9 วิธีเตรียมพร้อมรับมือม็อบปิดกรุงเทพฯ อย่างมีสติ


9 วิธีเตรียมพร้อมรับมือม็อบปิดกรุงเทพฯ อย่างมีสติ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           ปิดกรุงเทพ 13 ม.ค. 57 bangkok shutdown มาเตรียมตัวรับมือม็อบปิดกรุงเทพฯ กันอย่างมีสติดีกว่า

           สถานการณ์การชุมนุมปิดกรุงเทพฯ ของ ม็อบ กปปส. (13 มกราคม 2557) อาจทำให้ชาว กทม. หลายคน เกิดความกังวลใจว่าจะมีความรุนแรงและเกิดยืดเยื้อขึ้นมาจนใช้ชีวิตตามปกติได้ลำบาก อีกทั้งยังงง ๆ ตั้งตัวไม่ถูกว่าควรรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร แต่อย่าเพิ่งตื่นตระหนกไปนะคะ วันนี้กระปุกดอทคอมจะมาบอกวิธีเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อรับมือกับการปิดกรุงเทพฯ อย่างมีสติ จะได้ไม่ต้องมีความกังวลอะไร ส่วนจะมีวิธีอะไรบ้าง ลองไปดูกันจ้า

1. เลี่ยงเส้นทางปิดถนน

           หลีกเลี่ยงเส้นทาง 8 จุด ปิดกรุงเทพฯ และเส้นทางใกล้เคียง เพื่อความสะดวกและไม่ต้องเผชิญกับรถติด หรือใช้บริการรถไฟฟ้า BTS และ MRT ทั้งนี้เส้นทางที่ถูกปิดมีดังนี้

           - แจ้งวัฒนะ 1 หน้าดีเอสไอ
           - แจ้งวัฒนะ 2 ติดถนนวิภาวดี
           - ห้าแยกลาดพร้าว
           - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
           - แยกปทุมวัน
           - ราชประสงค์
           - อโศก
           - ลุมพินี

2. เตรียมเงินสดให้พร้อม

           ควรกดเงินสดติดตัวไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อสำรองใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น สถานการณ์ยืดเยื้อ, ตู้ ATM เสีย, ถูกตัดไฟฟ้าจนตู้ ATM ใช้งานไม่ได้ หรือเงินถูกกดจนหมดตู้ ATM เป็นต้น ดังนั้นการกดเงินสดเอาไว้ในยามที่มีโอกาส จึงเป็นการเตรียมตัวที่ดี

3. ตุนอาหารและน้ำดื่ม

           เพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิตยามฉุกเฉิน จึงควรซื้ออาหารสดและอาหารแห้งติดบ้านเอาไว้ให้พอกับจำนวนสมาชิกในครอบครัว เผื่อเกิดยืดเยื้อหรือมีความรุนแรง จะได้ไม่ต้องเสี่ยงออกไปหาซื้ออาหาร อีกทั้งอาจถูกขึ้นราคาจนเกินจริง เพราะการปิดถนนบางจุดอาจทำให้รถขนส่งสินค้าเข้ามาส่งแถวบ้านคุณไม่ได้ ลองนึกถึงตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 2553 ดูสิ

4. ไฟฉาย เทียน และถังน้ำ


           หากมีการ ตัดน้ำ-ตัดไฟ ขึ้นมา คงจะใช้ชีวิตได้ลำบากและทุลักทุเล ดังนั้นทางที่ดีควรเตรียม ไฟฉาย เทียนไข และถังน้ำใบใหญ่เอาไว้รองน้ำใช้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะได้ไม่ต้องหาซื้อทีหลัง ซึ่งไฟฉายควรมีสำรองเอาไว้อย่างน้อย 2 อัน โดยใส่ถ่านเตรียมไว้ให้พร้อม ถ้ามีถ่านไฟฉายสำรองไว้ด้วยยิ่งดี รวมถึงเทียนไขก็ต้องมีติดบ้านเอาไว้หลาย ๆ แท่ง ส่วนถังน้ำก็ควรรองน้ำเอาไว้ให้เต็ม เพื่อใช้อาบน้ำในกรณีถูกตัดน้ำนั่นเอง

5. ตัดสินใจก่อนออกต่างจังหวัด

           ถ้าคุณคิดจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ในกรุงเทพฯ ด้วยการเดินทางออกต่างจังหวัด ก็ควรรีบเดินทางตั้งแต่เนิ่น ๆ จะได้ไม่ต้องเผชิญปัญหารถติดจากการที่หลายครอบครัวก็ตรงดิ่งไปต่างจังหวัดกันหมด โดยเฉพาะเส้นทางสายอีสาน-สายเหนือ และแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งยังต้องตัดสินใจให้ดีก่อนด้วยว่า การไปต่างจังหวัดครั้งนี้จะสามารถเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ได้หรือไม่

6. เติมน้ำมันรถให้เต็มถัง

           สำหรับคนมีรถไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หรือแม้กระทั่งรถที่ใช้แก๊ส ก็ควรจะเติมเชื้อเพลิงเหล่านั้นเอาไว้ให้เต็มถัง เผื่อปั๊มน้ำมันปิดกะทันหัน จะได้ไม่ต้องวนหาปั๊มน้ำมันกันให้วุ่น และพร้อมใช้รถในยามฉุกเฉินได้ทันทีด้วย

7. ยารักษาโรคอย่าให้ขาด

           สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวและต้องกินยาเป็นประจำ เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคหอบหืด โรคความดัน เป็นต้น ต้องเตรียมพบแพทย์และตุนยารักษาโรคเอาไว้ให้พร้อมอย่างน้อย 2 สัปดาห์ รวมถึงยาสามัญประจำบ้านอย่าง ยาแก้ปวด อุปกรณ์ทำแผล และอื่น ๆ อีกทั้งยังควรจดเบอร์โรงพยาบาลเอาไว้ใกล้ตัว จะได้โทรเรียกรถพยาบาลได้ทันในกรณีฉุกเฉิน

8. อุปกรณ์สื่อสารต้องมี


โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์บ้าน อินเทอร์เน็ต คือสิ่งอำนวยความสะดวกในยุคนี้ ดังนั้นเพื่อความสะดวกรวดเร็ว การเตรียมอุปกรณ์สื่อสารเหล่านี้เอาไว้ให้พร้อม ก็จะช่วยให้คุณสามารถติดต่อครอบครัว เพื่อนฝูง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามาช่วยเหลือหากเกิดเหตุฉุกเฉินได้ทันท่วงที อีกทั้งยังสามารถใช้อุปกรณ์สื่อสารเหล่านั้นรายงานสถานการณ์ได้ด้วยนะ

9. เบอร์ฉุกเฉินจำให้แม่น

           เบอร์โทรฉุกเฉินและสายด่วนต่าง ๆ ควรจำให้ขึ้นใจ และจดเอาไว้เพื่อความมั่นใจอีกครั้ง โดยให้จดตัวใหญ่ ๆ เห็นชัด ๆ ติดไว้ใกล้กับโทรศัพท์บ้าน หรือจะบันทึกเอาไว้เป็นสายด่วนในโทรศัพท์มือถือก็ได้ โดยเบอร์ฉุกเฉินที่ควรรู้ มีดังนี้

       - สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร. 1669

       - หน่วยแพทย์กู้ชีวิต วชิรพยาบาล โทร. 1554

       - แจ้งเหตุด่วน-เหตุร้ายทุกชนิด โทร. 191

       - แจ้งอัคคีภัย สัตว์เข้าบ้าน โทร. 199

       - การประปานครหลวง โทร. 1125

       - การไฟฟ้านครหลวง โทร. 1130

       - หน่วยบริการฉุกเฉิน สังกัด กทม. โทร. 1555

       - ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล โทร. 1111

         ได้รู้จักกับวิธีเตรียมตัวกันแล้ว ก็อย่าลืมตั้งสติและคอยติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่เรื่อย ๆ ด้วยนะคะ








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
9 วิธีเตรียมพร้อมรับมือม็อบปิดกรุงเทพฯ อย่างมีสติ อัปเดตล่าสุด 13 มกราคม 2557 เวลา 18:03:07 6,283 อ่าน
TOP
x close