วันพยาบาลแห่งชาติ 21 ตุลาคม ประวัติความเป็นมาของวันพยาบาลแห่งชาติ
อีกหนึ่งวันสำคัญเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่า ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อช่วยเหลือปวงชนชาวไทยผู้ยากไร้และด้อยโอกาส
การพยาบาล คือ การช่วยเหลือดูแลผู้ป่วย เพื่อช่วยฟื้นฟูให้บุคคลเหล่านั้นกลับมามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดังเดิม ดังนั้น ผู้ที่ประกอบวิชาชีพพยาบาลจึงต้องผ่านการฝึกฝนเพื่อใช้ความชำนาญดังกล่าวในการดูแลผู้ป่วย และเนื่องในวันที่ 21 ตุลาคม เป็นวันพยาบาลแห่งชาติ ดังนั้น เราจึงนำเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวันพยาบาลแห่งชาติมาฝากกันค่ะ
ที่มาของวันพยาบาลแห่งชาติ
การที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพยาบาลนั้น เนื่องจากเมื่อครั้งอดีต สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ทรงสนพระราชหฤทัยในคุณภาพชีวิตของพสกนิกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้ยากไร้และด้อยโอกาสในถิ่นห่างไกลความเจริญ จึงทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์ พยาบาล และการสาธารณสุข โดยทรงเจริญตามรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก "พระบิดาแห่งแพทย์แผนปัจจุบันและสาธารณสุข" ผู้ทรงอุทิศพระองค์และพระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อกิจการด้านนี้มากมาย
ดังนั้น เมื่อสิ้นสมเด็จพระบรมราชชนกแล้ว สมเด็จย่าจึงหันมาทุ่มเทให้แก่การแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุขอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะโครงการต่าง ๆ ที่สมเด็จพระบรมราชชนกเคยสนับสนุนมาแต่เดิม สมเด็จย่าได้ทรงดำเนินกิจกรรมทุกอย่างให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เช่น การพระราชทานทุนการศึกษา การสนับสนุนการก่อสร้างปรับปรุงโรงพยาบาลศิริราช
รวมถึงการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 500,000 บาท ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายในกำหนด 25 ปี เพื่อตั้งเป็นทุนสำหรับส่งคนไปศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศ โดยในเวลาต่อมาได้โอนทุนนี้ให้มหาวิทยาลัยแพทย์ คือ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน
ภาพจาก : Tooykrub / Shutterstock.com
นอกจากนี้พระองค์ทรงรับเป็นผู้อุปถัมภ์สมาคมและมูลนิธิต่าง ๆ มากมาย เช่น
- ทรงเป็นประธานมูลนิธิอานันทมหิดล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2502 โดยมีวัตถุประสงค์ในการคัดเลือกบุคคลส่งไปศึกษาวิชาพิเศษ ณ ต่างประเทศ ในสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อให้กลับมาปฏิบัติงานให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
- พระราชทานเงินรายปีสมทบทุนเพื่อเก็บดอกผลช่วยนักเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- ทรงสนับสนุนส่งเสริมวิชาชีพและการศึกษาพยาบาลตั้งแต่เริ่มการก่อตั้งสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สมัยแรก โดยทรงร่วมเป็นกรรมการของสมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราช
โดย พ.ศ. 2503 สมเด็จย่าพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อสร้าง "อาคารศรีสังวาลย์" ขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อให้เป็นที่ตรวจรักษาและบำบัดคนพิการ จากนั้น พ.ศ. 2535 พระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 500,000 บาท เพื่อจัดตั้งมูลนิธิขาเทียม
ประวัติวันพยาบาลแห่งชาติ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 หลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบในเรื่องดังกล่าว สภาการพยาบาล และสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในนามของพยาบาลและผดุงครรภ์ทั่วประเทศ จึงได้ร่วมกันจัดงานวันพยาบาลแห่งชาติเป็นครั้งแรก ในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2533 โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดงานเดินเทิดพระเกียรติ การให้บริการตรวจสุขภาพแก่ประชาชน การประชุมวิชาการ การประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัลพยาบาลดีเด่น ซึ่งทำเช่นนี้ต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน
นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ยังมีการกำหนดให้ "ดอกปีบ" เป็นสัญลักษณ์ของพยาบาลไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เนื่องจาก "ดอกปีบ" เป็นดอกไม้สีขาวที่มีกลิ่นหอม และต้นปีบเป็นไม้ยืนต้น เติบโตได้ในที่ดินแห้งแล้ง โดยส่วนราก ลำต้น และดอก สามารถใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคได้ ดังนั้น จึงเปรียบได้กับพยาบาลในชุดสีขาวผู้พร้อมที่จะประกอบคุณงามความดี ประดุจกลิ่นหอมของดอกปีบ และพร้อมที่จะสร้างประโยชน์เช่นเดียวกับการเป็นสมุนไพรของดอกปีบนั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างกับประวัติความเป็นมาและความสำคัญของวันพยาบาลแห่งชาติที่เรานำมาฝากกันในครั้งนี้ หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจเรื่องวันสำคัญของไทย แม้วันพยาบาลแห่งชาติอาจไม่เป็นที่รู้จัก หรือไม่คุ้นหูกันมากนัก แต่ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่มีความหมายต่อปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : สภาการพยาบาล