ABO SHUJA / AFP
ABO SHUJA / AFP
Ammar al-Arbini / SHAAM NEWS NETWORK / AFP
ภาพประกอบจาก ABO SHUJA / AFP, Ammar al-Arbini / SHAAM NEWS NETWORK / AFP, SAID KHATIB / AFP, SANA / AFP, SHAAM NEWS NETWORK / AFP
สงครามกลางเมืองซีเรีย คร่าชีวิตผู้คนไปนับแสน สาเหตุสงครามซีเรีย เกิดจากอะไร มาย้อนรอยเหตุการณ์ในประเทศซีเรียไปพร้อม ๆ กัน
เป็นข่าวการนองเลือดที่ช็อกโลกอีกครั้ง เมื่อในวันที่ 21 สิงหาคม 2556 รัฐบาลซีเรีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ได้สั่งการให้กองทัพทิ้งระเบิดเพื่อปราบกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาล ในเมืองกัวตาห์ ชานกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 1,300 ราย ท่ามกลางคำกล่าวอ้างของกลุ่มพันธมิตรซีเรียที่ระบุว่า รัฐบาลใช้อาวุธเคมี รวมทั้งแก๊สพิษซารินในการสู้รบกับกองกำลังฝ่ายต่อต้าน แม้ภายหลังทางการซีเรียจะออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง แต่ทางสหประชาชาติก็เตรียมจะขอเข้าไปพิสูจน์เรื่องนี้แล้ว
หลายคนที่ได้ติดตามข่าวมาพักใหญ่ ๆ ก็คงพอทราบว่า การสู้รบระหว่างรัฐบาล และฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ยืดเยื้อมานานกว่า 29 เดือนแล้ว และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงวันนี้ (23 สิงหาคม 2556) ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการมีอย่างน้อย 1 แสนคน และมีชาวซีเรียขอลี้ภัยเกือบ ๆ 2 ล้านคน
...อะไรที่ทำให้สงครามซีเรียรุนแรงมากขนาดนี้ แล้วชนวนเหตุของสงครามกลางเมืองซีเรียแท้จริงแล้วเกิดจากอะไร ลองตามกระปุกดอทคอมไปย้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดกัน
ในช่วงปลายปี 2553 เรื่อยมาจนถึงปี 2554 ประชาชนในหลายประเทศของกลุ่มตะวันออกกลาง และทวีปแอฟริกาเหนือ ได้ลุกฮือประท้วงรัฐบาลของตัวเอง เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีก้าวลงจากตำแหน่ง หลังจากผูกขาดอำนาจมานานหลายทศวรรษ ไล่เรียงมาตั้งแต่ ตูนีเซีย อียิปต์ ลิเบีย เยเมน บาห์เรน ฯลฯ ระบาดไปทั่วภูมิภาคจนมีการเรียกขานปรากฏการณ์นี้ว่า "อาหรับสปริง" หรือการปฏิวัติในประเทศอาหรับ
SAID KHATIB / AFP
และในที่สุดปรากฏการณ์นี้ก็ขยายวงกว้างมาถึงประเทศซีเรีย เมื่อในวันที่ 15 มีนาคม 2554 กลุ่มประชาชนชาวซีเรียนับหมื่นที่ไม่พอใจรัฐบาลพรรคบะอัษ (Ba'ath) ของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ได้ประท้วงเดินขบวนเรียกร้องให้พรรคบะอัษยุติการปกครองประเทศ และประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ต้องลาออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลที่ว่าคนในตระกูลอัล อัสซาด ผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในตำแหน่งประธานาธิบดีมานานกว่า 4 ทศวรรษ คือตั้งแต่ปี 2514 พันเอกฮาเฟซ อัล-อัสซาด ได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจปกครองประเทศ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ลูกชายคือประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
เมื่อสถานการณ์การประท้วงทำท่าจะลุกลาม และบานปลายขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุด ในเดือนเมษายน 2554 รัฐบาลก็ได้สั่งการให้กองกำลังความมั่นคงเปิดฉากยิงใส่ผู้ชุมนุมในหลาย ๆ เมืองทั่วประเทศ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จากหลักสิบพุ่งเป็นหลักร้อย หลักพัน ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ จนองค์การสหประชาชาติ (UN) ต้องออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลซีเรียยุติการใช้ความรุนแรงกับประชาชน
เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป (EU) ที่ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรซีเรีย ไม่ต่างจากสันนิบาตอาหรับที่สั่งระงับสมาชิกภาพของซีเรีย ขณะที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาก็พยายามกดดันซีเรียเช่นกัน ด้วยการอายัดทรัพย์สินในต่างประเทศของผู้นำซีเรีย และแกนนำระดับสูงของรัฐบาลซีเรีย 6 คน พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้นำซีเรียสละอำนาจโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า รัฐบาลซีเรียจะไม่ได้สนใจต่อเสียงเรียกร้องจากนานาชาติเท่าใดนัก ยังคงเปิดฉากกวาดล้างผู้ชุมนุมอีกหลายครั้งในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศรัสเซีย และอิหร่าน ขณะที่ประเทศจีนคอยให้ความช่วยเหลือทางการทูต ทำให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ปรากฏตัวผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ย้ำความมั่นใจว่ารัฐบาลของตัวเองจะไม่ถูกโค่นล้มอย่างแน่นอน
SHAAM NEWS NETWORK / AFP
ขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ตอนแรกเป็นเพียงการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ แต่เมื่อถูกปราบปรามอย่างหนัก ในที่สุดก็ลุกขึ้นมาจับอาวุธ โดยความร่วมมือกันระหว่างทหารที่แปรพักตร์ อาสาสมัคร และพลเรือนส่วนหนึ่ง หลังจากได้รับการสนับสนุนอาวุธจากประเทศตุรกี และซาอุดีอาระเบีย โดยมีประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี กาตาร์ ให้ความช่วยเหลือทางการทูต
การสู้รบยิ่งระอุขึ้นเรื่อย ๆ ในปลายปี 2554 เมื่อกลุ่มต่อต้านก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในกรุงดามัสกัส เมืองหลวง และเมืองอะเลปโป เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ขณะเดียวกันก็สะสมกองกำลังติดอาวุธมากขึ้น ทำให้รัฐบาลซีเรียต้องหันไปสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย "ฮิซบอลเลาะห์" ที่เคลื่อนไหวอยู่ในประเทศเลบานอน ให้เข้ามาร่วมปฏิบัติการปราบกบฏกับกองทัพซีเรียด้วย โดยลั่นวาจาว่าปฏิบัติการจะดำเนินไปจนกว่าฝ่ายกบฏจะย่อยยับ
เมื่อกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ก้าวเข้ามาร่วมในสงคราม ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์สงครามกลางเมืองเดือดขึ้นเรื่อย ๆ ทางฝ่ายกบฏได้ลอบคาร์บอมบ์ ระเบิดที่มั่นของฝ่ายรัฐบาลจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ก็เดินหน้าถล่มฝ่ายกบฏ พร้อมกับยึดเมืองคืน ขณะเดียวกันที่เป็นปริศนาก็คือ มีกองกำลังไม่ทราบฝ่าย เรียกกันว่า "ชาบีฮา" ซึ่งเป็นกองกำลังชุดดำติดอาวุธได้ทำการสังหารหมู่ประชาชนซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องไปพร้อม ๆ กัน
SANA / AFP
เหตุการณ์ลุกลามมาเรื่อย จนถึงในช่วงต้นปี 2556 องค์การระหว่างประเทศได้ออกมาประณามรัฐบาลซีเรียอย่างกว้างขวาง หลังจากได้จับกุมผู้ประท้วงหลายหมื่นคนไปทรมานอย่างหนักในเรือนจำของรัฐ รวมทั้งประณามฝ่ายต่อต้านที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 สหประชาชาติประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตจากสงครามซีเรียที่กินเวลามาเกือบ 2 ปี สูงกว่า 70,000 คน ราวครึ่งหนึ่งเป็นพลเรือน ผู้สูญหายอีกหลายหมื่นคน ขณะที่มีประชาชนชาวซีเรียกว่า 1.4 ล้านคน ขอลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
ฝั่งนานาชาติก็ไม่ได้นิ่งเฉยต่อเหตุการณ์นี้ หลายประเทศในกลุ่มอาหรับประกาศปิดสถานทูตในซีเรีย เพื่อประท้วงรัฐบาลที่สังหารประชาชน ขณะที่องค์การที่เกี่ยวข้องก็ประชุมออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อกดดันให้สงครามครั้งเลวร้ายยุติลง แต่ดูเหมือนว่ายิ่งเวลาผ่านไปเท่าใด คำว่า "สันติภาพ" ในประเทศซีเรีย ก็ยิ่งไกลห่างออกไปทุกที การสู้รบยังคงเกิดขึ้นอย่างดุเดือดและต่อเนื่อง แต่ละวันจะมีผู้คนล้มตายจำนวนนับไม่ถ้วน
ในปี 2556 ดูเหมือนว่าสงครามจะไม่ได้เป็นเรื่องของฝ่ายรัฐบาลซีเรีย และฝ่ายต่อต้านแต่เพียงเท่านั้น เมื่อฝ่ายต่อต้านได้ลักพาตัวเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติ จำนวน 21 นาย เพื่อกดดันให้รัฐบาลถอนกำลัง อีกด้านหนึ่งทางกองทัพอิสราเอลก็ตัดสินใจยิงจรวดโจมตีคลังอาวุธของกองทัพซีเรียหลายครั้ง เพื่อหวังจะทำลายขีปนาวุธพิสัยไกลที่อิสราเอลอ้างว่าประเทศอิหร่านส่งมาช่วยซีเรียใช้ต่อสู้กับฝ่ายกบฏ และจะส่งต่อให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในชายแดนเลบานอน
เมื่อประเทศอิสราเอลเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งครั้งนี้ ก็ทำให้กลุ่มประเทศสันนิบาตชาติอาหรับอดวิตกกังวลไม่ได้ว่า สถานการณ์จะยิ่งบานปลายขนาดไหน และก็เป็นดังคาด เมื่อกองทัพซีเรียขู่จะเปิดศึกอีกด้านกับอิสราเอล โดยประกาศกร้าวจะตอบโต้อิสราเอลที่ยิงจรวดโจมตีคลังแสงซีเรีย จนทำให้ทหารเสียชีวิต 42 นาย อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนทางรัฐบาลอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา กลับมองว่า การที่อิสราเอลส่งจรวดเข้าทำลายอาวุธของกองทัพซีเรีย ถือเป็นสิทธิของอิสราเอลที่จะปกป้องประเทศให้พ้นจากภัยคุกคามของกลุ่มติดอาวุธตามแนวชายแดน
ขณะที่สงครามกลางเมืองในซีเรียก็ยังดำเนินต่อเนื่อง ไม่มีทีท่าจะสงบลง กระทั่งปรากฏเป็นข่าวช็อกโลกในวันพุธที่ 21 สิงหาคม 2556 เมื่อกองทัพซีเรียทิ้งระเบิดปราบกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลในเมืองกัวตาห์ ซึ่งเป็นเขตที่มีประชากรอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น จนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 1,300 คน ในจำนวนนี้มีทั้งเด็ก สตรี และคนชรา โดยภาพของศพนับพันที่นอนกันเรียงรายกลายเป็นภาพโศกนาฏกรรมอันน่าหดหู่ที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก
จากเหตุการณ์นี้ ทำให้กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติซีเรียและนักเคลื่อนไหวออกมาประณามรัฐบาลที่โจมตีประชาชนด้วยอาวุธเคมี และแก๊สพิษซาริน ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ทางการได้รีบออกมาปฏิเสธโดยทันที ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนก็เชื่อว่าอาจจะเป็นฝีมือของมือที่สามเข้ามาแทรกแซงก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สหประชาชาติ และนานาชาติ ต่างพากันเรียกร้องให้รัฐบาลซีเรียอนุญาตให้คณะผู้ตรวจสอบการใช้อาวุธเคมีของสหประชาชาติเข้าถึงพยาน และเหยื่อได้อย่างอิสระ โดยไม่มีการแทรกแซงหรือปั้นแต่งหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ให้กระจ่างชัด