ครม. หนุน กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจ - นักวิจัยชี้ มีประโยชน์มหาศาล


กัญชง
กัญชง

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก วิกิพีเดีย

            นักวิจัยแสดงความยินดี หลัง ครม. หันมาพิจารณา กัญชง ในแง่ของพืชเศรษฐกิจ พร้อมแนะแยกแยะใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม มากกว่าระบุเป็นยาเสพติด เพราะมีฤทธิ์ต่ำมากและควบคุมได้

            เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา รศ.อาคม กาญจนประโชติ คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้ประสานงานฝ่ายพืชไร่ สถาบันพัฒนาพื้นที่สูงกล่าวภายหลังทราบว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับกรอบแนวทางการพิจารณาเพื่อการควบคุมและส่งเสริมการปลูกพืชกัญชง (เฮมพ์) เป็นพืชเศรษฐกิจ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เมื่อ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า ในฐานะนักวิจัยมีความยินดีมากที่ ครม. เห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ของพืชกัญชง จากในอดีตที่กัญชงถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษก่อน

            ทั้งนี้ ในต่างประเทศมีการพัฒนาพืชกัญชงกันอย่างกว้างขวาง เพราะเปลือกเป็นไฟเบอร์ ลำต้น เมล็ด สามารถสกัดนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย ทั้งน้ำมันและโดยเฉพาะเส้นใยที่นำมาทำเครื่องนุ่งห่ม วัสดุบอร์ด อุตสาหกรรมหนัก วัสดุทดแทนไม้เนื้อแข็ง แต่ที่ผ่านมาไทยมีความเป็นห่วงเรื่องสารเสพติดที่มีอยู่ในตัวพืชกัญชง แต่จากการวิจัยมายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ทำให้ทราบว่า พืชกัญชงมีสารเสพติดในปริมาณที่ต่ำมากและควบคุมได้ ดังนั้นจึงควรวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชกัญชง เพื่อเพิ่มผลผลิต คุณภาพ และแปรรูปมากขึ้น

            รศ.อาคม กล่าวอีกว่า กัญชงปลูกได้ดีในพื้นที่เขตร้อน หากมีระบบชลประทานก็สามารถปลูกได้ทั้งปี ต่างจากยุโรปและเขตหนาวที่ปลูกได้เพียงปีละครั้ง แต่ปัจจุบันไทยยังปลูกไม่ได้ เพราะต้องมีใบอนุญาต ดังนั้นขณะนี้จึงทำได้เฉพาะการวิจัยที่ต้องแจ้งพิกัดพื้นที่ปลูก แต่ในแง่ของพืชภูมิปัญญาของชาวไทยบนพื้นที่สูง โดยเฉพาะม้งพบว่าจะมีการปลูกเพื่อใช้ตามวัฒนธรรมพื้นถิ่นตั้งแต่เกิดจนตาย และบางพื้นที่ในกองทัพภาคที่ 3 ด้านอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ต่อไปหากมีการอนุญาตควรได้รับการส่งเสริมเพื่อทำเป็นอุตสาหกรรมสร้างรายได้ของเกษตรกร

            อย่างไรก็ตาม อยากฝากคณะกรรมการยกร่างปรับปรุง พ.ร.บ. ว่า ควรยกเว้นพืชกัญชงในแง่ของสารเสพติด หรือควบคุมพื้นที่แปลงปลูก หากมีการนำมาทำเสื้อผ้า หรือเครื่องนุ่งห่ม แต่ในแง่ของเมล็ดพันธุ์ควรมีใบอนุญาตและควบคุมไว้ เพื่อป้องกันการนำไปผลิตในทางที่ผิด ความจริงกัญชงแตกต่างจากกัญชาที่ไม่มีกลิ่นหอม ใบเรียวเล็กกว่า สัมผัสด้วยมือก็จะทราบได้ ยางไม่เหนียว และแปลงปลูกจะถี่กว่า คือ 1 ตารางเมตรปลูกได้ 300-400 ต้น และไม่มีปล้องมาก เพราะใช้เส้นใยในการนำไปทำประโยชน์ ที่สำคัญสารเสพติดต่ำกว่า ขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาว ได้นำไปปลูกจนเกือบเต็มประเทศ โดยนำองค์ความรู้ที่เราวิจัยไว้ไปพัฒนาต่อยอดโดยไม่ต้องลงทุน เพราะเขาไม่กำหนดให้เป็นพืชเสพติดแบบไทย

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ครม. หนุน กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจ - นักวิจัยชี้ มีประโยชน์มหาศาล โพสต์เมื่อ 9 พฤษภาคม 2556 เวลา 14:15:21 16,487 อ่าน
TOP
x close