
ตกเป็นประเด็นที่สังคมต่างกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่อัยการและดีเอสไอ ได้คุมตัวอดีตพระวิรพล ฉัตติโก หรือ อดีตหลวงปู่เณรคำ แห่งที่พักสงฆ์ขันติธรรม ในตำบลยาง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ กลับมาจากสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อช่วงดึกของวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 หลังตกเป็นผู้ต้องหาคดีพรากผู้เยาว์, กระทำชำเราเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, ฉ้อโกงประชาชน และฟอกเงิน ด้วยเหตุนี้ทำให้สื่อมวลชนต่างขนานนาม "เณรคำ" ใหม่ว่า "สมีคำ"
โดยในขณะนี้ สมีคำ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ดีเอสไอคุมตัวส่งให้พนักงานอัยการเตรียมฝากขังที่ศาลอาญา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ระบุความหมายของคำว่า สมี ดังนี้
(๑) [สะหฺมี] น. คำเรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิก
(๒) (โบ) น. คำใช้เรียกพระภิกษุ
ขณะที่ พจนานุกรม อ.เปลื้อง ณ นคร ได้ระบุความหมายของคำว่า สมี ดังนี้
สมี [สะ-หฺมี] น. คำเรียกคนถูกไล่สึกจากพระ เพราะต้องอาบัติปาราชิก บุคคลที่เป็นสมีจะบวชอีกไม่ได้ตลอดชีวิต

สำหรับรายละเอียดของการอาบัติปาราชิกนั้น ได้มีบัญญัติไว้ว่า เมื่อพระภิกษุอาบัติปาราชิกแล้ว ต้องขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที แม้จะไม่ยอมสึกออกจากการเป็นพระภิกษุก็ตาม นอกจากนี้ ทางพระวินัยถือว่า พระภิกษุที่อาบัติปาราชิกแล้ว จะไม่สามารถทำกิจร่วมกับพระภิกษุอื่นได้ และไม่สามารถบวชเป็นพระได้อีกตลอดชีวิต ส่วนสาเหตุที่ส่งผลให้อาบัติปาราชิก มี 4 ข้อ ดังนี้
อาบัติข้อที่ 1. เสพเมถุน กรณีที่พระภิกษุเสพสังวาสกับสตรี หรือแม้แต่เดรัจฉานเพศเมีย ถือว่าขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที แม้จะอยู่ในผ้าเหลืองหรือไม่ก็ตาม ถือว่าขาดจากการเป็นพระขณะที่สำเร็จกิจ
อาบัติข้อที่ 2. ลักขโมย เมื่อมีเจตนาลักขโมยของที่เจ้าของไม่ได้อนุญาตด้วยจิตที่จะลัก
อาบัติข้อที่ 3. ฆ่ามนุษย์ ทั้งฆ่าให้ตายด้วยตนเอง หรือใช้ให้คนอื่นฆ่า กรณีนี้ คือ พระภิกษุมีเจตนาตั้งใจที่จะฆ่าอยู่แล้ว เช่น คิดและมีการวางแผนฆ่าให้ตาย เมื่อไม่ตายก็พยายามแล้วพยายามอีกจนเสียชีวิต
อาบัติข้อที่ 4. พูดอวดคุณวิเศษ ในที่นี้หมายภูมิธรรม อาทิ ไม่ได้เป็นพระโสดาบัน แต่กลับอ้างตัวว่า บรรลุฌานสมาบัติ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การจะต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเจตนาและการกระทำของพระภิกษุเป็นเกณฑ์ โดยปกติแล้วจะมีการวินิจฉัยเป็นรายกรณีไป โดยอาจมีการยกเว้นแก่พระสงฆ์ที่กระทำการนั้นโดยไม่รู้ตัว มีจิตฟุ้งซ่าน หรือเป็นบ้า
สำหรับคดีตัวอย่างอันโด่งดังของพระภิกษุสงฆ์ที่อาบัติปาราชิก และถูกเรียกว่า สมี นั้น พบว่า เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ได้แก่ กรณีของ อดีตพระยันตระ อมโรภิกขุ (พระวินัย อมโร) หรือ นายวินัย ละอองสุวรรณ พระสงฆ์นักปฏิบัติธรรมชื่อดัง ที่ขณะนั้นมีผู้คนให้ความศรัทธามากมาย ซึ่งในเวลาต่อมา อดีตพระยันตระ ได้ถูกฟ้องร้องหลายข้อหา ทั้งล่อลวงสีกาเพื่อเสพเมถุน ประพฤติตัวไม่สำรวม และพบหลักฐานว่า มีการใช้จ่ายเงินในสถานบริการทางเพศซึ่งตั้งอยู่ในต่างประเทศ
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2537 อดีตพระยันตระได้ถูกมติมหาเถรสมาคมพิจารณาให้พ้นจากความเป็นพระภิกษุ แต่เจ้าตัวไม่ยอมรับมติสงฆ์ดังกล่าว ซ้ำยังพูดวิพากษ์วิจารณ์ก้าวล่วงถึงขั้นหมิ่นองค์สมเด็จพระสังฆราช ก่อนลักลอบทำหนังสือเดินทางปลอมหลบหนีออกจากประเทศไทย ทำให้ต้องหลบหนีไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน และถูกสื่อมวลชนเรียกขานว่า "สมียันตระ" หรือเรียกแบบเหน็บ ๆ ว่า "สมียันดะ"

จากคดีตัวอย่างในข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่า พฤติกรรมของอดีตพระยันตระและสมีคำนั้น มีความคล้ายคลึงกันในหลายด้าน ซึ่งล้วนตรงตามเกณฑ์ในการอาบัติปาราชิก ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุให้สื่อมวลชนเรียกขานเณรคำที่ถูกตัดสินพ้นจากสภาพพระภิกษุไปแล้วว่า สมีคำ นั่นเอง
ภาพจาก ข่าวช่อง 8, springnews
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

** หมายเหตุอัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 11.11 น. ของวันที่ 20 กรกฎาคม 2560