34 คำถามสัมภาษณ์งานสุดฮิต พร้อมคำตอบที่คนอยากได้งานต้องรู้ !



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            เมื่อนึกถึงการสัมภาษณ์งาน แน่นอนว่าทุกคนก็ต้องตื่นเต้นกับคำถามที่เราต้องเจอในวันของการสัมภาษณ์ และต้องมีความประหม่าติดตัวไปด้วยแน่ ๆ ซึ่งหลายคนก็อาจจะแอบนึกเดาอยู่ในใจ ว่าจะเจอกับคำถามประมาณไหนบ้าง และก็คงเตรียมคำตอบของตัวเองเอาไว้แล้วเช่นกัน แต่สำหรับคนที่ไม่เคยผ่านการสัมภาษณ์งานมาก่อน ก็อาจจะนึกแนวคำถามไม่ออก และก็คงไม่รู้จะตอบคำถามยังไงด้วยใช่ไหมคะ ถ้าอย่างนั้นเรามาเตรียมตัวให้พร้อมเกินร้อย ด้วยการมาดู 34 คำถามสัมภาษณ์งานสุดฮิตจาก เว็บไซต์ Bit Rebels ต่อไปนี้กันก่อนดีกว่า นอกจากเอกสารหลักฐานที่ต้องเตรียมให้พร้อมแล้ว เราต้องเตรียมตัวเตรียมใจตอบคำถามเหล่านี้ด้วยนะจ๊ะ
 
1. ให้แนะนำตัวเอง ?

            แนวคำตอบ : หลัก ๆ แล้วควรแนะนำข้อมูลส่วนตัวสังเขป เช่น ชื่อ-สกุล อายุ ระดับการศึกษา และประวัติการทำงาน จะเพิ่มข้อมูลความเป็นตัวเองไปด้วยก็ได้ แต่ไม่ควรเยิ่นเย้อเกินไป ยกเว้นว่าผู้สัมภาษณ์งานถามต่อเอง
 
2.  งานที่ชอบหรืองานในฝันที่อยากทำ ?

            แนวคำตอบ : ในกรณีที่ได้สัมภาษณ์งานที่ตรงใจ คำตอบในข้อนี้คุณคงตอบได้สบาย ๆ เพราะก็คงตอบไปในแนวด้านบวกอยู่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็อย่าลืมพูดถึงบรรยากาศการทำงานที่ใกล้เคียงกับบริษัทที่คุณกำลังนั่งสัมภาษณ์งานอยู่ด้วยล่ะ จะได้เข้าตากรรมการให้เขาตัดสินใจเลือกรับคุณเข้าทำงานได้มากขึ้น
 
3. ทำไมถึงลาออกจากงานเก่า ?

            แนวคำตอบ : ควรจะพูดถึงแง่ดีของงานและองค์กรเก่าเอาไว้ก่อน หรือจะโทษว่าเป็นงานที่เราไม่ถนัดสักเท่าไรจะฟังดูดีกว่า หรือจะใช้ข้ออ้างว่าอยากหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ตัวเองดูบ้างก็ได้ค่ะ
 
4. จุดด้อยของคุณคืออะไร ?

            แนวคำตอบ : เวลาตอบคำถามข้อนี้ห้ามเผลอพรั่งพรูข้อเสียของตัวเองออกมาซะหมดนะคะ ไม่เช่นนั้นก็จบเห่แน่ ๆ เอาเป็นว่าค่อย ๆ เรียบเรียงข้อเสียของตัวเองที่คิดว่าจะไม่มีผลกระทบกับตำแหน่งงานที่สมัครจะดีกว่า ปลอดภัยเอาไว้ก่อนเนอะ
 
5.  จุดแข็งของคุณคืออะไร ?

            แนวคำตอบ : สำหรับคำถามนี้สามารถร่ายเรียงข้อดีของตัวเองออกมาได้เต็มที่เลยค่ะ และจะดีมาก ๆ หากมีเหตุผลประกอบเสริมเข้าไปด้วย หรืออย่างน้อย ๆ ก็การันตีไปเลยว่า ถ้าบริษัทรับคุณเข้าทำงาน คุณเชื่อว่าจุดแข็งที่คุณมีจะสามารถส่งเสริมบริษัทได้อย่างแน่นอน
 
6. บอกรายละเอียดตำแหน่งงานที่สมัคร หรือลักษณะงานของบริษัท ?

            แนวคำตอบ : คำถามข้อนี้ควรต้องมีการเตรียมตัวทำการบ้านกันมาก่อน อาจจะศึกษาลักษณะองค์กร และตำแหน่งงานจากเว็บไซต์ของบริษัทเอาไว้ด้วย เพื่อเป็นการแสดงว่าคุณมีความสนใจกับตำแหน่งงาน และต้องการทำงานในบริษัทนี้จริง ๆ
 
7. บอกเหตุผลที่บริษัทควรรับคุณเข้าทำงาน ?

            แนวคำตอบ : อาจจะดูเป็นคำถามที่ตอบยากไปหน่อย แต่ในเมื่อต้องตอบ ก็ควรเลือกตอบแบบกลาง ๆ นำเสนอความเหมาะสมของคุณสมบัติที่คุณมีกับตำแหน่งงานเป็นหลัก และเสริมด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริงในการทำงานในตำแหน่งนี้เข้าไปด้วย ที่สำคัญห้ามเผลอเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้สมัครงานคนอื่น ๆ เด็ดขาด
 
8. คุณคิดว่าจะประสบความสำเร็จแค่ไหน ?

            แนวคำตอบ : ส่วนใหญ่ก็ต้องตอบว่าประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน แต่จริง ๆ แล้วคำถามนี้สามารถตอบได้หลายแนว เพราะอย่าลืมว่าเส้นชัยของแต่ละคนไม่ได้วางไว้ในจุดเดียวกันเสมอไป บางคนอาจจะประสบความสำเร็จในชีวิตเพียงแค่มีงานทำ และสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ก็พอแล้ว ดังนั้นความสำเร็จในชีวิตที่คุณตั้งไว้คืออะไร ก็ตอบออกมาได้อย่างตรงไปตรงมาเลยค่ะ
 
9. ทำไมคุณถึงว่างงานนาน ?

            แนวคำตอบ : หากคุณเพิ่งเรียนจบแต่เว้นช่วงเวลาพักผ่อนเสียนาน หรือลาออกจากงานเก่าและยังไม่ได้หางานใหม่สักที ก็มีโอกาสจะเจอเข้ากับคำถามนี้บ้าง ซึ่งคุณควรเตรียมคำตอบดี ๆ เผื่อไว้ด้วย อาจจะเป็นกิจกรรมดี ๆ หรือปัจจัยสำคัญในชีวิตที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ ให้คำตอบออกแนวบวกมากกว่าลบเข้าไว้ดีที่สุด
 
10. คุณเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ดีแค่ไหน ?

            แนวคำตอบ : สำหรับคำถามนี้ให้นึกเหตุการณ์หรือช่วงเวลาดี ๆ ที่คุณและเพื่อนร่วมงานมีร่วมกัน พยายามเล่าอย่างอิงหลักความเป็นจริงให้มากที่สุด จะได้ไม่ดูใส่สีตีไข่และเว่อร์จนเกินไป ส่วนปัญหาขัดแย้งที่เคยมี ก็เก็บเอาไว้เป็นความลับดีกว่าค่ะ
 
11. คุณจะทำงานให้บริษัทนานแค่ไหน ?

            แนวคำตอบ : ผู้สัมภาษณ์อาจจะหลอกถามด้วยการถามถึงแผนการเรียนต่อ หรือชีวิตสมรสที่คิดไว้ก่อนก็ได้ เพื่อดูความเป็นไปได้ของระยะเวลาที่คุณจะทำงานให้กับบริษัท และทุกบริษัทย่อมต้องการคนที่อยากทำงานร่วมกันไปนาน ๆ อยู่แล้ว ดังนั้นตอบกลาง ๆ ไปว่า คุณจะทำงานให้กับบริษัทตราบเท่าที่บริษัทต้องการจะดูดีกว่า
 
12. คุณคิดว่าตัวเองมีประสบการณ์มากพอสำหรับตำแหน่งนี้หรือเปล่า ?

            แนวคำตอบ : ถ้ามีประสบการณ์มาก่อนก็คงฉลุย แต่ในกรณีที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อนควรจะตอบอย่างมั่นใจว่า คุณมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองจะสามารถใช้ความรู้ความสามารถที่มี มาทำงานนี้ได้อย่างสำเร็จลุล่วงไปได้แน่นอน และอย่าเผลอแสดงความไม่มั่นใจออกมาด้วยล่ะ
 
13. อธิบายหลักการจัดการของคุณ ?

            แนวคำตอบ : สำหรับงานบางตำแหน่งอาจจะต้องใช้ทักษะด้านการจัดการเข้าช่วยไม่น้อย ดังนั้นให้คุณบอกเล่าประสบการณ์การจัดการปัญหาเรื่องงานและเรื่องคนที่คุณเคยผ่านมา หรือถ้าไม่มีประสบการณ์ จะลองสมมุติเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นมา แล้วบอกวิธีการจัดการของคุณก็ได้ หรือจะย้อนไปถึงช่วงเวลาเรียนก็ได้เช่นกัน
 
14. คุณสามารถทำงานเป็นทีมได้ไหม ?

             แนวคำตอบ : ถือเป็นอีกหนึ่งคำถามที่ควรจะใช้ประสบการณ์ที่เคยผ่านมา มาเป็นคำตอบ อย่างเช่น เคยทำงานเป็นทีมเมื่อครั้งเรียนมหาวิทยาลัย และประสบความสำเร็จไปได้อย่างสวยงาม หรืองานเก่าได้ทำโปรเจคท์ร่วมกันกับเพื่อนร่วมงาน และได้รับคำชมเชยจากหัวหน้างาน ก็เล่าไปได้ตามสบายเลยค่ะ เพราะจะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้ทักษะการทำงานเป็นทีมของคุณดูดีมีภาษีขึ้นมาได้ง่าย ๆ เลย
 
15. หลักการอะไรที่คุณจะนำมาใช้กับงาน ?

            แนวคำตอบ : ถ้าคิดคำตอบไม่ถูก ให้ตอบโดยใช้หลักความจริงเป็นส่วนใหญ่ และอิงความสามารถของตัวเองเข้าไปด้วย ว่าไม่ว่างานจะมีอุปสรรคอะไร แต่ด้วยความสามารถของคุณ คุณก็เชื่อว่าจะข้ามผ่านทุกอุปสรรคไปได้อย่างไม่ลำบากนัก
 
16. หากทำงานเป็นทีม ตำแหน่งที่คุณคาดหวังคืออะไร ?

            แนวคำตอบ : ไม่จำเป็นต้องตอบว่าจะเป็นหัวหน้าทีม เพื่อแสดงศักยภาพด้านความเป็นผู้นำเสมอไป เพราะถ้าหากคุณตอบว่าสามารถทำงานตำแหน่งอะไรก็ได้ในกลุ่ม คุณจะได้แสดงความยืดหยุ่นในการทำงานให้ผู้สัมภาษณ์ได้เห็น อีกทั้งยังแสดงให้เขาเห็นด้วยว่าคุณไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่งหน้าที่เสมอไป จะหยอดคำหวานเข้าไปด้วยก็ได้ว่า ตำแหน่งไหนคุณก็จะทำงานอย่างเต็มที่ไม่แพ้กัน
 
17. เพื่อนร่วมงานประเภทไหนที่คุณคิดว่าไม่สามารถทำงานร่วมกันได้เลย ?

            แนวคำตอบ : ข้อนี้จะดีมาก หากคุณตอบว่าสามารถร่วมงานกับคนได้ทุกประเภท เพราะไม่ว่าใครก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อทำงานร่วมกันทั้งนั้น และคุณก็ไม่มีปัญหาเรื่องการปรับตัวเข้าหาผู้อื่นแต่อย่างใด
 
18. ทำไมคุณคิดว่าจะทำงานตำแหน่งนี้ได้ดี ?

            แนวคำตอบ : คำถามนี้จะเปิดโอกาสให้คุณได้แสดงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานในตำแหน่งที่สมัครไว้ ดังนั้นคิดว่าตัวเองมีความรู้ความสามารถ หรือประสบการณ์อะไรก็งัดออกมาโชว์ให้หมด เพื่อให้ผู้สัมภาษณ์ได้เห็นว่า คุณเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่เขาต้องการอยู่จริง ๆ
 
19. ระหว่างเงินกับงาน อะไรสำคัญกว่ากัน ?

            แนวคำตอบ : แนะนำให้ตอบว่าสำคัญเท่ากันทั้ง 2 อย่าง อย่าโชว์ป๋าด้วยการพูดว่าเงินไม่ใช่ตัวสำคัญ เนื่องจากทุกวันนี้เงินเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้เราดำเนินชีวิตต่อไปได้ และการที่จะได้เงินมาก็ต้องนำความรู้และความสามารถไปทำงานเพื่อแลกเงินมา ดังนั้นจึงไม่น่าเกลียดเลยถ้าคุณจะเห็นว่าเงินก็สำคัญไม่แพ้งานค่ะ
 
20. ผลงานโดดเด่นที่ผ่านมาของคุณคืออะไร ?

            แนวคำตอบ : การอ้างความสำเร็จหรือความสามารถแบบลอย ๆ อาจจะดูไม่ค่อยมีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือเท่าไร ดังนั้นจะดีมากหากคุณมีหลักฐาน รางวัล หรือใบรับรองการทำงานจากที่ทำงานเก่ามายืนยันความรู้ความสามารถของตัวเอง หรือไม่ก็เตรียมพอร์ตฟอลิโอมาให้ดี ๆ เลยเชียว
 
21. คุณสามารถทำงานภายใต้ความกดดันได้ดีแค่ไหน ?

            แนวคำตอบ : ควรคิดให้ดีก่อนตอบออกไป เพราะคำถามนี้ค่อนข้างสำคัญ และอาจจะเป็นข้อตัดสินที่คุณจะได้งานนี้ หรือไม่ได้เลยทีเดียว ดังนั้นหากคุณเคยมีประสบการณ์การทำงานภายใต้สภาวะกดดัน ไม่ว่าจะเรื่องเวลาที่ค่อนข้างกระชั้นชิด หรือภาวะกดดันจากผู้จ้างงานก็ตาม ก็พยายามเล่าในแง่ดีไปก่อน อาจจะพูดว่าเมื่อต้องทำงานในสภาวะกดดัน คุณรู้สึกว่าตัวเองมีสมาธิและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ได้
 
22. คุณจะทำงานโดยไร้ประสบการณ์อย่างไร ?

            แนวคำตอบ : อย่างที่บอกไปในตอนต้น ว่าถ้าเจอคำถามประมาณนี้ ให้ใช้ความมั่นใจในความสามารถของตัวคุณเองเป็นตัวตั้ง และยืนยันความปรารถนาที่อยากทำงานในตำแหน่งที่สมัครเอาไว้ให้เหนียวแน่น เพราะถ้าหากเรามีใจรักในงานที่เราจะทำ เราก็จะมีความพยายามในการทำงานให้ประสบความสำเร็จไปด้วยในตัวนั่นเอง
 
23. คุณมีแรงจูงใจอะไรที่จะทำงานออกมาให้ดีที่สุด ?

            แนวคำตอบ : สำหรับคำถามนี้ห้ามเผลอตอบว่าแรงจูงใจของคุณคืออัตราเงินเดือนโดยเด็ดขาดนะคะ เพราะจะทำให้คะแนนนิยมของคุณลดลงฮวบฮาบเลยล่ะ แต่ให้เลือกตอบเป็นรายละเอียดงานที่คุณคิดว่าน่าสนุกและน่าทำ เหมาะกับบุคลิกและความสนใจของตัวเอง และบรรยากาศการทำงาน บรรยากาศในบริษัท เป็นต้น
 
24. จุดไหนที่คุณจะรู้สึกว่าประสบความสำเร็จในตำแหน่งงาน ?

            แนวคำตอบ : คุณอาจจะตอบว่า เมื่อความสามารถของคุณเข้าตาเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างาน ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่มากขึ้น และคุณก็ทำงานนั้นได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จนได้รับโอกาสเลื่อนตำแหน่งงานให้สูงกว่าเดิมก็ได้
 
25. คุณเต็มใจที่จะพัฒนาผลกำไรของบริษัทให้เหมือนผลกำไรของตัวเองไหม ?

            แนวคำตอบ : แน่นอนอยู่แล้วว่าในนาทีนั้นเราก็ต้องพยักหน้าตอบว่าพร้อมอยู่แล้ว แต่ก็ควรเสริมเข้าไปด้วยว่า ถ้าหากบริษัทเติบโตได้อย่างสวยงาม นั่นก็หมายถึงโอกาสก้าวหน้าของตัวพนักงานเองด้วย
 
26. คุณสมบัติอะไรของหัวหน้างานที่คุณต้องการ ?

            แนวคำตอบ : พยายามอย่าตอบคุณสมบัติที่ต้องการอย่างเฉพาะเจาะจงเกินไป แต่ให้ตอบกลาง ๆ ว่า ถ้าเป็นไปได้ อยากได้หัวหน้างานที่มีความยุติธรรม และให้กำลังใจลูกน้องอยู่เสมอจะดีกว่า
 
27. คุณได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำงานผิดพลาด ?

            แนวคำตอบ : ความผิดพลาดในที่นี้หมายถึงความผิดพลาดในเรื่องการงาน ซึ่งถ้าหากคุณเคยมีประสบการณ์การทำงานมาบ้าง ก็ควรระวังอย่ากล่าวพาดพิงถึงองค์กรเก่า หรือเพื่อนร่วมงานเก่าเด็ดขาด แต่ให้พูดรวม ๆ ถึงข้อคิดที่ได้จากการทำงานผิดพลาดเป็นสำคัญ
 
28. คุณวาดแผนอนาคตภายใน 5 ปีข้างหน้าว่าอย่างไร ?

            แนวคำตอบ : พยายามตอบให้ใกล้เคียงกับข้อมูลที่เขียนไว้ในประวัติส่วนตัว หรือเรซูเม่ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ดูเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ และพยายามพูดถึงอนาคตในแง่ที่จะทำให้คุณดูมีวิสัยทัศน์กว้างไกลด้วย
 
29. ถ้าคุณมีโอกาสคัดเลือกผู้ร่วมงาน คุณต้องการคนแบบไหน ?

            แนวคำตอบ : แนะนำให้พูดรวม ๆ โดยนำเอาคุณสมบัติที่บริษัทต้องการ และคุณสมบัติของตัวเองมาผสมกัน แต่ต้องตอบด้วยความใจกว้าง และอย่าให้ดูเข้าข้างตัวเองจนเกินไปนัก
 
30. คุณคาดหวังอะไรจากตำแหน่งงานและบริษัท ?

            แนวคำตอบ : สิ่งที่ควรจะตอบในคำถามนี้ก็คือสิ่งที่คุณคาดหวังจริง ๆ คุณอาจจะตอบเป็นความคาดหวังเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพการงาน โอกาสในการได้พัฒนาความรู้ความสามารถของตัวเอง และโอกาสอีกมากมายที่คิดว่าจะได้รับจากการทำงานนี้
 
31. คุณมีอะไรจะถามอีกไหม ?

            แนวคำตอบ : คุณควรถามย้ำเรื่องรายละเอียดตำแหน่งงานของคุณอีกครั้ง รวมไปถึงอัตราเงินเดือน สวัสดิการของบริษัท วันหยุดประจำสัปดาห์ เป็นต้น เพื่อให้เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่าย หากได้รับการว่าจ้างจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณาประกอบได้
 
32. ทำไมคุณถึงคิดว่าจะประสบความสำเร็จในสายงานนี้ ?

            แนวคำตอบ : ถ้าเจอคำถามนี้ ให้เลือกตอบโดยนำความรู้ความสามารถของคุณและคุณสมบัติของคนที่บริษัทต้องการมารวมเข้าด้วยกัน เพื่อแสดงให้ผู้สัมภาษณ์ได้เห็นว่าคุณมีความเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่เขาต้องการรับคนอยู่อย่างพอดี ไม่ขาดตกบกพร่องสักข้อ
 
33. คุณคิดว่าบริษัทเก่าเป็นอย่างไร ?

            แนวคำตอบ : คงจะดีกว่าหากคุณจะตอบว่า ได้เรียนรู้ทักษะประสบการณ์ใหม่ ๆ มากมาย ได้มิตรภาพที่ดีจากเพื่อนร่วมงาน และมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตัวเองในหลาย ๆ ด้าน ถึงแม้ในท้ายที่สุด งานเก่าอาจจะไม่ใช่คำตอบที่คุณตามหาอยู่ก็ตาม แต่พยายามอย่าพูดพาดพิงให้บริษัทเก่าเสียหายโดยเด็ดขาดนะคะ
 
34. คุณจะรับมือกับคำตำหนิ หรือข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ?

            แนวคำตอบ : คุณควรจะตอบประมาณว่า สำหรับคุณแล้ว คุณคิดว่าข้อวิพากษ์วิจารณ์ หรือคำติเตียนเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราได้พัฒนาความสามารถ และทุก ๆ ความคิดเห็นในทางลบ จะเป็นตัวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเสมอ
 
            ทั้ง 34 แนวคำถามนี้ก็เปรียบเสมือนการเก็งข้อสอบอย่างหนึ่ง ซึ่งคุณอาจจะมีโอกาสได้เจอคำถามเหล่านี้บ้างในการสัมภาษณ์งาน หรือบางทีก็อาจจะเจอคำถามที่นอกเหนือจากนี้ตามแต่สถานการณ์ ตำแหน่งงาน และบริษัท แต่ไม่ว่าอย่างไรการเตรียมตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอก็ได้เปรียบอยู่ดีจริงไหมคะ และท้ายที่สุด เราก็ขออวยพรให้ทุกคนโชคดีได้งานอย่างที่ตั้งใจเอาไว้กันถ้วนหน้าเลยนะจ๊ะ








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
34 คำถามสัมภาษณ์งานสุดฮิต พร้อมคำตอบที่คนอยากได้งานต้องรู้ ! อัปเดตล่าสุด 26 สิงหาคม 2556 เวลา 08:44:59 376,442 อ่าน
TOP
x close