x close

ดูชัด ๆ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ วรชัย เหมะ ทำไมมีทั้งคนหนุน-ต้าน


วรชัย เหมะ

พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          คงต้องลุ้นกันจนตัวโก่งว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยการนำเสนอของ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมด้วยบรรดาทนายความกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย จำนวน 21 คน ร่วมกันลงชื่อให้การสนับสนุน เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ตลอดช่วงเดือนสิงหาคม 2556 นี้ จะแล้วเสร็จและผ่านการพิจารณาหรือไม่

          หลังจากที่ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีบุคคลหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มหน้ากากขาว ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โดยการนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฯ ออกมาคัดค้านการนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เพราะเชื่อว่าหากผ่านการพิจารณา จนออกมาเป็นตัวบทกฎหมายฉบับสมบูรณ์แล้ว จะเป็นการปูทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้กลายเป็นนักโทษชายที่หนีคำพิพากษาศาลจำคุก 2 ปี ในคดีที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบพ้นผิด จะสามารถกลับบ้านได้

          ขณะเดียวกันทางกลุ่มคนเสื้อแดงก็ได้ออกมาให้การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอย่างสุดตัว เนื่องจากมีเนื้อหาหลักที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ต้องขัง ที่ถูกจับกุมจากกรณีการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง จนต้องติดคุกนานหลายปี และยังไม่ได้รับการอนุมัติให้มีการประกันตัวเฉกเช่นกลุ่มอื่น ซึ่งบุคคลเหล่านั้นต่างเรียกร้องขอกลับออกมาหาครอบครัวที่รออยู่    

          สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีทั้งหมด 7 มาตรา โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่มาตราที่ 3 และ 4 ซึ่งว่าด้วยการละเว้นโทษให้ผู้ที่ชุมนุมทางการเมืองหรือแสดงออกทางการเมือง ที่ได้กระทำการใด ๆ อันเป็นผลกระทบต่อร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน และสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคล ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถึง 10 พฤษภาคม 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการกระทำผิดโดยสิ้นเชิง ถึงแม้จะอยู่ระหว่างการต้องคำพิพากษาหรือการรับโทษ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงทั้งหมด โดยมีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้


          หลักการ

          ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554


          เหตุผล

          เนื่องจากสังคมไทยที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะที่สร้างความแตกแยกทางความคิดมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้แก่ชาติบ้านเมืองจนปัจจุบัน ด้วยสืบเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองตกอยู่ในความคิดที่ไม่เคารพในระบอบประชาธิปไตย มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจนนำไปสู้การยึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เหตุการณ์นี้สร้างความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคมที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนทำให้เกิดการใช้บังคับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมสร้างความรู้สึกสับสนและไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในทางความคิดทางการเมืองของประชาชนเป็นวงกว้างจึงมีการชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชนจนเกิดการกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองอันนำไปสู่การกล่าวหาและมีการดำเนินคดีกับผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมากทำให้ถูกจำกัดเสรีภาพและอิสรภาพในระหว่างการถูกกล่าวหาทางอาญา อันเป็นผลมาจากภาครัฐได้ประกาศและบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดและขาดความยืดหยุ่นจนเกินความจำเป็น ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าวได้เกิดเป็นปัญหาร้าวลึกลงไปสู่สังคมไทยในทุกระดับและนำมาซึ่งความหวั่นไหวขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขของประชาชนทั่วไป

          ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติทั้งทางด้านความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย ทั้งนี้ เมื่อได้คำนึงว่าบรรดาการกระทำต่าง ๆ ของประชาชนที่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมืองของประชาชน ซึ่งมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความขัดแย้งในทางการเมืองอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าว เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศและเป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยโดยใช้หลักนิติธรรม อันจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยต้องคำนึงถึงมูลเหตุจูงใจของการกระทำที่ประชาชนได้แสดงออกทางการเมืองเพื่อจะทำให้สังคมไทยและประเทศชาติกลับมาสู่ความสงบสุขเรียบร้อยมีความสมัครสมานสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


          มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ..."

          มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

          มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง


          การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใด ๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว


          มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่งยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวน หรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

          มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

          มาตรา 6 การดำเนินการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

          มาตรา 7 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้



ติดตามข่าว นิรโทษกรรม แบบอัพเดททั้งหมดคลิกเลย




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดูชัด ๆ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ วรชัย เหมะ ทำไมมีทั้งคนหนุน-ต้าน อัปเดตล่าสุด 6 พฤศจิกายน 2556 เวลา 18:38:29 237,740 อ่าน
TOP