เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
กปปส. นปช. คปท. พธม. ป.ป.ช. ศอ.รส. ...ได้ยินตัวย่อเต็มไปหมด แต่ไม่รู้กลุ่มไหนเป็นกลุ่มไหน ถ้าจำไม่ได้ ต้องอ่านแล้วล่ะ
ในช่วง 7-8 ปีหลังมานี้ ในวงการการเมืองประเทศไทย ได้มีการก่อตั้งกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย โดยมีจุดประสงค์ในการต่อต้านรัฐบาลชุดต่าง ๆ เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลชุดนั้นขาดความชอบธรรม หากบริหารประเทศต่อไปอาจจะเกิดความเสียหายได้ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีประชาชนคอยหนุนหลังในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และมีชื่อย่อของกลุ่มเพื่อทำให้เรียกกันอย่างง่าย ๆ เนื่องจากชื่อเต็มค่อนข้างจะยาวและจำยาก
แถมในช่วงนี้ สถานการณ์ทางการเมืองยิ่งร้อนแรง ตัวย่อต่าง ๆ เริ่มปรากฏในสื่อต่าง ๆ ถี่ขึ้น อาจจะทำให้ประชาชนที่ไม่ได้ติดตามการเมืองแบบเข้มข้น อาจจะสงสัยว่า ตัวย่อต่าง ๆ คืออะไร มีที่มาอย่าง ไร ด้วยเหตุนี้ ทางกระปุกดอทคอมจึงขอรวบรวมข้อมูลอีกครั้งว่า กลุ่มต่าง ๆ ทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา มีกลุ่มอะไรบ้าง เพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงเรื่องดังกล่าวมากขึ้น
คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)
คสช. คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ประกาศรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา เพื่อให้การบริหารประเทศ และการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และได้แต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนี้
- 1. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
- 2. พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
- 3. พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
- 4. พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
- 5. พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
- 6. พลเอกอุดมเดช สีตะบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
กอ.รส. (กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย)
กอ.รส. ถูกจัดตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หลังจากประกาศกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา โดย กอ.รส. ทำหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง มุ่งหวังที่จะลดความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย และป้องกันเหตุการณ์รุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยล่าสุด (21 พฤษภาคม 2557) ทาง กอ.รส. ได้ออกประกาศมาแล้วถึง 12 ฉบับ ทั้งประกาศคำสั่งและขอความร่วมมือในหลายเรื่อง เช่น ขอให้ระงับการถ่ายทอดออกอากาศโทรทัศน์ดาวเทียมและสถานีวิทยุชุมชน เป็นต้น
พธม. (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย)
จุดเริ่มต้นของ พธม. หรือ พันธมิตรฯ เริ่มต้นมาจากนายสนธิ ลิ้มทองกุล จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ช่วงปี 2548 โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่ามีการทุจริตในโครงการต่าง ๆ กันอย่างมโหฬาร ก่อนที่จะขยายตัวมาเป็นพันธมิตรฯ ในปี 2549 หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ขายหุ้นในกลุ่มบริษัท ชินคอร์ป ทั้งหมดให้บริษัท เทมาเส็ก ซึ่งทางพันธมิตรฯ มองว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน พร้อมกับประกาศขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างเป็นทางการ
สำหรับแกนนำพันธมิตรฯ ในรุ่นแรก มีทั้งหมด 5 คน ได้แก่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายพิภพ ธงไชย และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข
ทั้งนี้ สัญลักษณ์ของกลุ่มพันธมิตรฯ จะใส่เสื้อสีเหลือง มีมือตบเป็นเครื่องทุ่นแรงในการตบมือเวลาที่ผู้ปราศรัยกล่าวปราศรัยบนเวทีแล้วถูกใจ
ต่อมา พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ได้รัฐประหาร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมกับแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ใช้เวลาบริหารประเทศ 1 ปี จึงกลับมามีการเลือกตั้งอีกครั้งในปลายปี 2550 ผลปรากฏว่า พรรคพลังประชาชน ซึ่งคาดว่าเป็นพรรคสำรองของพรรคไทยรักไทย ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรค เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง ส่งผลให้นายสมัคร สุนทรเวช ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2551
ในเดือนพฤษภาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ จึงได้ออกมาต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชนอีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่า รัฐบาลมีพฤติกรรมส่อให้เห็นถึงการทุจริตหลายอย่าง เช่น คดีปราสาทพระวิหารที่ให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว หรือมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นต้น
การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ยกระดับมากขึ้นเรื่อย ๆ สามารถยึดพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลได้ในเดือนสิงหาคม และได้ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองในปลายเดือนพฤศจิกายน กระทั่งนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ที่ได้รับตำแหน่งต่อจากนายสมัคร พ้นจากตำแหน่ง สืบเนื่องมาจากพรรคพลังประชาชนถูกยุบ การชุมนุมจึงยุติลง จากนั้นการเมืองก็เปลี่ยนขั้วมาอยู่ที่ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ได้กลับมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ทำตามข้อเสนอเกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหาร ทว่ารัฐบาลก็ไม่ได้สนองตอบแต่อย่างใด นอกจากนี้ การชุมนุมในครั้งนี้ของกลุ่มพันธมิตรฯ มีผู้ชุมนุมและผู้ปราศรัยลดน้อยลงกว่าครั้งที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ และนอมินี เนื่องจากคาดว่า กลุ่มคนดังกล่าวมีความชื่นชอบในพรรคประชาธิปัตย์
ต่อมา รัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้ประกาศยุบสภาฯ ทางกลุ่มพันธมิตรฯ ก็รณรงค์ให้ประชาชนกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน เนื่องจากเห็นว่าพฤติกรรมของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยก็ไม่ต่างกัน ควรแสดงพลังให้เห็นว่า ประชาชนไม่ต้องการนักการเมืองทั้งสองพรรค เปิดทางเข้าสู่การปฏิรูปประเทศ ทว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยสามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้ มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงจากประเภทบัญชีรายชื่อประมาณ 11 ล้านเสียง
ในวันที่ 23 สิงหาคม 2556 กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ประกาศยุติบทบาทอย่างเป็นทางการ
นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ)
เดิมชื่อ นปก. หรือแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2550 เพื่อสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ต่อต้านการรัฐประหาร 2549 และขับไล่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีสีหลักคือสีแดง เสื้อสีแดง และเท้าตบ (ก่อนที่จะมาปรับเป็นหัวใจตบในภายหลัง) และมีนายวีระ มุสิกพงศ์ เป็นประธาน
นปช. ได้ยุติบทบาทลงไปหลังจากที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง ปี 2551 อย่างไรก็ตามก็มีกลับมารวมตัวกันบ้าง เพื่อต่อต้านกลุ่มพันธมิตรฯ ที่กำลังขับไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนอยู่ในขณะนั้น ซึ่งก็ได้มีการปะทะกัน มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ
กระทั่งเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองเป็นพรรคประชาธิปัตย์ นปช. ก็ได้จัดการชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาล ตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 โดย นปช. ได้บุกสถานที่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยา จนต้องยกเลิกการประชุม ก่อนที่สถานการณ์เริ่มลุกลามมาในกรุงเทพฯ มีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกดินแดง เป็นต้น แถมยังมีเหตุการณ์การทุบรถนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่กระทรวงมหาดไทยอีกด้วย สุดท้ายทหารจึงได้สลายการชุมนุม ทางแกนนำ นปช. จึงได้มอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ สถานการณ์จึงสงบลง
ต่อมาในเดือนมีนาคม 2553 นปช. ได้ประกาศชุมนุมอีกครั้ง เพื่อกดดันให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ โดยการชุมนุมครั้งนี้ เข้มข้นกว่าปี 2552 กล่าวคือ เริ่มชุมนุมตั้งแต่เดือนมีนาคมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ก่อนที่จะย้ายมาชุมนุมที่แยกราชประสงค์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการรับบริจาคเลือด นำเลือดไปเทหน้าบ้านนายอภิสิทธิ์อีกด้วย
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ก็ตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและทหารที่สี่แยกคอกวัว ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 18-19 คน ซึ่ง พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ก็เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ กระทั่งวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 รัฐบาลก็สามารถสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ได้เป็นผลสำเร็จ การชุมนุมจึงยุติลง หลังจากนั้น นปช. ได้มีการปรับโครงสร้างให้นางธิดา ถาวรเศรษฐ ภรรยา นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. ขึ้นมาเป็นประธาน นปช. แทน
ในปี 2554 พรรคเพื่อไทย สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้ นปช. ไม่ได้จัดการชุมนุมใหญ่อีก ยกเว้นการรวมตัวเป็นบางครั้งบางคราว เพื่อแสดงพลังให้เห็นว่าสนับสนุนรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ในช่วงที่มีกลุ่มมวลชนกลุ่มอื่นออกมาต่อต้าน เช่น ในช่วงมีผู้ออกมาชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทางกลุ่ม นปช. ก็ได้รวมตัวกันที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน เป็นต้น
อพส. (องค์การพิทักษ์สยาม)
นำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย เป็นประธาน มีจุดเริ่มต้นคือการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่สนามม้านางเลิ้ง เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2555 ก่อนที่จะประกาศยกระดับชุมนุมครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 ที่พระบรมรูปทรงม้า อย่างไรก็ตาม ในวันนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถสลายการชุมนุม สกัดไม่ให้คนเข้าร่วมชุมนุมได้ อีกทั้ง เสธ.อ้าย กลัวว่าประชาชนที่มาชุมนุมจะได้รับอันตราย จึงประกาศยุติการชุมนุมในที่สุด
กปท. (กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ)
เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 2556 พัฒนามาจาก อพส. โดยมาจากประชาชนทุกสาขาอาชีพที่ทนไม่ได้กับการทุจริตของรัฐบาล การทำเพื่อประโยชน์ตระกูลตัวเอง นโยบายประชานิยมที่มอมเมาประชาชน มี พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ เป็นประธาน พร้อมแนวร่วม เช่น นายไทกร พลสุวรรณ, ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ เป็นต้น ซึ่งในตอนแรก กปท. จะชุมนุมกันที่สวนลุมพินี กระทั่งในเดือนตุลาคม 2556 ได้เคลื่อนพลชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว. อย่างไรก็ตาม กปท. ก็ได้ยุติการชุมนุมที่หน้าทำเนียบฯ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2556 และกลับไปชุมนุมที่สวนลุมพินีตามเดิม เนื่องจากกลัวเกิดอันตราย
ทว่า เมื่อมีการชุมนุมค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทาง กปท. จึงได้ย้ายสถานที่การชุมนุมมาอยู่ที่แยกผ่านฟ้า ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ในปัจจุบัน
คปท. (เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย)
เป็นกลุ่มที่แยกตัวมาจาก กปท. นำโดยนายอุทัย ยอดมณี และนายนิติธร ล้ำเหลือ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการที่กลุ่ม กปท. ถอนตัวจากการปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล กลับไปชุมนุมที่สวนลุมพินีตามเดิม เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2556 โดยที่ คปท. ได้ย้ายไปชุมนุมที่แยกอุรุพงษ์แทน มีจุดมุ่งหมายในการขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คปท. ได้ย้ายสถานที่ชุมนุมที่สะพานมัฆวานฯ ก่อนที่จะย้ายไปชุมนุมที่แยกนางเลิ้ง, สะพานชมัยมรุเชษฐ์ ตามลำดับจวบจนบัดนี้
กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)
จุดเริ่มต้นก่อนที่จะมาเป็น กปปส. เริ่มต้นมาจากการชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่สถานีรถไฟสามเสน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ก่อนที่จะย้ายสถานที่การชุมนุมมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน จากนั้นก็ได้ยกระดับการชุมนุมจากการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นการขับไล่รัฐบาลแทน ชูธงการปฏิรูปประเทศให้ปลอดจากการทุจริต
ภายหลังจากการชูธงปฏิรูป ทางนายสุเทพก็ได้ประกาศยกระดับการชุมนุม เพื่อกดดันรัฐบาล โดยที่นำมวลชนบุกยึดกระทรวงต่าง ๆ ได้แก่ กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ก่อนที่จะนำมวลชนบุกยึดศูนย์ราชการเป็นลำดับต่อมา ซึ่งการบุกยึดกระทรวงครั้งนี้ ก็ได้ประสานกับกลุ่ม กปท. และ คปท. ด้วย ร่วมมือกันดาวกระจายหลายจุด ทั้งกระทรวงต่างประเทศ, กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น พร้อมกันนี้ ยังได้ดาวกระจายไปที่สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีช่องต่าง ๆ เพื่อให้ออกอากาศการอ่านคำแถลงการณ์ของนายสุเทพอีกด้วย
ทั้งนี้ ในวันที่ 1 ธันวาคม นายสุเทพได้ประกาศตั้งกลุ่ม กปปส. อย่างเป็นทางการ ซึ่งนายสุเทพ จะรั้งตำแหน่งเป็นเลขาธิการ กปปส. ชูธงการปฏิรูปประเทศ ตั้งสภาประชาชนที่ปลอดนักการเมือง ทำการแก้กฎหมายต่าง ๆ อาทิ กฎหมายการทุจริตต้องไม่มีอายุความ, ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อลดการผูกขาดอำนาจ เป็นต้น
กปปส. ยังคงเดินหน้ากดดันรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ต่อไป โดยพยายามบุกยึดสำนักงานตำรวจนครบาล (บช.น.) และทำเนียบรัฐบาลฯ ให้ได้ ซึ่งในวันที่ 2 ธันวาคม 2556 ได้มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างดุเดือด เป็นสงครามแก๊สน้ำตา แต่ว่าในวันนั้น กปปส. ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย ทว่าวันต่อมา กปปส. ก็สามารถเข้าไปที่ บช.น. และทำเนียบรัฐบาล ได้เป็นผลสำเร็จ เนื่องจาก พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ประกาศไม่สู้ งดการยิงแก๊สน้ำตา ส่งผลให้บรรยากาศคลี่คลายลงไปได้ระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดี วันที่ 9 ธันวาคม 2556 ทาง กปปส. ได้ประกาศรวมตัวกันอีกครั้ง โดยระดมพลเดินทางจาก 9 จุด อาทิ ศูนย์ราชการฯ, กระทรวงการคลัง, พรรคเพื่อไทย ฯ เดินทางเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อประกาศชัยชนะ ซึ่งในวันนั้นเอง นางสาวยิ่งลักษณ์ ก็ได้ประกาศยุบสภาตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อเลือกตั้งใหม่ ภายหลังจากที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งยกพรรค แต่ถึงอย่างไร แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศยุบสภา แต่ กปปส. ก็ยังคงเดินหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล และไม่หยุดชุมนุมแต่อย่างใด เนื่องจากเห็นว่า นายกรัฐมนตรี ต้องลาออกจากการรักษาการ เพื่อเปิดโอกาสให้มีนายกฯ พระราชทานตาม ม.7 ตั้งสภาประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศ
ภายหลังจากที่ กปปส. ปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาลได้ ก็ได้ใช้ยุทธวิธีเดินสายไปยังภาคเอกชน เพื่อชี้แจงการปฏิรูปประเทศ รวมถึงมีการพูดคุยกับทางกองทัพและตำรวจ ทำความเข้าใจต่อแนวทางการปฏิรูปและการตั้งสภาประชาชนด้วย
สปป. (สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย)
ภายหลังจากที่ กปปส. ผุดแนวคิดสภาประชาชนขึ้น โดยที่ตั้งเงื่อนไขว่า นางสาวยิ่งลักษณ์และคณะรัฐมนตรี ต้องลาออกจากตำแหน่งรักษาการก่อนนั้น ทางนักวิชาการนำโดยนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นายเกษียร เตชะพีระ และนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ฯ จึงได้ตั้ง สปป. ขึ้นมา เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดสภาประชาชน เนื่องจากเห็นว่าเป็นอำนาจนอกระบบ ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และถือว่าเป็นการทำรัฐประหาร
ศอ.รส. (ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย)
ศอ.รส. อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ในช่วงที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ศ. 2551 เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. นี้ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากความรุนแรง โดยล่าสุด หลังจากการประกาศกฎอัยการศึก ศอ.รส. ก็ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. สั่งยุบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้จัดตั้ง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ขึ้นแทน เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557
ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ)
เป็นคณะบุคคลที่ได้รับการ เสนอจากวุฒิสภา มีทั้งหมด 9 คนด้วยกัน แบ่งเป็นประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 8 คน ดำรงตำแหน่งคนละ 9 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. นั้น จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์เป็นสำคัญ เพราะ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนเกี่ยวกับการถอดถอนจากตำแหน่ง หรือฟ้องคดีต่อศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อีกทั้งครอบคลุมไปถึงการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่รัฐ
กกต. (สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง)
เป็นองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ควบคุมและจัดการการเลือกตั้งต่าง ๆ เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, สมาชิกวุฒิสภา, สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากปี 2535 นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ตระหนักถึงเรื่องการซื้อเสียงขายเสียง ฉะนั้นจึงหาองค์กรกลางคอยสอดส่องดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม จากเดิมการเลือกตั้งอยู่ภายใต้หน้าที่ ของ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ ก.ก.ต. จะมีจำนวน 5 คน ได้รับการเลือกสรรจากวุฒิสภา ดำรงตำแหน่งได้ 7 ปี และเป็นได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
ศรส. (ศูนย์รักษาความสงบ)
เป็นหน่วยงานทางการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาล่าสุด จากทางฝั่งรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 โดยที่เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว ทั้งนี้ ศรส. มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการดูแลความสงบในพื้นที่ที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้อำนวยการ อย่างไรก็ดี ศรส. กับ ศอ.รส. ต่างกันอย่างไรนั้น ศรส. จะเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจมากกว่า สามารถระดมกำลังจากทุกหน่วยงานทั้งทหารและตำรวจ เพื่อควบคุมสถานการณ์ได้ทันที
ทั้งหมดนี้ก็คือ ตัวย่อของกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งปรากฏอยู่ในข่าวการเมืองบ่อย ๆ ในช่วงที่การเมืองร้อนแรง ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า เหตุการณ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร
ขอบคุณข้อมูลจาก
, ect.go.th, nacc.go.th, เฟซบุ๊ก กองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ