วิธีเซ็นสำเนาถูกต้อง เซ็นรับรองอย่างไร ปลอดภัยชัวร์ !


          การเซ็นสำเนาถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน เอกสารต่าง ๆ เพื่อใช้ติดต่อธุรกรรมทางการเงิน สมัครเรียน สมัครงาน เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษาไว้ มาดูวิธีขีดคร่อมบัตรประชาชนให้ปลอดภัย ป้องกันภัยจากมิจฉาชีพกันเถอะ !

วิธีเซ็นบัตรประชาชน

          ในปัจจุบัน การทำธุรกรรม หรือยืนยันสิทธิบางอย่าง ยังคงต้องใช้สำเนาเอกสาร เพื่อเป็นหลักฐานในการยืนยันตัวตน ซึ่งถ้าหากไม่ระมัดระวังให้ดี เอกสารสำเนาเหล่านี้อาจถูกผู้ไม่หวังดีนำไปปลอมแปลง และก่อให้เกิดความเสียหายแก่เราได้

          โดยเฉพาะสำเนาบัตรประชาชนที่มีข้อมูลส่วนบุคคลสำคัญ ทั้งชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ และหมายเลขคำขอ (เลขใต้รูปถ่าย) ซึ่งเสี่ยงถูกมิจฉาชีพนำไปปลอมแปลงเอกสารได้บ่อยที่สุด เราจึงจำเป็นต้องเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องอย่างถูกวิธี ดังนั้นวันนี้ เราจึงนำข้อมูลวิธีการเซ็นรับรองสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน วิธีขีดคร่อมบัตรประชาชน จากกรมการปกครอง มาฝากกันค่ะ


วิธีเซ็นสำเนาถูกต้อง วิธีขีดคร่อมบัตรประชาชน



1. ขีด 2 เส้นคู่ขนานคร่อมที่ตัวสำเนา


           โดยขัดคร่อมจากมุมล่างซ้ายไปมุมบนขวา

2. เขียนข้อความกำกับวัตถุประสงค์ ระหว่างเส้นคร่อมสำเนา


           โดยระบุรายละเอียดให้ชัดเจนว่าใช้สำเนานี้ทำอะไร

           ► ขึ้นต้นว่า "เพื่อใช้..." และลงท้ายประโยคด้วยคำว่า "...เท่านั้น" 
           ► พร้อมเขียนเครื่องหมาย "#" ปิดหัวท้ายของข้อความ เพื่อป้องกันการเติมข้อความภายหลัง
          
ยกตัวอย่างเช่น 

#เพื่อใช้สมัครงาน...(ชื่อบริษัท)...เท่านั้น#

หรือ 

#เพื่อใช้สำหรับติดต่อเรื่อง...(ระบุรายละเอียด)...เท่านั้น#"

3. เขียน วัน เดือน ปี ที่เซ็นสำเนากำกับเอกสาร


          นอกจากการเขียนรายละเอียดกำกับการใช้แล้ว ควรเขียนระบุ วัน เดือน ปี กำกับสำเนาด้วยทุกครั้ง เพื่อใช้ยืนยันวันที่ใช้งาน และยังเป็นการระบุกำหนดอายุการใช้งานเอกสารสำเนานี้อีกด้วย


4. รับรองสำเนาถูกต้อง


          โดยเขียนว่า "สำเนาถูกต้อง" พร้อมลงลายมือชื่อ คาดทับรูปถ่าย เพื่อป้องกันการเปลี่ยนรูปถ่าย


เซ็นสำเนาบัตรประชาชน ใช้ปากกาสีอะไร



           ควรใช้ปากกาหมึกสีดำลงลายมือชื่อในสำเนา เพราะเครื่องถ่ายเอกสารบางชนิดสามารถถ่ายเอกสารโดยดึงหมึกสีน้ำเงินออกให้เหลือแต่ข้อมูลบัตรประชาชนบนหน้าสำเนาได้

สำเนาบัตรประชาชน ถ่ายกี่ด้าน


           ให้ถ่ายสำเนาด้านหน้าบัตรที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลเพียงด้านเดียวเท่านั้น (ไม่ต้องถ่ายหลังบัตร) เพราะเสี่ยงต่อการถูกสวมรอยได้ เนื่องจากด้านหลังบัตรประชาชนจะมี Laser ID ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการใช้ทำธุรกรรม ตรวจสอบ และยืนยันตัวตน

วิธีเซ็นสำเนาถูกต้อง

คำแนะนำอื่น ๆ เพิ่มเติม


          อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงข้อแนะนำจากกรมการปกครอง เพื่อความปลอดภัยในการใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร แต่ในข้อปฏิบัติจริง หน่วยงานรัฐ และเอกชนบางแห่ง อาจมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

          - ข้อกำหนดในการใช้สีปากกา บางแห่งอาจระบุให้ใช้ปากกาสีดำเท่านั้น หรือใช้ปากกาสีน้ำเงินเท่านั้น หรืออาจไม่ได้กำหนดสีของปากกาเป็นพิเศษ

          - การขีดเส้นคร่อม หรือตำแหน่งการเซ็นลายมือบนหน้าบัตร บางองค์กร หรือบางหน่วยงาน อาจให้เซ็นข้อมูลไว้มุมขวาล่างแทนการเซ็นคร่อมทับสำเนา เนื่องจากอาจบดบังข้อมูลบนเอกสาร เป็นต้น


          ดังนั้น ก่อนที่จะเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องควรสอบถามเจ้าหน้าที่ หรือตรวจสอบข้อปฏิบัติภายในแต่ละหน่วยงานทุกครั้ง

วิธีเซ็นชื่อรับรองสำเนาเอกสารประเภทอื่น ๆ


วิธีเซ็นสำเนาถูกต้อง

          สำหรับการเซ็นรับรองสำเนาเอกสารประเภทอื่น ๆ จะมีหลักการคล้ายกับบัตรประชาชนเช่นกัน (อาจมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่ละหน่วยงาน) ซึ่งควรจะระบุวัตถุประสงค์และรายละเอียดตามการใช้งาน เช่น…

การเซ็นสำเนาถูกต้องเพื่อใช้ทำ "ธุรกรรมทางการเงินกับธนาคาร"


          เช่น สมัครบัตรเครดิต เปิดบัญชีธนาคาร ขอรายการเดินบัญชี (Statement) จัดไฟแนนซ์ ควรระบุวัตถุประสงค์ รายละเอียด ชื่อประเภทบัญชี หรือโครงการที่ต้องการสมัครให้ชัดเจน เช่น

           ► #เพื่อใช้เปิดบัญชี...(ชื่อประเภทบัญชี)...กับธนาคาร...(ชื่อธนาคาร)...เท่านั้น#
           ► #เพื่อใช้สมัครบัตร...(ชื่อบัตรเครดิต/บัตรเดบิต)...กับธนาคาร...(ชื่อธนาคาร)...เท่านั้น#
           ► #เพื่อใช้ขอสินเชื่อ...(ชื่อโครงการสินเชื่อ)....กับทางธนาคาร...(ชื่อธนาคาร)...เท่านั้น#

การเซ็นสำเนาถูกต้องเพื่อใช้ "สมัครงาน"


          ส่วนมากจะใช้สำเนาบัตรประชาชน สำเนาใบแสดงผลการศึกษา (Transcript) และสำเนาใบรับรองวุฒิการศึกษา ควรระบุวัตถุประสงค์ รายละเอียดตำแหน่ง และชื่อบริษัทให้ชัดเจน เช่น

           ► #เพื่อใช้ในการสมัครงานตำแหน่ง...(ชื่อตำแหน่งงาน)...ที่บริษัท...(ชื่อบริษัท)...เท่านั้น#

การเซ็นสำเนาถูกต้องเพื่อใช้ "สมัครเรียน"


          เอกสารที่มักใช้ก็อย่างเช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาสูติบัตร สำเนาใบแสดงผลการศึกษา (Transcript) หรือสำเนาใบรับรองวุฒิการศึกษา เป็นต้น โดยควรระบุวัตถุประสงค์ รายละเอียดโครงการที่สมัคร ชื่อสถาบัน ชื่อคณะ หรือสาขาวิชาให้ชัดเจน เช่น

           ► #เพื่อใช้ในการสมัคร...(ชื่อโครงการที่สมัคร)...ที่...(ชื่อมหาวิทยาลัย)...เท่านั้น#
           ► #เพื่อใช้สมัครเรียน...(ชื่อคณะ หรือสาขาวิชา)...ที่...(ชื่อมหาวิทยาลัย)...เท่านั้น#

การเซ็นสำเนาถูกต้องเพื่อใช้ "ติดต่อราชการ"


          ไม่ว่าจะเป็นการใช้สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาสูติบัตร สำเนาโฉนดที่ดิน สำเนาพาสปอร์ต ฯลฯ ควรระบุวัตถุประสงค์ รายละเอียดให้ชัดเจน เช่น

           ► #เพื่อใช้...(ระบุวัตถุประสงค์)...เท่านั้น#

          นอกจากนี้ การเซ็นชื่อรับรองสำเนาเอกสารต่อหน้าเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานที่เราติดต่อเพื่อทำธุรกรรม ย่อมปลอดภัยกว่าการเซ็นชื่อรับรองสำเนาเอกสารแล้วส่งทางไปรษณีย์ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่เอกสารดังกล่าวอาจตกหล่นสูญหาย หรืออาจถูกมิจฉาชีพนำไปดัดแปลงแก้ไขจนสร้างความเดือดร้อนให้โดยไม่รู้ตัว

          แต่ทั้งนี้ ถ้าจำเป็นจะต้องยื่นเอกสารสำคัญเพื่อติดต่อธุรกรรมต่าง ๆ ก็อย่าลืมนำวิธีดังกล่าวไปใช้กันนะคะ



ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการปกครอง, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ธนาคารกรุงไทย


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีเซ็นสำเนาถูกต้อง เซ็นรับรองอย่างไร ปลอดภัยชัวร์ ! อัปเดตล่าสุด 29 พฤษภาคม 2567 เวลา 15:03:29 465,785 อ่าน
TOP
x close