ภาพจาก Supermop / Shutterstock.com
ประวัติวันที่ระลึกกองทัพอากาศ
กิจการบินของไทย เริ่มต้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวได้มีชาวต่างชาตินำเครื่องบินมาบินแสดงให้ชาวไทยได้ชมเป็นครั้งแรก ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454 เมื่อเห็นเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีเครื่องบินไว้เพื่อป้องกันภัยการคุกคามที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น กระทรวงกลาโหม จึงตั้ง "แผนการบิน" ขึ้นมาในกองทัพบก พร้อมทั้งได้คัดเลือกนายทหารบก 3 นาย ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสม ไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส ได้แก่
ภาพจาก : กองทัพอากาศ
1. นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป) ต่อมาเป็น พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ
2. นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร (หลง สินศุข) ต่อมาเป็น นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์
3. นายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต ต่อมาเป็น นาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต
และทั้ง 3 นายได้รับการยกย่องจากกองทัพอากาศให้เป็น "บุพการีของกองทัพอากาศ"
ทั้งนี้ ในขณะที่ทั้ง 3 นายได้เข้าเรียนที่บริษัท นีเออร์ปอร์ต (Nieuport Company) ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2454 นั้น ทางราชการก็ได้ซื้อเครื่องบินเป็นครั้งแรก จำนวน 8 ลำ โดยระยะแรกได้ใช้สนามม้าสระปทุม (ราชกรีฑาสโมสร) เป็นสนามบิน แต่ด้วยปัญหาบางประการทำให้สนามม้าสระปทุมไม่สามารถรองรับกิจการการบินที่เติบโตขึ้นได้ จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงย้ายที่ตั้งแผนกการบินมาที่ตำบลดอนเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2457 และทรงยกฐานะแผนกการบินเป็น "กองบินทหารบก" ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2457 ดังนั้น กระทรวงกลาโหม จึงยึดถือวันนี้เป็น "วันที่ระลึกกองทัพอากาศ"
ต่อมา ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2480 กรมทหารอากาศได้ยกฐานะเป็น "กองทัพอากาศ" มีนาวาอากาศเอก พระเวชยันตรังสฤษฏ์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศคนแรกกองทัพอากาศ จึงได้ถือเอาวันที่ 9 เมษายน ของทุกปี เป็น "วันกองทัพอากาศ" อีกหนึ่งวันสำคัญของกองทัพอากาศ
นอกจากนี้ยังได้มีการยกย่องถวายพระเกียรติ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ว่าเป็น "พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย" ด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง, กองทัพอากาศ
ขอบคุณภาพจาก : กองทัพอากาศ