เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก กสทช.
ทีวีดิจิตอลคืออะไร มีประโยชน์อย่างไรกับเรา แล้วเราจำเป็นต้องซื้อทีวีเครื่องใหม่หรือเปล่านะ หากใครกำลังสงสัยเรื่องของทีวีดิจิตอลอยู่ ตามมาฟังทางนี้เลย...
ช่วงปลายปี 2556 แวดวงสื่อมวลชนให้ความสนใจกับการเปิดประมูลทีวีดิจิตอลเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของวงการโทรทัศน์บ้านเรา ดังจะเห็นได้ว่าแต่ละบริษัทยอมทุ่มไม่อั้นรวมเม็ดเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ได้รับใบอนุญาต แต่สำหรับคนทั่วไปอย่างเรา ๆ แล้ว คงจะนึกสงสัยอยู่ในใจว่า "ทีวีดิจิตอล คืออะไร" แล้วถ้าเราจะชมต้องซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่เพื่อให้รองรับระบบดิจิตอลหรือเปล่าล่ะ ทุกคำตอบอยู่ที่นี่แล้ว !
ทีวีดิจิตอล คืออะไรกันนะ ?
ก่อนจะรู้จัก ทีวีดิจิตอล หรือโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (Digital Television) ต้องรู้ก่อนว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ระบบรับสัญญาณโทรทัศน์ในโลกใช้เป็นระบบอนาล็อก (Analog) แต่ในช่วงหลายปีหลังมานี้ เทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์ได้รับการพัฒนาอย่างมาก จึงถูกนำมาผสมผสานกับเทคโนโลยีของระบบรับสัญญาณโทรทัศน์ จนเกิดระบบดิจิตอลขึ้นนั่นเอง
แล้วรู้ไหมว่า ภาพและเสียงที่ส่งผ่านระบบดิจิตอลจะมีความคมชัดสูงกว่าระบบอนาล็อกมาก และยังส่งข้อมูลได้มากกว่าระบบอนาล็อกในหนึ่งช่องสัญญาณด้วย เรียกว่า "Multicasting" นั่นจึงทำให้หลาย ๆ ประเทศเริ่มเปลี่ยนการรับสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกมาเป็นโทรทัศน์ระบบดิจิตอลกันแล้ว อย่างที่เราเห็นว่าช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ มีผลิตภัณฑ์โทรทัศน์ Wide Screen และโทรทัศน์ความคมชัดสูง (HDTV) ออกมาตีตลาดกันมากมายเลยทีเดียว
แล้วทำไมถึงต้องเปลี่ยนจากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอลด้วยล่ะ ?
มีข้อตกลงตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีสารสนเทศอาเซียน หรือ AMRI (ASEAN Ministers Responsible for Information) ว่าทุกประเทศจะต้องแพร่ภาพโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอลได้ และต้องยุติการออกอากาศระบบอนาล็อกในช่วงปี 2558-2563 ดังนั้น ประเทศไทยก็ต้องเร่งผลักดันให้ทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้
แล้วอย่างที่ทราบแล้วว่า ระบบดิจิตอล จะช่วยให้เรารับชมโทรทัศน์ด้วยคุณภาพสัญญาณที่ดีขึ้น พร้อมเสียงในระบบ Surround ทำให้ปัญหาเรื่องสัญญาณคุณภาพต่ำลดน้อยลง นอกจากนี้ การที่มีทีวีดิจิตอลยังช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนในการรับชมข่าวสาร สาระความรู้มากขึ้น เพราะจะมีช่องรายการเพิ่มขึ้น และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ เนื่องจากต่างชาติจะให้ความสนใจในการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
ถ้าอ่านแล้วยังงง ๆ อยู่ ลองมาดูการเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของระบบอนาล็อก และระบบดิจิตอลกัน
ข้อเปรียบเทียบ | ระบบอนาล็อก | ระบบดิจิตอล |
ความคมชัดของภาพ |
ความคมชัดปกติ (SD) |
ความคมชัดปกติ (SD) และความคมชัดสูง (HD) |
การรับสัญญาณ | -สัญญาณไม่ดี ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีตึกสูง หรือภูเขาบังการรับสัญญาณโทรทัศน์ - เกิดภาพซ้อน หากมีสัญญาณอื่นส่งมารบกวน - เกิดสัญญาณรบกวน (Noise) ได้ เมื่อสัญญาณถูกขยาย - ภาพไม่คมชัด หากอยู่ใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือแม่เหล็ก |
- ไม่มีปัญหาเรื่องสัญญาณ แม้อยู่ในพื้นที่ที่มีตึกสูง หรือภูเขาบังสัญญาณโทรทัศน์ - ไม่เกิดปัญหาภาพซ้อน แม้มีสัญญาณอื่นส่งมารบกวน - สัญญาณรบกวนน้อย เพราะระบบจะไม่ขยายสัญญาณ แต่จะทบทวนสัญญาใหม่ให้กลับมาเหมือนเดิม - ไม่มีปัญหาเรื่องความคมชัด หากอยู่ใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือแม่เหล็ก |
การส่งสัญญาณ | - ส่งจากเสาอากาศ ดังนั้น เครื่องโทรทัศน์สามารถรับสัญญาณได้เลย - ส่งสัญญาณข้อมูลได้ช้าและน้อยกว่าระบบอนาล็อก |
- ส่งผ่านภาคพื้นดิน เครื่องโทรทัศน์ไม่สามารถรับสัญญาณได้โดยตรง ต้องมีจาน หรือกล่องแปลงสัญญาณเข้ากับทีวีก่อน จึงรับชมได้ - ส่งสัญญาณข้อมูลได้รวดเร็วและมากกว่าอนาล็อก |
การบีบอัดสัญญาณ | บีบอัดสัญญาณไม่ได้ จึงต้องใช้ความถี่มากในการส่ง ทําให้มีสถานีน้อย เช่น 1 ช่อง ก็ใช้ได้ 1 รายการเท่านั้น | มีระบบการบีบอัดสัญญาณ ทำให้สามารถส่งรายการได้มากขึ้น เช่น 1 ช่อง สามารถส่งทางภาคพื้นดินได้ถึง 4-6 รายการ และผ่านดาวเทียมได้ถึง 8-10 รายการ |
จำนวนช่องสัญญาณ | มีน้อย เพราะบีบอัดสัญญาณไม่ได้ | มีได้มาก เพราะบีบอัดสัญญาณได้ |
การรับชมรายการขณะเคลื่อนที่ | ไม่สามารถรับชมได้ |
รับชมขณะอยู่ในพาหนะเคลื่อนที่ได้ |
ความประหยัด |
เสียค่าใช้จ่ายมากกว่าระบบดิจิตอล |
ประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายกว่าระบบอนาล็อก เพราะเครื่องส่ง 1 เครื่อง ส่งได้หลายรายการ |
จำนวนช่องที่ออกอากาศ | ฟรีทีวี 6 ช่อง (3, 5, 7, 9, NBT, Thaipbs) | ฟรีทีวี 48 ช่อง (6 ช่องเดิมจากอนาล็อก+42 ช่องใหม่) |
ระบบเสียง | Stereo | Surround 5.1 |
ขนาดภาพ | 4:3 | 16:9 |
การพัฒนาในอนาคต | ไม่สามารถพัฒนาประสิทธิภาพให้เพิ่มขึ้นได้ จึงไม่เพียงพอการใช้งานที่มีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ |
สามารถพัฒนาประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้ เพื่อรองรับโทรทัศน์ในอนาคต เช่น โทรทัศน์จอกว้าง, HDTV |
ทีวีดิจิตอลของไทยจะมีทั้งหมดกี่ช่อง ?
สำหรับระบบโทรทัศน์รูปแบบใหม่ของประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2557 นี้ จะใช้ระบบ DVB-T2 ซึ่งเป็นระบบ Mpeg4 เป็นมาตรฐาน โดยทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้กำหนดให้เพิ่มช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินของประเทศไทยเพิ่มเป็น 48 ช่อง แบ่งเป็นช่องฟรีทีวีที่ออกอากาศผ่านระบบเดิม (อนาล็อก) จำนวน 6 ช่อง ส่วนอีก 42 ช่อง จะเป็นช่องฟรีทีวีที่ออกอากาศในระบบดิจิตอล
ทั้งนี้ จำนวน 48 ช่องนี้ ยังแบ่งออกได้อีกตามรูปแบบของช่อง คือ
ช่องรายการทีวีดิจิตอล หมวดสาธารณะ 12 ช่อง
ออกอากาศทางช่อง 1-12 แต่ในระยะแรกมี 4 ช่อง คือ
ช่อง 1 - CH5 (HD)
ช่อง 2 - NBT (HD)
ช่อง 3 - Thai PBS (HD)
ช่อง 4 - Thai PBS ช่องเด็กและครอบครัว (HD) เริ่มออกอากาศปี 2558
ช่องธุรกิจ 24 ช่อง ประกอบด้วย
ช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว 3 ช่อง คือ
ช่อง 13 - 3 Family
ช่อง 14 - MCOT Kids and Family
ช่อง 15 - LOCA
ช่องข่าวสารและสาระ 7 ช่อง คือ
ช่อง 16 - TNN24
ช่อง 17 - THV
ช่อง 18 - NEW TV
ช่อง 19 - Spring News
ช่อง 20 - Bright TV
ช่อง 21 - Voice TV
ช่อง 22 - Nation TV
ช่องวาไรตี้ ความคมชัดระดับปกติ (SD) 7 ช่อง คือ
ช่อง 23 - Workpoint Creative TV
ช่อง 24 - True4U
ช่อง 25 - G25
ช่อง 26 - NOW
ช่อง 27 - CH8
ช่อง 28 - 3 SD
ช่อง 29 - MONO 29
ช่องวาไรตี้ ความคมชัดสูง (HD) 7 ช่อง คือ
ช่อง 30 - MCOT HD
ช่อง 31 - ONE
ช่อง 32 - Thairath TV
ช่อง 33 - 3 HD
ช่อง 34 - Amarin TV HD
ช่อง 35 - BBTV CH7
ช่อง 36 - PPTV
ช่องบริการชุมชน 12 ช่อง
คือช่องทีวีเคเบิลท้องถิ่น หรือช่องรายการทีวีดาวเทียมท้องถิ่น ซึ่งแต่ละจังหวัดจะรับชมได้ในรายการที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพื้นที่นั้น ๆ
จะดูทีวีดิจิตอลได้อย่างไร ต้องซื้อโทรทัศน์ใหม่หรือเปล่า ?
คำถามยอดฮิตติดอันดับ 1 ที่หลายคนสงสัยกันมากว่าถ้าจะรับชมทีวีระบบดิจิตอล ต้องซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่หรือเปล่า ก่อนอื่นต้องสำรวจทีวีที่บ้านก่อนค่ะว่าเรารับชมโทรทัศน์ในระบบไหนอยู่
หากที่บ้านใช้โทรทัศน์ระบบอนาล็อก
ก็คือโทรทัศน์ที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบันนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นจอตู้หรือจอแบน ใช้เสาหนวดกุ้งหรือก้างปลา ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนโทรทัศน์ใหม่ให้เปลืองเงิน เพราะเพียงแค่ซื้อกล่องแปลงสัญญาณ หรือ Set Top Box ที่เป็นระบบ DVB-T2 มาเชื่อมต่อกับเครื่องโทรทัศน์เดิมผ่านช่อง AV สีแดงขาวเหลือง ก็จะช่วยเปลี่ยนสัญญาณจากระบบอนาล็อกมาเป็นระบบดิจิตอลได้แล้ว โดยมีหนวดกุ้งหรือเสาก้างปลาเป็นตัวรับสัญญาณ (ย้ำว่าต้องเป็นกล่องรับสัญญาณ DVB-T2 เท่านั้น ถ้าเป็นกล่องรับสัญญาณ DVB-T ธรรมดาจะรับสัญญาณไม่ได้นะคะ)
และถ้าทีวีของคุณมีช่องต่อ HDMI ก็จะยิ่งดี เพราะสามารถนำกล่องมาต่อผ่านช่องนี้เพื่อรับชมสัญญาณได้เลย ซึ่งจะให้ความคมชัดสูงกว่าการต่อผ่านช่อง AV แดงขาวเหลืองที่มีในโทรทัศน์รุ่นเก่า ๆ แม้ว่าจะสามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้เหมือนกัน แต่ภาพจะคมชัดน้อยกว่า
อ้อ ! ที่สำคัญคือ 1 กล่อง ต่อ 1 เครื่องโทรทัศน์เท่านั้น ถ้าที่บ้านมีทีวีหลายเครื่องแล้วอยากดูระบบดิจิตอลทุกเครื่อง ก็ต้องซื้อหลายกล่องไปด้วยนะ
หากที่บ้านใช้ทีวีที่รับสัญญาณดิจิตอลได้อยู่แล้ว
ถ้าเป็นแบบนี้ก็ต้องดูก่อนว่า ที่ว่ารับสัญญาณดิจิตอลได้นั้นเป็นการรับสัญญาณแบบไหน เพราะทีวีดิจิตอลที่จะเกิดขึ้นนี้จะรับสัญญาณระบบ DVB-T2 ซึ่งเป็นระบบใหม่ล่าสุด แต่เครื่องโทรทัศน์ที่วางขายก่อนหน้านี้มักจะรับสัญญาณดิจิตอลได้แค่ระบบ DVB-T ซึ่งเป็นระบบเก่ากว่า จึงไม่สามารถรับสัญญาณทีวีดิจิตอลระบบใหม่ได้ค่ะ
ถ้าเช่นนั้น บ้านไหนที่ใช้ระบบ DVB-T ก็ต้องซื้อกล่องรับสัญญาณมาแปลงเช่นกัน แต่ถ้าบ้านไหนเพิ่งซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่มาสด ๆ ร้อน ๆ และมีข้อความระบุว่า เป็น Built-In Tuners ระบบ DVB-T2 ก็สามารถรับชมทีวีดิจิตอลแบบชัด ๆ ได้เลย โดยไม่ต้องซื้อกล่อง เพียงแค่หาเสาอากาศ มาต่อกับทีวี แล้วจูนหาช่องดูได้เลย
ตรวจสอบโทรทัศน์รุ่นไหนเป็น iDTV สามารถชมทีวีดิจิตอลได้เลย
หากที่บ้านรับชมโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม หรือเคเบิ้ลทีวี
ถ้าโทรทัศน์ที่บ้านรับชมผ่านจานดาวเทียม (C-Band) หรือเคเบิล (KU-Band) ไม่ว่าจะเป็นจานดำ จานแดง จานเหลือง จานส้ม ก็สามารถดูทีวีดิจิตอลได้เลยค่ะ ไม่ต้องหาเสาอากาศ หรือกล่องอะไรมาติดเพิ่ม เพียงแค่ถอดปลั๊กแล้วเสียบใหม่ เพราะดาวเทียม หรือเคเบิล คือระบบดิจิตอลอยู่แล้ว และทาง กสทช. ได้กำหนดข้อบังคับตามกฎ Must Carry ให้แต่ละจานส่งสัญญาณดิจิตอลให้สมาชิกได้ชมด้วย หากไม่ทำจะผิดกฎหมาย ซึ่งแต่ละเจ้าจะอัพเดทช่องให้เองอัตโนมัติในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม คนที่ใช้โทรทัศน์ระบบเคเบิลจะสามารถชมรายการได้เพียงแค่ 36 ช่องเท่านั้น (คือ ช่องสาธารณะ 12 ช่อง + ช่องธุรกิจ 24 ช่อง) โดยจะไม่สามารถรับชมช่องบริการชุมชน 12 ช่องได้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับการออกอากาศในแต่ละพื้นที่ซึ่งระบบจานดาวเทียมและเคเบิลทีวีไม่สามารถดึงสัญญาณภาพไปให้บริการได้
แต่เรื่องสำคัญที่ชาวเคเบิลทีวีต้องทราบก็คือ หากกล่องรับสัญญาณที่คุณติดตั้งอยู่ตอนนี้ไม่ใช่กล่อง HD อยู่แล้วก็จะไม่สามารถเปิดดูช่อง HD ได้นะ จะดูได้แต่ช่องธรรมดา ถ้าต้องการดูช่อง HD ด้วยก็ต้องเปลี่ยนเป็นกล่องแบบ HD แทน หรือจะซื้อ Set Top Box DVB-T2 มาใช้แทนก็ได้ ถ้าสัญญาณทีวีดิจิตอลส่งมาถึงค่ะ
หากที่บ้านเป็นเคเบิลทีวีท้องถิ่น
ในต่างจังหวัด การติดเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่นแบบจ่ายรายเดือน เพื่อให้ดูฟรีทีวีได้ชัดเจน ก็เป็นที่นิยมกันหลายบ้าน ซึ่งเมื่อระบบดิจิตอลเกิดขึ้นมา เราก็สามารถดูทีวิจิตอลได้ด้วยการเชื่อมต่อสัญญาณผ่านกล่อง Set Top Box เช่นกัน
Set Top Box ราคาแพงไหม ?
ทีนี้ หลายคนคงถามต่อไปอีกว่า Set Top Box ราคาประมาณเท่าไร แล้วจะหาซื้อได้ที่ไหน เรื่องนี้อย่าเพิ่งใจร้อนจ้า เพราะทาง กสทช. จะนำเงินส่วนหนึ่งจากการประมูลทีวีดิจิตอลมาทำคูปองส่วนลดค่าซื้อกล่องแจกจ่ายให้กับประชาชนบ้านละ 1 คูปอง ซึ่งก็ต้องรอการเคาะมูลค่าราคาที่จะแจกให้อีกครั้ง เบื้องต้นคาดว่าจะแจกคูปองในราคา 690 บาท โดยคำนวนจากราคาเริ่มต้นการประมูล หารด้วยจำนวณประชากร
แต่หลายคนก็อาจจะสงสัยอีกว่า ทำไมไม่แจกเป็นกล่องแปลงสัญญาณมาเลย ทำไมต้องแจกคูปองส่วนลดด้วย นั่นก็เป็นเพราะ Set Top Box ที่วางขายในท้องตลาดมีอยู่หลายรุ่น แต่ละรุ่นก็มีฟังก์ชั่นการใช้งานแตกต่างกัน จึงต้องแจกเป็นคูปองให้ประชาชนไปเลือกซื้อ เลือกรุ่นกันตามความพอใจนั่นเอง โดยราคากล่องทั่วไปน่าจะขายอยู่ที่ราคาประมาณ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับสเปคและลูกเล่นต่าง ๆ
ส่วนวิธีการเลือกซื้อนั้น แนะนำว่าในการซื้อให้สังเกตสติ๊กเกอร์รับรองการตรวจสอบมาตรฐานของ กสทช. ที่ติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ รวมทั้งโลโก้และมาสคอตดิจิตอลทีวี เพื่อจะได้มั่นใจว่า ถ้าซื้อกล่องมาแล้วนำมาเชื่อมต่อดูทีวีดิจิตอลได้จริง
ตรวจสอบรายชื่อ Set Top Box ที่ กสทช. รับรอง
ถ้าเปลี่ยนเป็นทีวีดิจิตอลแล้ว ฟรีทีวี 3 5 7 9 NBT จะหายไปเลยหรือ ?
ถึงจะเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอลแล้ว ฟรีทีวีเดิม คือ ช่อง 3 5 7 9 NBT ที่ออกอากาศในระบบอนาล็อก ก็ยังสามารถดูได้เหมือนเดิมค่ะ ไม่ได้หายไปไหน และยังจะได้ช่องที่เป็นทีวีดิจิตอลซึ่งเป็นฟรีทีวีเหมือนกันแถมมาให้ดูเพิ่มด้วย
งั้นจะขอดูแต่ฟรีทีวีแบบเดิม ๆ ได้หรือเปล่าล่ะ ?
หากไม่ปรารถนาจะดูทีวีระบบดิจิตอล เพราะไม่อยากเปลี่ยนทีวีใหม่ และยังไม่อยากซื้อกล่องแปลงสัญญาณด้วย เพราะเห็นว่า ฟรีทีวี 3, 5, 7, 9, NBT ก็มีรายการให้ดูมากพออยู่แล้ว คุณก็ยังสามารถรับชมฟรีทีวีช่องเหล่านี้ได้ตามปกติไปจนถึงปี พ.ศ. 2563
เอ๊ะ...แล้วทำไมถึงดูได้แค่ปี 2563 ล่ะ? นั่นก็เพราะตามข้อตกลงของอาเซียน กำหนดว่า แต่ละประเทศสามารถส่งสัญญาณการแพร่ภาพแบบอนาล็อก ควบคู่ไปกับระบบดิจิตอลได้จนถึงปี 2563 หากพ้นปี 2563 ไปแล้ว แต่ละประเทศก็จะต้องตัดสัญญาณระบบอนาล็อกทิ้ง ถึงตอนนั้น ผู้ที่ไม่มีกล่องแปลงสัญญาณ และไม่มีทีวีที่มีระบบ DVB-T2 จะไม่สามารถรับสัญญาณฟรีทีวีแบบอนาล็อกได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้น อย่างไรเสียในอนาคตก็ต้องเปลี่ยนไปดูทีวีระบบดิจิตอลแน่นอน แต่จะเปลี่ยนช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง
อยากดูทีวีดิจิตอลแล้ว จะเริ่มออกอากาศเมื่อไร อยู่ต่างจังหวัดดูได้ไหม ?
ปกติแล้ว ทุกประเทศที่เปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิตอลจะยังไม่สามารถส่งสัญญาณให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ 100% ได้ทันที แต่จะใช้วิธีขยายโครงข่ายไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับประเทศไทยค่ะ ลองดูว่า ภายใน 2 ปีแรก ทีวีดิจิตอลจะออกอากาศในจังหวัดได้บ้าง
วันที่ 1 เมษายน 2557 ออกอากาศก่อนใน 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา เชียงใหม่ และสงขลา
วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ออกอากาศเพิ่มอีก 3 จังหวัด คือ อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และระยอง
วันที่ 1 มิถุนายน 2557 ออกอากาศครอบคลุมอีก 4 จังหวัด คือ สิงห์บุรี สุโขทัย ขอนแก่น และอุดรธานี
วันที่ 1 สิงหาคม 2557 ออกอากาศเพิ่มอีก 4 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด เชียงราย สระแก้ว นครสวรรค์
วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ออกอากาศเพิ่มอีก 4 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ตรัง ลำปาง
วันที่ 1 ธันวาคม 2557 ออกอากาศเพิ่มอีก 5 จังหวัด คือ สกลนคร สุรินทร์ น่าน เพชรบูรณ์ และประจวบคีรีขันธ์
รวมแล้วในปี 2557 นี้ จะออกอากาศครอบคลุม 24 จังหวัด สามารถรับชมได้ 17.60 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 22.9 ล้านครัวเรือน
ส่วนในปี 2558 นั้น จะมีสถานีเพิ่มอีก 15 จังหวัด ทำให้การรับชมทีวีดิจิตอลครอบคลุมร้อยละ 90-95 ของครัวเรือน ดังนี้
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 ออกอากาศเพิ่มอีก 5 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ชุมพร ตราด มุกดาหาร และตาก
วันที่ 1 เมษายน 2558 ออกอากาศเพิ่มอีก 5 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ระนอง เลย ชัยภูมิ แพร่
วันที่ 1 มิถุนายน 2558 ออกอากาศเพิ่มอีก 5 จังหวัด คือ สตูล อุตรดิตถ์ บึงกาฬ ศรีสะเกษ ยะลา
สำหรับจังหวัดที่เหลือ คาดว่าจะสามารถรับชมได้ไม่เกินสิ้นปี 2558
ดูทีวีดิจิตอลผ่านสมาร์ทโฟน-แท็บเล็ตได้จริงป่ะ ?
ยุคนี้สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่สุดไปแล้ว เพราะทำได้สารพัด และกับทีวีดิจิตอลเองก็ยังสามารถรับชมผ่านสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตได้ด้วย ถ้ามีจูนเนอร์ DVB-T2 ในตัวหรือติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณทีวีดิจิตอล เช่น แบบ USB dongle แต่จะรับชมช่องไหนได้บ้าง ความคมชัดแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับฟังก์ชั่นของเครื่องอีกเหมือนกัน ถ้ามีจูนเนอร์ DVB-T2 ในตัวหรือติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณทีวีดิจิตอลเช่น แบบ USB dongle
คงไม่เจอปัญหาจอดำเวลามีถ่ายทอดสดกีฬาเหมือนทีวีดาวเทียมแล้วใช่ไหม ?
คนที่ดูทีวีผ่านดาวเทียมคงเซ็งสุด ๆ ที่เจอจอดำทุกทีเวลามีถ่ายทอดสดรายการกีฬาสำคัญ ๆ ถ้าไม่ใช้เสาหนวดกุ้ง หรือก้างปลาก็จะดูการถ่ายทอดสดไม่ได้ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอลแล้ว ปัญหานี้จะหมดไป เพราะอย่าลืมนะคะว่า ทีวีดิจิตอลก็คือ "ฟรีทีวี" นั่นเอง ไม่ต่างจากเสาหนวดกุ้ง หรือก้างปลา จึงไม่ติดปัญหาลิขสิทธิ์ ทีนี้รายการไหน ๆ ก็ไม่เจอปัญหาจอดำอีกแล้ว
ทีวีดิจิตอลยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย แต่ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวทีเดียว ก็ต้องรอติดตามกันดูว่า จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างในวงการโทรทัศน์บ้านเรา หลังการเปิดตัวของทีวีดิจิตอล
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กสทช. , personnel.psu.ac.th , it24hrs.com ,