
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ทูตวีรชัย ยันไทยไม่เสียดินแดน 4.6 ตร.กม. และไม่ผูกพันแผนที่ 1 : 200,000 แต่ไม่ได้ฟันธงเขตแดน เขมรได้เพิ่มจุดที่แคบมาก พร้อมให้ 2 ฝ่ายร่วมกันดูแลปราสาทในฐานะมรดกโลก
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ นายปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลโลก พร้อมองค์คณะตุลาการศาลโลก 17 คน ได้อ่านคำตัดสินกรณีที่กัมพูชาได้ยื่นขอให้ศาลโลกตีความเรื่องอาณาบริเวณรอบปราสาทพระวิหาร
โดยศาลระบุว่า ศาลมีอำนาจในการตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ซึ่งการตีความที่ว่านี้เป็นการตีความในขอบเขตจำกัดอย่างเคร่งครัด โดยพื้นที่ซึ่งคำพิพากษาศาลโลกเมื่อปี 2505 ระบุว่า เขาพระวิหารอยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา และไทยต้องถอนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ออกมาจากบริเวณปราสาทพระวิหาร โดยศาลให้คำจำกัดความของปราสาทพระวิหารและบริเวณโดยรอบ โดยสรุปคือ ไม่ใช่พื้นที่ตามแผนที่ 1 : 200,000 อย่างที่กัมพูชาอ้าง
แต่คำพิพากษาศาลโลกในปี 2505 กัมพูชาเองก็ยืนยันว่าเป็นพื้นที่เล็ก ๆ รอบปราสาทพระวิหาร ดังนั้นก็ต้องไปดูอาณาบริเวณจากที่มีนักสำรวจและมีคำให้การในศาล ระบุว่า ให้ดูจากสภาพภูมิศาสตร์ ซึ่งพื้นที่นี้ไม่ใช่พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรตามแผนที่ระวางที่กัมพูชาอ้างอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่พื้นที่ตามมติ ครม. สมัยจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ของรัฐบาลไทย ซึ่งตีเส้นเอาไว้หลังจากมีคำพิพากษาของศาลโลก ศาลจึงให้กัมพูชาและไทยไปพูดคุยกันเอง
ทั้งนี้ จากคำพิพากษาดังกล่าวทำให้ นักวิชาการและสื่อได้ตีความกันในทิศทางต่าง ๆ โดยบางสื่อมองว่า ไทยไม่เสียพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งกัมพูชาไม่สามารถอ้างได้อีกต่อไป เพราะศาลไม่ได้ยอมรับแผนที่ 1 : 200,000 แต่สื่ออีกมุมหนึ่งวิเคราะห์ว่า ถ้านับจากที่เรายืนยันด้วยการตีเส้นตามคณะรัฐมนตรีหลังคำพิพากษาปี 2505 และมีการล้อมรั้วลวดหนามเอาไว้ก่อนหน้านี้ก็ถือว่าต้องยอมรับกัน แต่คำตีความของศาลที่ออกมาใหม่ระบุว่า พื้นที่มากกว่าตรงนี้ ทำให้สื่อมองว่าเป็นการเสียดินแดน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคำพิพากษาของศาลก็ยังไม่ได้ระบุออกมาถึงแนวอาณาเขต เพียงแต่บอกสภาพภูมิศาสตร์อย่างกว้าง ซึ่งโดยภูมิศาสตร์ไม่รวมถึงภูมะเขือ ซึ่งกัมพูชาและไทยต้องไปพูดคุยกันเอาเอง และช่วยกันพัฒนามรดกโลก
ขณะที่ ทางด้านทูตวีรชัย กล่าวว่า คำพิพากษาที่ออกมาศาลได้ชี้เป็นประเด็นต่าง ๆ เริ่มจาก ศาลมีอำนาจในการวินิจฉัยในคำร้องของกัมพูชาในครั้งนี้หรือไม่ ต่อมาศาลได้วินิจฉัยพื้นที่ใกล้เคียงกับตัวปราสาทที่ศาลใช้คำเรียกว่า ตัวปราสาท นั้น จะมีตัวเขตจำกัดอย่างไร แต่ไม่ได้มีแผนที่แนบ
เบื้องต้นขอเรียนว่า ฝ่ายกัมพูชาไม่ได้รับในพื้นที่ 4.5, 4.6, 4.7 ตารางกิโลเมตร หรืออะไรก็ตาม ทางกัมพูชาไม่ได้สิ่งที่ได้เรียกร้อง พื้นที่ภูมะเขือฝ่ายกัมพูชาก็ไม่ได้ ศาลก็ไม่ได้ชี้ในเรื่องของเขตแดน ศาลไม่ได้ตัดสินในเรื่องของเขตแดน เว้นแต่พื้นที่แคบมาก ๆ ศาลได้พยายามเน้นพื้นที่เล็กอย่างมาก ดังนั้น พื้นที่นี้ยังคำนวณอยู่ และศาลไม่ได้ระบุว่า แผนที่ 1 : 200,000 เป็นส่วนหนึ่งของคำตัดสินเมื่อปี พ.ศ. 2505 ตรงนี้ ตนถือว่าเป็นจุดที่มีความสำคัญอย่างมาก นอกจากนี้ศาลยังแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายหารือร่วมกันในการที่จะดูแลตัวปราสาทในฐานะเป็นมรดกโลก
ส่วนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลนั้น ยืนยันว่าคำตัดสินในครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางทะเล เพราะศาลไม่มีอำนาจในการวินิจฉัย หากไปดูในอนุสัญญา ค.ศ. 1904 และ 1907 ไม่มีทางกระทบทางทะเลได้เลย ขอให้สบายใจได้ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายที่อยากจะฝาก คือ คนไทยอย่าไปคิดว่าตัวเองเป็นคนชนะ หรือเสียใจว่าตัวเองสูญเสียดินแดน สำหรับคำตัดสินในวันนี้ถือว่าสิ้นสุดลงแล้ว แต่หากมีข้อขัดแย้งสามารถนำมาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาวันนี้ได้ภายใน 10 ปี แต่ต้องมีหลักฐานและข้อเท็จจริงใหม่
หลังมีคำวินิจฉัย นายฮอร์ นัมฮง รมว.การต่างประเทศ หัวหน้าคณะฝ่ายกัมพูชา เดินทางออกจากศาลในทันที โดยไม่มีสีหน้าเคร่งเครียดแต่อย่างใด พร้อมกับระบุว่าพอใจกับคำพิพากษา
ขณะที่ทีมกฎหมายของไทยปิดห้องหารือกันอย่างเคร่งเครียด ก่อนที่ทั้งหมดจะเดินทางออกจากศาล โดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า ผลการตัดสินของศาลออกมาเป็นที่น่าพอใจของทั้งสองฝ่าย ทางตนและกัมพูชาจะหารือในคณะกรรมาธิการร่วมทวิภาคีไทยกัมพูชา (เจซี)