกของเธอต้องเปลี่ยนไปจนกระทั่งเสียชีวิต

         ขณะที่ นางรุสนี แมเราะ อายุ 25 ปี ภรรยาของมะรอโซ เล่าถึงสามีของเธอบ้างว่า พวกเขาแต่งงานกันในปี 2548 หลังจากเหตุการณ์ตากใบ 1 ปี โดยก่อนแต่งงาน มะรอโซ ได้ถามเธอว่า จะยอมแต่งงานกับเขาซึ่งมีหมายจับอยู่หลายคดี และต้องใช้ชีวิตอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ หรือไม่ ซึ่งนางรุสนีก็ตกลง จนใช้ชีวิตคู่กันมานานถึง 7 ปี ในช่วงแรก ๆ ของการแต่งงาน เธอกับมะรอโซตัดสินใจเดินทางไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ประเทศมาเลเซีย แต่อยู่ได้ไม่นานก็ต้องกลับมาที่บาเจาะ เพราะมีปัญหาเรื่องการทำงานหาเลี้ยงชีพ แน่นอนว่า นายมะรอโซ ก็ไม่สามารถกลับมาอยู่ที่บ้านเกิดได้ เพราะมีทหารตามล่าและบุกค้นบ้านตลอดระยะเวลา 7 ปี

         นางรุสนี บอกว่า เจ้าหน้าที่ที่มาค้นบ้านมักจะฝากเธอให้ไปบอกมะรอโซให้มามอบตัว ซึ่งเธอก็เคยถามสามีแล้วว่าจะมามอบตัวไหม แต่สามีตอบกลับมาว่า เขามีหมายจับจำนวนมาก หากไปมอบตัวก็คงไม่คุ้ม และคงไม่มีโอกาสได้ออกมา

         รุสนี กับ มะรอโซ มีพยานรักด้วยกัน 2 คน คือ ลูกสาวคนโตอายุ 6 ขวบ และลูกชายคนเล็กอายุ 17 เดือน ซึ่งมะรอโซจะกลับมาเยี่ยมลูกเดือนละ 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายที่กลับมาก่อนเกิดเหตุโจมตีฐานปฏิบัติการ กองร้อยปืนเล็กที่ 2 สังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 กองทัพเรือ ก็คือเมื่อกลางดึกของคืนวันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ แต่นั่นไม่ใช่การติดต่อสื่อสารกันครั้งสุดท้าย เพราะรุสนียังได้รับโทรศัพท์จากมะรอโซอีกครั้ง ในช่วงเวลาประมาณสามทุ่มของคืนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ หรือก่อนเกิดเหตุเพียงไม่กี่ชั่วโมง โดยมะรอโซบอกกับภรรยาว่า "คืนนี้มีงานนิดหน่อย และไม่แน่อาจจะกลับมาบ้าน"

         กระทั่งเช้าตรู่ในวันรุ่งขึ้น มีทหารโทรมาแจ้งนางรุสนีว่า มะรอโซเสียชีวิตแล้ว เธอจึงเดินทางไปรับศพที่โรงพยาบาล แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่อนุญาตให้นำศพกลับไป เพราะต้องรอให้ผู้ใหญ่ของเจ้าหน้าที่รัฐมาดูศพเสียก่อน จนเวลาประมาณ 11 โมง นางรุสนี จึงสามารถนำศพสามีกลับไปประกอบพิธีได้ ซึ่งพิธีฝังศพมะรอโซนั้น เป็นไปอย่างที่นายมะรอโซเคยกำชับกับภรรยาไว้ว่า ให้ทำพิธีฝังศพตามแบบฉบับของนักต่อสู้ คือจะไม่อาบน้ำศพ และไม่ละหมาดศพ ให้ฝังโดยทันที

ปากคำแม่-ภรรยา...มะรอโซ จันทราวดี จากเหยื่อตากใบ สู่แกนนำ RKK

         นั่นคือเส้นทางชีวิตของมะรอโซในฐานะผู้ก่อความไม่สงบที่ทางการต้องการตัว แต่หากถามนางรุสนีว่า จริง ๆ แล้วนิสัยใจคอของมะรอโซเป็นคนอย่างไร เธอบอกว่า มะรอโซเป็นคนขี้เกรงใจคน จะไม่ยอมไปหลบซ่อนตัวในบ้านชาวบ้านเด็ดขาด เพราะกลัวจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนไปด้วย เขาจะผูกเปลนอนในป่าเป็นส่วนใหญ่ และเป็นคนรักครอบครัว ตามใจลูกมาก อยากได้อะไรก็จะพยายามหามาให้ เขาเน้นย้ำให้ลูกเรียนเรื่องของศาสนาให้มาก ๆ และอยากให้ลูกทั้งสองคนมีการศึกษาและเรียนสูง ๆ เท่าที่จะเรียนได้

         ผู้เป็นภรรยา ยังบอกด้วยว่า เธอภูมิใจกับสามีมากที่ทำหน้าที่ดูแลครอบครัวได้ดีเสมอมา การที่สามีเธอต้องจบชีวิตลงเช่นนี้ เธอไม่รู้สึกเสียใจเลย เพราะภรรยาของนายสุไฮดี ตะเห ผู้เป็นเพื่อนสนิทของนายมะรอโซ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงตาย ก็ไม่เสียใจ

         อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามนางรุสนีว่า ที่นายมะรอโซทำไปนั้นเพื่ออะไรกันแน่? นางรุสนี บอกแค่เพียงว่า "ก็รู้ ๆ กันอยู่แล้วว่าทำเพื่ออะไร"...


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
pataniforum.com



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปากคำแม่-ภรรยา...มะรอโซ จันทราวดี จากเหยื่อตากใบ สู่แกนนำ RKK โพสต์เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 16:47:05 14,515 อ่าน
TOP