เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
มาย้อนประมวลเหตุการณ์ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในรอบสัปดาห์ ไล่เรียงมาตั้งแต่สภาฯ ไฟเขียวผ่านร่างอย่างรีบเร่ง กระทั่งจุดกระแสให้พลังเงียบในสังคมตื่นออกมาแสดงพลังไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. ล้างผิด
ปลุกพลังเงียบให้ตื่นตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมาก มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม วาระ 3 ท่ามกลางเสียงคัดค้านของคนจำนวนไม่น้อยในสังคม นั่นจึงเป็นที่มาของการนัดรวมตัวแสดงพลังต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยจากหลาย ๆ องค์กรในช่วงรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
ลองไปไล่ย้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ตั้งแต่สภาฯ เห็นชอบให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ 3 จนไปจุดไฟให้มวลชนจากหลายภาคส่วนลุกขึ้นมาประกาศจุดยืน ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็นกันบ่อยนัก

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ประกาศนัดหยุดงานเพื่อออกมาร่วมเคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยในวันนี้กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ก็ได้ร่วมทำกิจกรรมตามจุดต่าง ๆ เพื่อคัดค้าน พ.ร.บ. ฉบับนี้ด้วย
ขณะที่เวลา 10.00 น. ผู้ชุมนุมแยกอุรุพงษ์ได้เดินขบวนมายังถนนราชดำเนิน แต่ต้องมาหยุดอยู่ที่สะพานมัฆวานฯ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกั้นไว้ไม่ให้เข้าพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ทำให้ในที่สุดแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมจึงตั้งเวทีปักหลักที่บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบกแทน
วันเดียวกันเวลาประมาณ 12.34 น. ภาคเอกชนนับหมื่นคนได้รวมตัวกันเป่านกหวีดคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมที่สี่แยกอโศกมนตรี จากนั้นเวลาประมาณ 14.30 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวด่วนผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ยืนยันว่าได้ถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้ว 6 ฉบับ จึงขอให้ทุกฝ่ายยุติชุมนุม พร้อมประกาศชัดเจนว่าจะไม่มีการสลายม็อบหรือใช้ความรุนแรง และย้ำชัดว่าจะไม่ทำอะไรให้ระคายเบื้องพระยุคลบาทโดยเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มผู้ชุมนุมบนถนนราชดำเนิน ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่ม คปท. และกองทัพธรรม ยังคงปักหลักชุมนุมต่อไป เนื่องจากเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. 6 ฉบับที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่าได้ถอนออกไปแล้วนั้น ไม่ได้รวมถึง พ.ร.บ.ฉบับที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น ก็เหมือนยังมีเชื้อไฟที่สภาฯ อาจหยิบร่างฯ ขึ้นมาพิจารณาได้อีกในอนาคต
ขณะที่กลุ่ม คปท. ประกาศจะชุมนุมต่อ แม้จะมีการถอนร่างฯ ก็ตาม พร้อมยกระดับไปเป็นการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลแทน

กลุ่มนักธุรกิจและประชาชนในย่านสีลมได้รวมพลังเป่านกหวีดพร้อมกันเป็นครั้งที่ 2 ที่หน้าอาคารสีลมคอมเพล็กซ์ เวลา 12.34 น. พร้อมตะโกน "ออกไป" โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก

จากนั้นในช่วงบ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ออกคำแถลงเรื่อง "อยากเห็นความปรองดองของคนในชาติ" ระบุว่า ขณะนี้มีการนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอยมาเป็นประเด็นการเมือง บิดเบือนใส่ร้ายอ้างว่าจะได้เงินคืนและเป็นการล้างผิดให้คนคนเดียว ทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในประเทศ ทั้ง ๆ ที่จุดประสงค์ที่แท้จริงคือ การก้าวข้ามความขัดแย้งและคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อรัฐประหารปี 2549
วันเดียวกัน มหาวิทยาลัยรังสิต ประกาศหยุดเรียนในวันที่ 7 พฤศจิกายน เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาออกมาร่วมแสดงพลังค้านนิรโทษกรรมได้อย่างเต็มที่ ขณะที่หน่วยงานอื่น ๆ ก็ยังออกแถลงการณ์คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่นายพานทองแท้ ชินวัตร ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ถึงตอนนี้ต้องให้วุฒิสภาเป็นคนตัดสินใจในเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อย่างไรก็ตามส่วนตัวไม่อยากให้คว่ำในวาระแรกเลย เพราะจะทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะสีใดได้รับความเดือดร้อน จึงอยากให้วุฒิสภาแก้ไขให้คนเหล่านั้นได้รับการนิรโทษกรรมก่อน
อีกด้าน ในเฟซบุ๊กศิษย์เก่าและนักเรียนยุพราชวิทยาลัย ได้มีการโพสต์ข้อความถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะศิษย์เก่า ระบุว่า รู้สึกละอายต่อการกระทำของนางสาวยิ่งลักษณ์ และพวกพ้อง พร้อมกับประกาศต้าน พ.ร.บ. ให้ถึงที่สุด
กลางดึกมีรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งวิเคราะห์ว่า การที่คนจำนวนมากออกมาต่อต้านกฎหมายล้างผิดนี้ แสดงให้เห็นถึงจุดจบของระบอบทักษิณ และเชื่อว่าโอกาสที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้กลับบ้านนั้นเลือนรางเต็มที


ในช่วงสายมีข่าวสะพัดว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เตรียมแถลงในเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ท่ามกลางการจับตามองของผู้คนในสังคม กระทั่งเวลาประมาณ 12.15 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่า ขณะนี้มีคนนำร่าง พ.ร.บ. มาบิดเบือนเป็นประเด็นทางการเมืองเพื่อหวังล้มล้างรัฐบาล ซึ่งทำให้สังคมแตกแยก อย่างไรก็ตาม การพิจารณาร่างดังกล่าวในขั้นตอนต่อไปเป็นหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จึงขอให้ ส.ว. ใช้วิจารณญาณในการพิจารณาอย่างเต็มที่ ซึ่ง ส.ส. พร้อมยอมรับการตัดสินใจ
จากนั้นในช่วงบ่าย นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา นำ ส.ว. เลือกตั้ง แถลงข่าวยืนยันว่า ส.ว. จะไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ. เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ โดยเรื่องนี้ไม่ได้รับสัญญาณมาจากการแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี แต่เป็นจุดยืนเดิมของ ส.ว. อยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ จะมีการลงมติในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้
ในเวลาไล่เลี่ยกัน คณาจารย์และบุคลากร ตลอดจนกลุ่มศิษย์เก่าและนิสิตปัจจุบัน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รวมตัวกันอ่านแถลงการณ์ที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล และเดินไปยังหอศิลป์ กทม. เพื่อประกาศจุดยืนของชาวจุฬาฯ ว่าจะคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม
เวลา 16.00 น. กลุ่มกองทัพธรรมได้เดินขบวนออกจากแยกอุรุพงษ์มายังสะพานผ่านฟ้าฯ ถนนราชดำเนิน โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ก่อนปักหลักตั้งเวทีปราศรัยการชุมนุม พร้อมประกาศกร้าว ไม่ชนะไม่เลิก ขณะที่ม็อบเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.), กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ และภาคีเครือข่าย ยังคงชุมนุมอยู่ที่แยกอุรุพงษ์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแถลงจากนายกรัฐมนตรี กลุ่ม ส.ว. และพรรคเพื่อไทย แล้วก็ตาม แต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมที่ราชดำเนินยังคงไม่ไว้วางใจ เนื่องจากร่างกฎหมายยังไม่ได้ถูกถอนออกจากสภาฯ จึงเดินหน้าชุมนุมต่อ ซึ่งในคืนวันเดียวกัน ที่เวทีราชดำเนิน ได้มีคนในวงการบันเทิงมาเข้าร่วมชุมนุมหลายคน โดยเฉพาะนางเอกสาว แตงโม ภัทรธิดา ได้ขึ้นเวทีประกาศกร้าวขอคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ให้ถึงที่สุด ท่ามกลางเสียงปรบมือและชื่นชมของผู้เข้าร่วมชุมนุม


เวลา 10.00 น. ม็อบสามเสน นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ เคลื่อนทัพประชาชนนับหมื่นจากสามเสนไปยังศาลหลักเมือง และวัดพระศรีรัตนาศาสดาราม เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พร้อมปฏิญาณว่าจะปกป้องประเทศชาติ ก่อนจะประกาศปักหลักตั้งเวทีบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เพื่อกดดันให้รัฐบาล และวุฒิสภาคว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ขณะที่ในเวลา 12.34 น. กลุ่มนักธุรกิจ พนักงานบริษัท ประชาชนจำนวนมากได้รวมตัวกันที่หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาสีลม เพื่อร่วมกันเป่านกหวีดแสดงพลังต่อต้านการออกกฎหมายล้างผิดคนโกง
ในวันเดียวกันนี้ สถาบันการศึกษาหลายแห่งได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นจากหลาย ๆ สถาบันที่พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้
ในช่วงบ่าย กลุ่ม 40 ส.ว. ภายใต้ชื่อ "กลุ่มสมาชิกวุฒิสภาคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม" ได้ออกแถลงการณ์คว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมกับประกาศร่วมมือกับประชาชนทุกภาคส่วนเคลื่อนไหวคัดค้านร่างดังกล่าวให้ถึงที่สุด เนื่องจากมองว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม และขัดต่อรัฐธรรมนูญ


ตัวแทนราชสกุล เครือข่ายแพทย์ฯ กลุ่มนักธุรกิจสีลม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวพร้อมออกแถลงการณ์คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขณะที่เวทีการชุมนุมที่สามเสนประกาศยกระดับการชุมนุมเคลื่อนขบวนกดดันรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ (4 พฤศจิกายน 2556)


ขณะที่กลุ่มศิลปินดาราจำนวนมากต่างพากันเขียนข้อความลงในเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมส่วนตัว ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ซึ่งก็ทำให้ชาวเน็ตจำนวนมากเขียนข้อความต่อต้าน พ.ร.บ. ฉบับนี้ จนเต็มไทม์ไลน์ ขณะเดียวกันก็ยิ่งปลุกกระแสให้คนออกมาร่วมชุมนุมต่อต้านการนิรโทษกรรมมากขึ้น


การประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระที่ 3 ลากยาวมาราธอนจากช่วงสายวันที่ 31 ตุลาคม 2556 มาถึงช่วงเช้ามืดในวันที่ 1 พฤศจิกายน ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นไปอย่างตึงเครียดมากยิ่งขึ้น เมื่อเข้าสู่การอภิปรายในมาตรา 3 ซึ่งมีเนื้อหาระบุถึงบุคคลที่จะได้รับการละเว้นโทษ โดยมีการแปรญัตติให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การชุมนุม ตั้งแต่ปี 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ไม่ต้องรับโทษทุกคดี รวมทั้งคดีที่สืบเนื่องมาจากองค์กรที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น
โดยในเวลาประมาณตี 2 เศษ ๆ หลังจากที่ประชุมผ่านร่างฯ มาตรา 2 แล้ว ประธานสภาฯ ได้ขอให้เดินหน้าอภิปรายต่อในมาตรา 3 ทันที ทำให้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ลุกประท้วง เพราะมองว่าควรปิดประชุมแล้วไปประชุมต่อในวันพรุ่งนี้ เนื่องจากประชุมต่อเนื่องมาเกือบ 20 ชั่วโมงแล้ว แต่ถูก ส.ส.เพื่อไทย ประท้วงกลับขอให้รีบอภิปรายต่อในมาตรา 3 เพราะได้เสียเวลาในมาตราที่ 1 และ 2 ไปมากแล้ว สุดท้าย ประธานสภาฯ จึงต้องสั่งพักการประชุม 10 นาที ในเวลา 03.00 น.
เวลา 03.20 น. ส.ส. กลับเข้าห้องประชุมอีกครั้ง โดยเดินหน้าพิจารณาวาระ 3 ต่อ ท่ามกลางเสียงโห่ของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ หลังจากการอภิปรายผ่านไปได้สักระยะ ทาง ส.ส.เพื่อไทย ได้เสนอญัตติขอปิดอภิปรายทันที ทำให้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ประท้วง แต่ไม่เป็นผล ในที่สุดแล้ว เสียงข้างมากมีมติ 307 ต่อ 0 คะแนน งดออกเสียง 4 คะแนน ผ่านร่างฯ มาตรา 3
จากนั้น นางสาวขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.เพื่อไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่งดออกเสียง ได้ลุกขึ้นอภิปรายอย่างมีอารมณ์ว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากเป็นผู้หนึ่งที่สูญเสียบิดาไปจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง จึงอยากเรียกร้องความยุติธรรม
ในเวลาต่อมา เข้าสู่การอภิปรายในมาตราที่ 4 5 6 7 ซึ่งก็ไม่มีผู้อภิปราย เสียงข้างมากจึงมีมติผ่านมาตราต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว กระทั่งในเวลาประมาณ 04.20 น. ที่ประชุม ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. วาระ 3 ด้วยคะแนน 310 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 ก่อนที่ประธานสภาฯ จะสั่งปิดประชุมทันทีในเวลา 04.25 น. รวมใช้เวลาประชุมทั้งวาระ 2 และวาระ 3 ทั้งสิ้น 19 ชั่วโมง ท่ามกลางการวอล์คเอาต์ของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ไม่พอใจที่ถูกเบรกไม่ให้อภิปรายอย่างรวบรัดตัดตอนเช่นนี้
กระทั่งในตอนเช้า ข่าวการผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ 3 ได้แพร่กระจายออกไป ทำให้ชาวเน็ตเขียนข้อความตำหนิสภาฯ ที่ผ่านร่างดังกล่าวด้วยความเร่งรีบ ขณะเดียวกันก็ได้แชร์ข้อความที่กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้ทุกจังหวัดขึ้นป้ายสนับสนุนกฎหมายนิรโทษกรรมด้วย แต่เมื่อถูกผู้คนวิจารณ์อย่างหนักภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ภายหลังจึงมีคำสั่งให้ยกเลิกการขึ้นป้ายดังกล่าว
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา ได้เริ่มจุดกระแสให้คนที่ไม่เห็นด้วยแสดงความคิดเห็น รวมทั้งออกมาร่วมชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวกันมากขึ้นในจังหวัดต่าง ๆ เช่นเดียวกับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการ ตัวแทนองค์กรต่าง ๆ เริ่มออกแถลงการณ์ และเขียนข้อความตำหนิรัฐบาลอย่างเจ็บแสบ
ขณะที่ในเวทีชุมนุมที่สถานีรถไฟสามเสน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศจะขอชุมนุมยืดเยื้อ เพื่อต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ให้ถึงที่สุด


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยพีบีเอส
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ นัดประชาชนออกมาร่วมชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่บริเวณสถานีรถไฟสามเสนข้างพรรคประชาธิปัตย์ โดยประกาศว่าจะเคลื่อนไหวต่อสู้ทั้งในสภาและนอกสภา จนกว่ากฎหมายฉบับนี้จะถอนออกไป ซึ่งก็มีคนมาร่วมชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ในสภาผู้แทนราษฎรมีการชุมนุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระที่ 2 ซึ่งก็ได้เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้น เมื่อ ส.ส.ประท้วงกันไปมา แต่ในที่สุดก็สามารถผ่านร่างฯ ในวาระที่ 2 ได้ และเข้าสู่การประชุมในวาระที่ 3 โดยทันที