กีฬาว่ายน้ำ เป็นกีฬาค่อนข้างได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปรเทศไทย เนื่องจากอากาศร้อน ๆ จึงทำให้กีฬาชนิดนี้ตอบโจทย์กับสภาพอากาศได้เป็นอย่างดี
หากใครก็ตามที่ได้ติดตามมหกรรมกีฬาระดับชาติอย่างเอเชียน เกมส์ หรือโอลิมปิก เกมส์ อย่างเข้มข้น ย่อมต้องรู้กันดีว่า มีกีฬาอยู่ 2 ชนิด แม้ว่าจะไม่ได้เป็นกีฬายอดนิยม เป็นกีฬาพื้น ๆ ที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรมาก แต่กลับเป็นกีฬาที่มีการชิงเหรียญทองมากที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 นั่นคือ... กรีฑา กับ ว่ายน้ำ
และด้วยความที่กีฬา 2 ชนิดนี้ มีลักษณะการเล่นที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ หรือเรียกได้ว่า เป็นกิจกรรมยามปกติของมนุษย์ ทำให้หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยได้ว่า กิจกรรมปกติแบบนี้ นำมาแข่งเป็นกีฬาได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ ในวันนี้ กระปุกดอทคอม จะมาไขข้อสงสัยนี้กัน โดยกระทู้นี้จะขอนำเสนอเกี่ยวกับประวัติกีฬาว่ายน้ำ (Swimming) กัน
ประวัติกีฬาว่ายน้ำ
ประวัติกีฬาว่ายน้ำ เริ่มมีการแข่งขันครั้งแรก พ.ศ. 2416 (ค.ศ. 1873) ที่วูลิช บาร์ท ใกล้กับกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยกติกาการแข่งขันจะว่ายแบบใดก็ได้ ขอให้ถึงเส้นชัยเป็นพอ และหลังจากการแข่งขันครั้งนี้จบลง ประชาชนก็สนใจกีฬาว่ายน้ำมากขึ้น จนถูกบรรจุในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) จวบจนทุกวันนี้
สำหรับกีฬาว่ายน้ำในประเทศไทย มีการจดทะเบียนสมาคมว่ายน้ำสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ต่อกรมตำรวจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2502 โดยมี พล.ร.ท.สวัสดิ์ ภูติอนันต์ เป็นนายกสมาคมฯ คนแรก ก่อนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของสหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ ปี 2504
อย่างไรก็ตาม ปี 2548 สมาคมว่ายน้ำสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมว่ายน้ำแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนกีฬาทางน้ำหลายชนิดทั้งว่ายน้ำ, กระโดดน้ำ, โปโลน้ำ และระบำใต้น้ำ
ส่วนการแข่งขันกีฬาว่ายน้ำในปัจจุบัน มีการแข่งขันกันหลากหลายประเภท แยกประเภทการแข่งขันจากท่าการว่าย, ระยะทาง, การว่ายคนเดียวหรือการว่ายเป็นทีม (ว่ายผลัด) ด้วยเหตุนี้เอง จึงสามารถกระจายการชิงเหรียญทองในการแข่งขันไปได้มาก อย่างโอลิมปิก 2012 ครั้งล่าสุด มีการชิงเหรียญทองกันถึง 34 เหรียญกันเลยทีเดียว
สำหรับท่าการว่ายในการแข่งขันว่ายน้ำ มีอยู่ 4 ท่าด้วยกัน ได้แก่
- ท่าฟรีสไตล์ เป็นท่าว่ายอย่างไรก็ได้ ขอให้ต่างจากท่าผีเสื้อ ท่ากบ และท่ากรรเชียง ซึ่งส่วนมากที่เห็นกันคือ การสาวมือว่ายสลับกันไปมาซ้ายขวา
- ท่าผีเสื้อ เป็นการว่ายแบบคว่ำหน้า มือทั้งสองข้างจะต้องยกเหนือน้ำพร้อมกัน
- ท่ากบ เป็นท่าว่ายแบบคว่ำหน้า มือทั้งสองข้างต้องพุ้งไปข้างหน้าพร้อมกัน ส่วนข้อศอกอยู่ใต้ผิวน้ำ พร้อมกับเตะเท้าไปด้านหลังด้วย ถือว่าเป็นท่าที่ว่ายได้ช้าที่สุด
- ท่ากรรเชียง เป็นท่าว่ายแบบนอนหงาย มือสองข้างสลับกันสาวน้ำ เพื่อให้เคลื่อนตัวไปข้างหน้า
ขนาดสระว่ายน้ำ
กว้าง 25 เมตร ยาว 50 เมตร มีลู่สำหรับการว่ายทั้งหมด 8 ลู่ แต่ละลู่กว้างประมาณ 7-9 ฟุต
กติกากีฬาว่ายน้ำ
กติกากีฬาว่ายน้ำ จะกำหนดเสียก่อนว่า การแข่งขันแบบนี้จะว่ายด้วยท่าอะไร และมีระยะทางเท่าใด ซึ่งผู้เข้าแข่งขันก็จะต้องว่ายตามที่กำหนดไว้ ใครเข้าเส้นชัยได้เป็นคนแรกจะเป็นผู้ชนะ เช่น การแข่งขันฟรีสไตล์ 100 เมตร ผู้เข้าแข่งขันจะต้องว่ายด้วยท่าฟรีสไตล์ ในระยะทาง 100 เมตร แต่ว่า ระยะทางที่ยาวที่สุดของสระว่ายน้ำ คือ 50 เมตร ฉะนั้น ผู้แข่งขันจึงต้องว่ายกลับตัว 1 ครั้ง เป็นการว่ายไปกลับ 1 รอบ จึงจะได้ระยะทาง 100 เมตร
เรื่องการปล่อยตัวก่อนการว่าย กรรมการจะเป่าเสียงนกหวีดยาว เพื่อให้นักว่ายน้ำขึ้นบนแท่นกระโดด ต่อมาเมื่อกรรมการจะบอกว่า "เข้าที่" ผู้แข่งขันจึงก้าวไปยืนที่ปลายแท่นกระโดด รอกรรมการให้สัญญาณปล่อยตัวเป็นเสียงปืน ออด หรือนกหวีด จึงสามารถปล่อยตัวได้ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในท่าว่ายกรรเชียงกับท่าผลัดผสม จะไม่ปล่อยตัวจากแท่น แต่จะปล่อยตัวจากสระว่ายน้ำแทน
สำหรับการว่ายผลัด ผู้แข่งขันกระโดดลงสระหลังจากที่เพื่อนร่วมทีมจะว่ายแตะขอบสระไปแล้วเท่านั้น หากเพื่อนร่วมทีมยังไม่แตะขอบสระ แล้วกระโดดลงไป จะถูกปรับแพ้ทันที
ประโยชน์ของกีฬาว่ายน้ำ
- ช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรง กล่าวคือ การว่ายน้ำก็เปรียบเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง ทำให้สุขภาพแข็งแรง มีโอกาสเจ็บป่วยยากขึ้น
- ช่วยรักษาความปลอดภัยของชีวิต กล่าวคือ กีฬาว่ายน้ำสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย เช่น ช่วยเหลือคนที่จมน้ำ หรือช่วยเหลือตัวเองในขณะที่ตกน้ำ เป็นต้น
- ทำให้รู้สึกสดชื่น-คลายเครียด กล่าวคือ การว่ายน้ำเป็นกีฬาที่อยู่กับน้ำทั้งร่างกาย จะช่วยให้ร่างกายมีความสดชื่น ส่งผลให้คลายเครียดจากปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้
แม้ว่ากีฬาว่ายน้ำจะไม่ได้เป็นกีฬาแบบเผชิญหน้าเหมือนกีฬาชนิดอื่น แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันนั่นก็คือ ความตื่นเต้นเร้าใจในการแข่งขัน ไม่แพ้กีฬาชนิดอื่นอย่างแน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- tasa.in.th