x close

คนหาย-พลัดหลง อย่าเพิ่งตกใจ รู้ 10 เรื่องนี้ไว้ช่วยได้ !

10 เรื่องต้องรู้ เมื่อมีคนหายพลัดหลงในสถานการณ์ฉุกเฉิน

เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา

          เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ การก่ออาชญากรรม สถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ฯลฯ อันอาจทำให้คนใกล้ตัวเราสูญหายไป แล้วไม่สามารถติดต่อกันได้ ก็อย่าเพิ่งตกอกตกใจคิดเดาเหตุการณ์ไปในแง่ร้ายนะคะ ขอให้เรารีบตั้งสติก่อน แล้วคิดหาทางตามหาผู้ที่สูญหายไป ซึ่งอาจจะเป็นเพียงแค่การพลัดหลงชั่วคราวเท่านั้น

          แต่หากโชคร้ายเกิดเรื่องร้ายแรงขึ้นกว่าการหายตัวธรรมดา ๆ เราก็ต้องมีความรู้ไว้บ้างว่า ถ้าเกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้นควรทำอย่างไรดีจึงจะตามหาคนที่หายไปให้พบโดยเร็ว ซึ่งข้อมูลดี ๆ "10 เรื่องต้องรู้ เมื่อมีคนหายพลัดหลงในสถานการณ์ฉุกเฉิน" จาก "ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา"  ก็จะช่วยให้เราตั้งหลักรับมือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ลองจดจำกันไว้ เผื่อจำเป็นต้องใช้เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นค่ะ


          10 เรื่องต้องรู้ เมื่อมีคนหายพลัดหลงในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดย ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา

          1. คนหายจากสถานการณ์ฉุกเฉินมีหลากหลายประเภท ทั้งเหตุการณ์ น้ำท่วม ไฟไหม้ อุบัติเหตุ ภัยพิบัติ การหายตัวไป ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะขาดการติดต่อ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด จึงทำให้ญาติไม่สามารถติดต่อคนหายได้

          2. การติดตามคนหายในเบื้องต้น ควรเริ่มจากการพยายามติดต่อเพื่อนคนหายก่อน เพราะส่วนใหญ่คนหายอาจจะไปขอพักอาศัยตามบ้านเพื่อนหรือคนรู้จักเป็นลำดับแรกในกรณีที่คนหายปลอดภัย และหากติดต่อคนหายทางโทรศัพท์ไม่ได้ ญาติควรส่งข้อความไปหาคนหาย เพื่อให้ติดต่อกลับโดยด่วน เพราะเมื่อคนหายสามารถเปิดใช้โทรศัพท์ได้ คนหายจะทราบว่าทางบ้านกำลังติดตามหา ข้อความที่ส่งไปควรกระชับ สั้น ได้ใจความ ส่งครั้งเดียวพอ

          3. การติดตามข้อมูลในระบบเป็นเรื่องที่ควรดำเนินการในลำดับต่อมา ข้อมูลในระบบหมายถึงคนหายพลัดหลง อาจได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต การตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว ต้องตรวจสอบไปที่โรงพยาบาลในพื้นที่เกิดเหตุทุกแห่ง

          4. การติดตามคนหายในลำดับต่อมา ควรตรวจสอบไปตามศูนย์อพยพที่ทางการจัดเตรียมไว้ ส่วนใหญ่แล้วศูนย์อพยพ จะดูแลโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ) โทร 026373000 และหน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โทร 1300

          5. การแจ้งความคนหาย ควรพิจารณาเป็น 2 กรณี

          - กรณีเด็กและผู้สูงอายุ ควรไปแจ้งความคนหายได้เลยหลังจากหายไปผิดปกติ แม้ว่าจะหายไปไม่ถึง 24 ชม. ก็ตาม เพราะอาจเกิดเหตุร้ายกับเด็กและผู้สูงอายุที่หายไป

          - กรณีผู้ใหญ่ อาจรอให้หายไปครบ 24 ชม. ก่อน เนื่องจากอาจเป็นเพียงการขาดการติดต่อ เพราะไม่สะดวกในการใช้โทรศัพท์

          6. กรณีเด็กหายพลัดหลง เจ้าหน้าที่ตำรวจจะส่งเด็กไปยังบ้านพักเด็กและครอบครัว หรือสถานแรกรับเด็ก ส่วนผู้สูงอายุที่พลัดหลง เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะนำส่งไปยังสถานแรกรับคนไร้ที่พึ่ง โดยญาติคนหายสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์ประชาบดี โทร 1300

          7. หากคนหายเสียชีวิต ปกติแล้วตำรวจหรือโรงพยาบาลจะแจ้งกลับมาหาญาติ ตามรายละเอียดในเอกสารที่อยู่ติดตัวของผู้เสียชีวิต เว้นแต่ศพผู้เสียชีวิตจะไม่มีเอกสารใด ๆ ติดตัว กรณีนี้ ญาติสามารถสอบถามรายละเอียดไปยังสถานีตำรวจว่ามีศพไม่ทราบชื่อเสียชีวิตในพื้นที่หรือไม่ หรือติดต่อไปยังแผนกนิติเวช โรงพยาบาลประจำจังหวัดในพื้นที่เกิดเหตุ

          8. กรณีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยคนหายพลัดหลงเป็นคนไทยที่อาจประสบเหตุ ญาติสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือและรับทราบข่าวสารได้ที่กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ โทร 025751046-51

          9. การประกาศติดตามหาคนหายผ่านสื่อมวลชน และเครือข่ายสังคมออนไลน์ อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ควรตรวจสอบข้อมูลจากระบบต่าง ๆ จนแน่ใจว่าหาไม่พบ เนื่องจากการสื่อสารภาพคนหายผ่านสาธารณะ อาจกระทบต่อสิทธิของคนหาย ถ้าประสงค์จะติดตามคนหายผ่านสาธารณะสามารถติดต่อขอคำปรึกษาก่อนได้ที่ ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา โทร 029732236-7

          10. ในฐานะคนทำงานด้านการติดตามคนหายมากว่า 10 ปี เชื่อมั่นว่าภายหลังจากสถานการณ์ฉุกเฉินได้คลี่คายลง ทุกอย่างจะดีขึ้น คนหายอาจจะมีโอกาสได้ติดต่อกลับมา และเราเชื่อว่าจะคนหายทุกคนปลอดภัยครับ





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คนหาย-พลัดหลง อย่าเพิ่งตกใจ รู้ 10 เรื่องนี้ไว้ช่วยได้ ! อัปเดตล่าสุด 20 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 18:27:04 64,566 อ่าน
TOP