เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ย้อนรอยเทคโนโลยีด้านการสื่อสารของโลก นับตั้งแต่จิตรกรรมบนผนังถ้ำในยุคหิน จนถึงการสื่อสารสุดล้ำ ฉับไวที่เชื่อมโลกทั้งใบถึงกันในปัจจุบัน
มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมที่อยู่ร่วมกันและมีการสื่อสารกันตลอดเวลา และด้วยความชาญฉลาดของมนุษย์ในการถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์ในด้านความเชื่อทางศาสนา การบันทึกเรื่องราว หรือแม้แต่การส่งสาร เหล่านี้เองที่ก่อให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีใน การสื่อสารใหม่ ๆ ที่ค่อย ๆ เชื่อมโลก จากกลุ่มคนเล็ก ๆ สู่คนในอีกฟากโลกหนึ่ง และเชื่อมต่อกันได้ทั้งโลก ก่อให้เกิดกระวนการศึกษาเรียนรู้ต่าง ๆ ตามมา
สำหรับการสื่อสารที่ผ่านมาของโลกในแต่ละยุคจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมก็ขอนำเสนอข้อมูลจาก moo.com มาฝากกันจ้า
1. จิตรกรรมบนผนังถ้ำ (Cave Painting) พบตามบริเวณแถบตอนใต้ของฝรั่งเศส ยุค 30,000 ปีก่อนคริสตศักราช มักจะวาดเป็นรูปสัตว์หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ โดยมีรูปคนผสมอยู่บางภาพ โดยเรื่องราวของภาพส่วนมากเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ การดำรงชีวิต การล่าสัตว์ ตามความเชื่อเรื่องอภินิหารต่าง ๆ โดยสันนิษฐานว่าผู้วาดน่าจะเป็นหัวหน้าหมู่บ้านหรือพ่อมดหมอผี
2. สัญลักษณ์แทนคำ (Pictograms) พบได้ในประเทศจีนและอียิปต์โบราณ ยุค 5,000 ปี ก่อนคริสตศักราช โดยเป็นการวาดรูปภาพที่หรือสัญลักษณ์ที่สื่อถึงแนวคิด วัตถุ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่การเกิดอักษรภาพไฮโรกลิฟ (Hieroglyphics) ของอียิปต์ และตัวอักษรจีนนั่นเอง
3. พิราบส่งสาร (Carrier Pigeons) หรือที่เรียกกันว่า ไปรษณีย์นกพิราบ พบได้ในอาณาจักรกรีกโบราณ ในยุค 776 ปี ก่อนคริสตศักราช โดยการนำข้อความมาผูกติดไปกับนกพิราบเพื่อให้บินส่งข้อความนี้ไปยังจุดหมาย
4. ระบบไปรษณีย์ครั้งแรกของโลก (First Postal Service) ถูกวางระบบขึ้นโดยพระเจ้าไซรัสมหาราช แห่งเปอร์เซีย เมื่อ 550 ปี ก่อนคริสตศักราช เพื่อนำมาใช้ในจักรวรรดิอาคีเมนิดของพระองค์
5. กำเนิดมาราธอน (The Marathon Man) ย้อนกลับไปเมื่อ 530 ปี ก่อนคริสตศักราช ในยุคของอาณาจักรกรีกโบราณ ทหารกรีกโบราณนาม ฟิดิปปิเดซ (Pheidippides) ได้ออกวิ่งเป็นระยะทางถึง 150 ไมล์ ภายใน 2 วัน โดยไม่ได้หยุดพักผ่อน เพื่อแจ้งข่าวชัยชนะของเอเธนส์ที่มีเหนือกองทัพเปอร์เชีย และส่งสารสงครามแห่งมาราธอน (Battle of Marathon) ไปยังกรุงเอเธนส์
6. เฮลิโอกราฟ (Heliographs) หรือการส่งสัญญาณด้วยกระจกสะท้อนแสง อาทิตย์ พบได้ในจักรวรรดิโรมัน เมื่อ ค.ศ. 37 (พ.ศ. 580) โดย จักรพรรดิไทบีเรียส หรือ ไทบีเรียส จูเลียส ซีซาร์ ออกัสตัส แห่งจักรวรรดิโรมัน ได้ส่งสารด้วยวิธีนี้จากเกาะคาปรี (Capri) ไปยังแผ่นดินใหญ่ เพื่อออกคำสั่งในแต่ละวัน
7. กระดาษ (Paper) ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นครั้งแรกในโลกที่ประเทศจีน เมื่อ ค.ศ. 105 (พ.ศ. 648) โดย ไช่หลุน ปราชญ์เมธีสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก โดยการนำเปลือกของต้นไม้, ป่าน, เศษผ้า และตาข่ายดักปลา มาบดผสมกันจนป่น แล้วนำมาตากแห้งจนกลายมาเป็นแผ่น ๆ และกระดาษก็ได้กลายมาเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นสำคัญของโลก ที่จะเป็นต้นกำเนิดของวิทยาการต่าง ๆ ของโลกในเวลาต่อมา
8. คนป่าวประกาศราษฎร (Town Crier/Bellman) เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ เมื่อ ค.ศ. 1540 (พ.ศ. 2083) เป็นเจ้าหน้าที่ของศาลซึ่งทำหน้าที่ป่าวประกาศคำแถลงการณ์ที่บังคับใช้โดยศาลต่อสาธารณะ โดยคนป่าวประกาศราษฎรมักจะแต่งกายด้วยชุดเสื้อคลุมสีแดงและทอง สวมกางเกงสีเขียว รองเท้าบูทสีดำ และสวมหมวกสักหลาด มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18พร้อมสั่นระฆังเพื่อดึงดูดความสนใจจากประชาชนให้มาฟังคำแถลงการณ์นั้น
9. หนังสือพิมพ์รายวัน (Daily Newspaper) หนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกนั้นเกิดขึ้นในเยอรมนี คือ Einkommende Zeitung ออกในปี ค.ศ. 1650 (พ.ศ. 2193) และต่อมาในยุโรปก็ได้กำเนิดหนังสือพิมพ์รายวัน The Daily Courant ตามมา
10. รหัสมอร์ส (Morse Code) ถือกำเนิดขึ้นเพื่อใช้สำหรับส่งข้อความทางการทหารของสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ.1835 (พ.ศ. 2378) ด้วยการประดิษฐ์ของ ซามูเอล ฟินเลย์ บรีส มอร์ส ชาวอเมริกัน โดยรหัสมอร์สนั้นจะถูกกำหนดขึ้นด้วยการใช้รูปแบบสัญลักษณ์สั้นและยาวที่กำหนดขึ้นเป็นมาตรฐาน เพื่อแทนตัวอักษรที่นำมาผสมรวมกันเป็นข้อความ
11. โทรศัพท์ (Telephone) ถือกำเนิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1876 (พ.ศ. 2419) อเล็กซานเดอร์ เกร์แฮม เบลล์ วิศวกรชาวสก็อต โดยอาศัยหลังการแปลงคลื่นสัญญานเสียงเป็นไฟฟ้า และส่งต่อสัญญาณไปตามสายไฟฟ้า จากโทรศัพท์เครื่องหนึ่งไปสู่ปากกระบอกของโทรศัพท์อีกเครื่องหนึ่ง
12. กำเนิดเครื่องรับส่งวิทยุโทรเลข (First Transatlantic Signal) หลังจากที่ กูลเยลโม มาร์โคนี นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลี ได้ประดิษฐ์เครื่องรับส่งวิทยุโทรเลขเครื่องแรกของโลกขึ้น จนสร้างความตื่นตะลึงให้กับคนทั้งโลกมาแล้วด้วยระบบการส่งสัญญาณไร้สาย และได้ถูกนำไปใช้ในกิจการเดินเรือในฐานะเครื่องมือสื่อสารที่สะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในยุคนั้น ต่อมาเขาก็สามารถพัฒนาเครื่องส่งสัญญาณวิทยุโทรเลขให้สามารถส่งสัญญาณข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก จากคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ ถึง เกาะนิวฟันด์แลนด์ ประเทศแคนาดา ได้สำเร็จใน ค.ศ.1902 (พ.ศ. 2445)
13. การแพร่ภาพโทรทัศน์ครั้งแรกของโลก (First TV Broadcast) เมื่อราว ค.ศ. 1927 (พ.ศ. 2470) ในสก็อตแลนด์ จอห์น โลจี เบร์ด วิศวกรชาวสกอตแลนด์ สามารถประดิษฐ์ระบบโทรทัศน์ได้สำเร็จเป็นคนแรกของโลก ในช่วงเวลาเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์จากชาติอื่น ๆ ก็อยู่ในระหว่างทดลองและประดิษฐ์การรับส่งสัญญาณภาพของโทรทัศน์เช่นกัน และนั่นเป็นผลให้ จอห์น โลจี เบร์ด ได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งโทรทัศน์
14. เริ่มปล่อยสัญญาณ ARPANET (ARPANET Launched) เครือข่าย ARPANET (Advanced Research Projects Agency NETwork) เป็นเครือข่ายสำนักงานโครงการวิจัยชั้นสูงของกระทรวงกลาโหม ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) เพื่อจุดประสงค์ทางด้านการวิจัยขั้นสูง ที่ต้องการให้คอมพิวเตอร์สามารถเชื่อมต่อ และมีปฏิสัมพันธ์กันได้ และต่อมาเครือข่าย ARPANET ก็ได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน
15. เวิล์ด ไวด์ เว็บ (WWW/World Wide Web) เครื่องข่ายข่าวสารที่เชื่อมโลกถึงกันนี้ กำเนิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) หลังจากที่รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาและปล่อยระบบควบคุมอินเทอร์เน็ตออกมา เวิล์ด ไวด์ เว็บ จึงเกิดขึ้น นำมาซึ่งการส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน
16. AIM Messenger หรือ American Online Instant Messenger ถือกำเนิดในสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) เป็นโปรแกรมแชทยอดนิยมในสหรัฐอเมริกาที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสื่อสารกันผ่านอินเทอร์เน็ตได้ด้วยการส่งข้อความ รูปภาพ และคลิปวิดีโอถึงกัน
17. บล็อก (Blogging) นับตั้งแต่ Blogger.com ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) ความนิยมในการเขียนบล็อกก็เพิ่มขึ้นและกระจายไปทั่วทั้งโลก โดยบล็อกนั้นเป็นรูปแบบเว็บไซต์ประเภทหนึ่ง ซึ่งถูกเขียนขึ้นในลำดับที่เรียงตามเวลาในการเขียน ซึ่งจะแสดงข้อมูลที่เขียนล่าสุดไว้แรกสุด โดยเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ามาชมเนื้อหาและร่วมแสดงความคิดเห็นภายในบล็อกได้
18. เฟซบุ๊ก (Facebook) เป็นบริการเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด โดยในทุกวันนี้มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กถึงประมาณ 850 ล้านคนทั่วโลก ก่อตั้งขึ้นโดย มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ในสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) ร่วมกับเพื่อน ๆ คือ เอ็ดวาร์โด ซาเวริน, ดิสติน มอสโควิตซ์ และคริส ฮิวส์ โดยในช่วงแรกเฟซบุ๊กได้เปิดให้ใช้งานเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ก่อนที่ต่อมาจะได้ขยายตัวออกไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา และขยายมาให้บริการแก่ผู้ใช้ทั่วไปทุกคนเหมือนในปัจจุบัน
19. ยูทูบ (YouTube) เป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการอัพโหลดและและเปลี่ยนคลิปวิดีโอ โดยผู้ใช้ ถือกำเนิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา จากความร่วมมือในการก่อตั้งของ แชด เฮอร์ลีย์, สตีฟ เชง และ ยาวีด คาริม อดีตพนักงานบริษัทเพย์พาล เมื่อ ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของกูเกิล
20. ทวิตเตอร์ (Twitter) ก่อตั้งเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 เปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2549 มีบริษัท Obvious Corp ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าของ แต่ผู้ที่พัฒนาทวิตเตอร์ขึ้นมาคือ Evan Williams และ Meg Hourihan ja