กระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่ในไทยมาจากเขื่อนจริงหรือ ?




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก เขื่อนสิริกิติ์ อุตรดิตถ์

          สืบเนื่องจากกรณีที่มีการคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ด้วยการเดินเท้าจากอุทยานแห่งชาติ แม่วงก์  มว. 4 แม่เรวา อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพมหานคร รวมระยะทางกว่า 388 กิโลเมตร ทำให้ข่าวดังกล่าว ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วประเทศ และมีบางส่วนได้ออกมาสนับสนุนความเห็นดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกัน  ก็มีกลุ่มผู้สนับสนุนออกมาโต้แย้งด้วยประเด็นว่า คนที่คัดค้านเรื่องดังกล่าว ไม่ใช้กระแสไฟฟ้าหรืออย่างไร เพราะการสร้างเขื่อนแม่วงก์จะช่วยเรื่องการผลิตกระแสไฟฟ้าภายในประเทศด้วย

          ทั้งนี้ ในรายการโครงการจัดทำแผนพัฒนาการชลประทานเมื่อ ปี 2554 ของกรมชลประทาน ได้เผยข้อมูลว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีอ่างเก็บน้ำ ขนาดใหญ่ (ความจุมากกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร) จำนวน 33 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 463 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 4,262 แห่ง รวมทั้งสิ้นมีอ่างเก็บน้ำ จำนวน 4,758 แห่ง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเคยถูกกลุ่มคนบางส่วนหยิบยกขึ้นถามรัฐบาลว่า ทั้งที่มีอ่างเก็บน้ำเยอะขนาดนี้ เหตุใดผลิตกระแสไฟฟ้าไม่พอใช้สักที

          และเมื่อศึกษาข้อมูลในรายงานการใช้ไฟฟ้าและการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทย ของกระทรวงพลังงาน พบว่า ประเทศไทยมีการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน พลังน้ำ น้ำมัน และพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ แต่จากความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น เช่น เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2556 มีข้อมูลระบุว่า ประเทศไทยใช้ไฟฟ้าสูงสุดถึง 24,630 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่า สูงที่สุดในรอบ 8 ปี คือ ช่วง พ.ศ. 2546-2553 การใช้ไฟฟ้าจำนวนมากนี้ ย่อมต้องเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาถูกที่สุดและผลิตไฟฟ้าได้มาก นั่นก็คือ ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ


ไม่สร้างเขื่อนจะกระทบการผลิตกระแสไฟฟ้าจ


         เนื้อหาในวารสารนโยบายพลังงาน ของกระทรวงพลังงาน ได้เผยข้อมูลสอดคล้องกับประเด็นดังกล่าว โดยพบว่า การผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ปี 2555 มีการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด จำนวน 176,973 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ส่วนการใช้เชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้า มีดังนี้

          การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 67 ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 119,434 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

          การผลิตไฟฟ้าจากลิกไนต์/ถ่านหิน คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 20 อยู่ที่ระดับ 34,518 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

          การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 อยู่ที่ระดับ 8,431 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดยเป็นการผลิตเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในช่วงต้นปี 2555 ที่แหล่งเยตา กุน มีการปิดซ่อมบำรุงประจำปี

          การนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไฟฟ้าแลกเปลี่ยนกับมาเลเซีย และอื่น ๆ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7 อยู่ที่ระดับ 13,213 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

          การผลิตเข้าไฟฟ้าจากน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1 อยู่ที่ระดับ 1,363 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้น้ำมันเตาเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติจากพม่าในช่วงกลางปี 2555

          จากข้อมูลดังกล่าวทำให้ทราบว่า เมื่อใดที่ก๊าซธรรมชาติมีไม่เพียงพอหรือขาดแคลน จะมีการใช้พลังน้ำ หรือเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล มาผลิตกระแสไฟฟ้าแทน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ทั้งนี้ แม้โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่จะมีขีดความสามารถสูงในการรักษาความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้า สำหรับรองรับช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าสูงสุด แต่เพราะข้อจำกัดในการผลิตไฟฟ้าที่ทำได้เฉพาะช่วงที่มีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน จึงไม่สามารถใช้วิธีดังกล่าวแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างถาวร

          การหวังพึ่งเขื่อนในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศไทยนั้น อาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะกับประเทศไทย เพราะเขื่อนใหญ่ ๆ แต่ละแห่งก็ผลิตกระแสไฟฟ้าได้จำกัด เช่น เขื่อนภูมิพล ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 779.2 เมกะวัตต์ เขื่อนศรีนครินทร์ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 720 เมกะวัตต์ เขื่อนสิริกิติ์ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 500 เมกะวัตต์ และเขื่อนวชิราลงกรณ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 300 เมกะวัตต์ ขณะที่เขื่อนเล็ก ๆ ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 10-100 เมกะวัตต์ เช่น เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนอุบลรัตน์

          แม้ประเทศไทยจะมีเขื่อนทุกขนาดรวมกัน 4,785 เขื่อน แต่จากรายงานไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2554 พบว่า มีเขื่อนที่ใช้ผลิตไฟฟ้าเพียง 50 เขื่อน มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 7,983 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งน้อยกว่าโรงไฟฟ้าวังน้อย ที่มีกำลังผลิตรวม 8,855 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง โรงเดียวเสียอีก นอกจากนี้ เมื่อดูในภาพรวมขนาดใหญ่ยังพบว่า การผลิตไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้ารวมทั้งประเทศ 26 โรง (ไม่รวมโรงไฟฟ้าประเภทดีเซล, พลังงานร่วม, เครื่องยนต์ก๊าซ และอื่น ๆ) มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 130,049 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนทั้งประเทศ ถึง 16 เท่า 
         
          จากข้อมูลในข้างต้นจึงสรุปได้ว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทย ต้องพึ่งพิงเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติมากที่สุด รองลงมายังคงเป็นถ่านหินหรือลิกไนต์ ส่วนพลังงานน้ำเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยรองรับในช่วงที่มีการใช้กระแสไฟฟ้าสูงสุด ดังนั้นการไม่สร้างเขื่อนจะส่งผลกับการผลิตกระแสไฟฟ้าหรือไม่ ควรต้องพิจารณาในประเด็นนี้ด้วยนั่นเอง


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เว็บไซต์กรมชลประทาน, เว็บไซต์กระทรวงพลังงาน, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน


 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่ในไทยมาจากเขื่อนจริงหรือ ? อัปเดตล่าสุด 8 ตุลาคม 2556 เวลา 11:40:19 73,425 อ่าน
TOP
x close