เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ SeeingMole5 สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม
นวลฉวี รุ่งเพชร คดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญอันโด่งดังกว่าครึ่งศตวรรษ มาย้อนรอย คดีนวลฉวี หญิงสาวที่ถูกสามีฆ่า ปิดตำนานรักหึงหวง
ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง สำหรับคดีสะเทือนขวัญอย่าง "นวลฉวี" ที่นักแสดงสาวอย่าง "กรีน อัษฎาพร สิริวัฒน์ธนกุล" สปิริตแรงกล้า ขอเล่นฉากสุดหวาดเสียวกระโดดน้ำฆ่าตัวตายจากสะพานนวลฉวี แบบไม่ใช้สแตนด์อิน ในละครเรื่อง "คีตโลกา" งานนี้หลายคนถึงกับยกนิ้วให้ในความกล้าหาญของสาวกรีน เนื่องจากสะพานแห่งนี้เป็นสะพานที่หมออธิป สุญาณเศรษฐกร ใช้ถ่วงน้ำร่างของ "นวลฉวี" ภรรยาของเขา ที่เขาปลิดชีพเธออย่างเลือดเย็น...
เมื่อพูดถึงชื่อ "นวลฉวี" แล้ว หลายคนอาจจะเคยได้ยินข่าวดังของคดีนี้ที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 60 ปีมาแล้ว และอาจจำได้เพียงเลือนราง วันนี้เราจึงขอย้อนรอยคดีดัง "นวลฉวี" ให้ได้ทราบกันอีกครั้ง
สำหรับ คดี "นวลฉวี" เป็นที่กล่าวขานอย่างมาก เนื่องจากเป็นคดีแรกที่หมอกลายเป็นฆาตกร อีกทั้งยังเป็นฆาตกรฆ่าภรรยาของตัวเอง..แถมยังให้การและวางแผนได้อย่างแยบยลเลยทีเดียว
นวลฉวี เพชรรุ่ง เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2475 ที่จังหวัดลพบุรี ในครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างร่ำรวย ลูกทุกคนได้รับการศึกษาและมีการงานดีกันหมด ส่วนนวลฉวีก็เป็นสาวรูปร่างผอมบาง ตัวเล็ก หน้าตาพอใช้ สอบติดพยาบาลที่ศิริราชพยาบาล และจบการศึกษาในปี 2497 จากนั้นเธอก็ประกอบอาชีพพยาบาลสถานพยาบาลยาสูบ จนกระทั่งไปเที่ยวทางเหนือและได้พบรักกับ หมออธิป สุญาณเศรษฐกร ซึ่งขณะนั้นเป็นแพทย์อยู่โรงพยาบาลรถไฟ ซึ่งก็ได้ส่งจดหมายติดต่อกันเป็นระยะ ๆ จนทั้งคู่กลายเป็นสามีภรรยาทางพฤตินัย
เรื่องราวความรักของทั้งคู่ดำเนินไปอย่างหวานชื่น แต่ก็ต้องมีจุดที่ทำให้แตกร้าว เนื่องจากหมออธิปมีผู้หญิงเข้ามาพัวพันมากมาย ทำให้นวลฉวีเกิดความรู้สึกหึงหวงหมออธิป จึงแสดงความเป็นเจ้าของด้วยการไปนั่งเฝ้าหมออธิปในที่ทำงาน และตามไปทุกหนทุกแห่งเหมือนเงาตามตัว ทำให้หมออธิปเริ่มรู้สึกรำคาญ แต่ในที่สุดหมออธิปก็ตัดปัญหาการถูกตามตัว ด้วยการจดทะเบียนสมรสกับนวลฉวี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2502
ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะไปได้ด้วยดี แต่หมออธิปกลับจดทะเบียนซ้อนกับ นางสาวสมบูรณ์ สืบสมาน นักศึกษาสาวที่เข้ามาพัวพัน ในวันที่ 17 มีนาคม 2502 ซึ่งการจดทะเบียนสมรสกับนวลฉวีนั้น ฝ่ายนางสาวสมบูรณ์ก็รู้ แต่ด้วยความอยากตัดปัญหาก็เลยจดทะเบียนซ้อนไป.. และแล้วก็เป็นจุดเริ่มต้นของความหึงหวง นวลฉวีกับนางสาวสมบูรณ์มีปากเสียงกันหลายครั้ง จนโรงพยาบาลที่หมออธิปทำงานอยู่ต้องออกกฎไม่ให้ผู้หญิงทั้ง 2 คนเข้าไปข้างใน
ขณะที่นวลฉวีถึงแม้จะได้ทะเบียนสมรส แต่ก็ไม่ได้แต่งงานกับหมออธิป อีกทั้งหมออธิปยังไม่สนใจเธอเหมือนแต่ก่อน เธอหวังที่จะมัดใจหมออธิปด้วยการบอกที่บ้านว่าเธอกับหมออธิปจะแต่งงานกัน พร้อมเชิญครอบครัวหมอธิปมากินข้าวที่บ้าน แต่กลับถูกหมออธิปตอกกลับว่า ยังไม่มีการแต่งงานใด ๆ เกิดขึ้น และเรื่องนี้นวลฉวีก็คิดไปเอง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้นวลฉวีคิดที่จะหอบเสื้อผ้าไปอยู่บ้านของหมออธิป แต่เธอกลับไม่ได้บอกล่วงหน้าไว้ก่อน ทำให้หมออธิปไล่เธอกลับบ้าน และเรื่องราวเจ็บช้ำทุกอย่างของเธอนั้น นวลฉวีได้เขียนลงไปในสมุดบันทึก ซึ่งต่อมากลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการจับฆาตกร
นวลฉวีและหมออธิปมีปากเสียงทะเลาะเบาะแว้งกันเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 9 กันยายน 2502 นวลฉวีได้โทรศัพท์ไปคุยกับ ธวัช เพื่อนชาย บอกว่าเธอกับหมออธิปทะเลาะกันอีกแล้ว แต่จะคุยรายละเอียดให้ฟังอีกครั้งหลังเลิกงาน โดยนวลฉวีได้นัดธวัชมาคุยกันที่โรงพยาบาลยาสูบ แต่เมื่อธวัชไปตามที่นัดหมายกลับไม่เจอนวลฉวี จวบจนเวลา 1 ทุ่ม นวลฉวีก็ยังไม่มา ซึ่งยามระบุว่า เห็นนวลฉวีแต่งตัวออกไปข้างนอกนานแล้ว และยังไม่เห็นกลับมาอีกเลย โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าวันนั้นจะเป็นวันสุดท้ายที่จะได้เห็นนวลฉวี
ต่อมาช่วงเช้าวันที่ 12 กันยายน 2502 เวลา 08.45 น. มีคนพบศพนวลฉวีที่สะพานนนทบุรี ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมพื้นที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เข้ากับตำบลบางขะแยง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โดยหลังจากนั้นศพก็ถูกส่งไปชันสูตรโดยด่วน ซึ่งผลการชันสูตรระบุว่า สาเหตุการตายเนื่องมาจากถูกแทงที่สีข้างข้างขวาและด้านหลังซ้าย รวม 3 แผล ก่อนที่จะสิ้นใจและถูกจับโยนทิ้งลงสะพานนนทบุรี ที่น่าสงสัยก็คือ แม้นวลฉวีจะถูกแทง 3 แผล แต่เสื้อผ้ากลับไม่มีร่องรอยฉีกขาด
และแน่นอนว่าเมื่อนวลฉวีเสียชีวิต ตำรวจก็มุ่งประเด็นไปที่หมออธิปทันที เนื่องจากก่อนหน้านี้มีปากเสียงกันบ่อย แต่หมออธิปตอบคำถามแบบสั้น ๆ ว่า นวลฉวีเป็นภรรยาของเขาจริง แต่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน หลังจากนั้นตำรวจก็สอบสวนหมออธิปอย่างละเอียด นอกจากนี้ยังพบรอยข่วนที่ข้อมือของหมอ ซึ่งตำรวจก็ได้แจ้งข้อหาหมออธิปเอาไว้ก่อน แต่หมออธิปก็ยังปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ได้ทำ ในที่สุดแล้วก็จำนนต่อพยานหลักฐาน หมออธิปจึงถูกจับในข้อหาฆาตกรรม
อย่างไรก็ดี หมออธิป ได้เปิดเผยภายหลังว่า ในวันที่ 10 กันยายน 2502 เขาได้นัดนวลฉวีไปพบที่โรงพยาบาลยาสูบ ขณะเดียวกันในเวลาบ่ายโมงกว่า ๆ นายยง นายชูยศ และนายชูเกียรติ ผู้ร่วมลงมือฆ่า ได้เดินทางไปดูสถานที่ทำการฆ่า โดยเตรียมมีดปลายแหลม ผ้าพลาสติก สายไฟ และไม้ไผ่เพื่อหามศพ
จนกระทั่งเมื่อเวลา 5 โมงเย็น นายยง นายชูยศ และนายชูเกียรติ ได้พากันมาซุ่มที่ห้องน้ำเพื่อรอดูหมออธิปฆ่านวลฉวี โดยหมออธิปได้พานวลฉวีมาทางหน้าบ้านของนายชูยศ ก่อนที่จะพาเข้าห้องครัวและปิดประตูลงกลอน ซึ่งหมออธิปรอจังหวะที่นวลฉวีเผลอจึงโปะยาสลบและลงมือฆ่า หลังจากที่นวลฉวีสิ้นใจ 3 คนที่เหลือก็ได้เข้ามาหามศพออกไปหลังบันไดบ้าน ส่วนนายมงคลได้ทำความสะอาดจุดสังหาร ก่อนที่จะขนย้ายศพและโยนทิ้งลงสะพานนนทบุรี และนับตั้งแต่เจอศพนวลฉวี สะพานดังกล่าวก็ถูกเรียกขานว่า "สะพานนวลฉวี" เป็นต้นมา
ทั้งนี้ เมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณา หมออธิปถูกแจ้งข้อหาฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฐานก่อให้คนอื่นกระทำความผิดให้ต้องโทษประหารชีวิต ขณะที่ นายยง นายชูยศ และนายชูเกียรติ รอดคุกเพราะไม่มีหลักฐาน ส่วนนายมงคล ถูกแจ้งข้อหาระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และริบมีดสั้นปลายแหลมที่ใช้กระทำผิดเสีย
อย่างไรก็ดี หมออธิปก็ถูกจำคุกเพียง 1 ปีเศษเท่านั้น เนื่องจากได้อานิสงส์จากการอภัยโทษ ประกอบกับพ่อแม่วิ่งเต้นให้ และหลังจากหมออธิปพ้นโทษ ชีวิตที่เหลือก็เข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลบ่อยครั้ง เนื่องจากมีโรคติดตัวตอนอยู่ในคุก
ทั้งนี้ ในหนังสือ "หมอฆ่าเมีย เบื้องหลังคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ" ได้ระบุไว้ว่า....จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต หมออธิปนอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล และได้เอ่ยปากก่อนตายเรื่องนวลฉวีว่า.. "นวลฉวี พี่ขอโทษ พี่เป็นคนฆ่าเธอเองแหละ................" พูดจบหมออธิปก็สิ้นลมไปอย่างสงบ
แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานกว่า 60 ปีแล้ว แต่คดีฆาตกรรมอันลือลั่นนี้ยังคงถูกพูดถึงต่อกันเรื่อยมาทุกครั้งที่เกิดคดีอาชญากรรมที่แพทย์ลงมือฆ่าภรรยาของตัวเอง ขณะเดียวกัน คดีนวลฉวี ก็ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ออกฉายเมื่อปี 2528 และยังมีการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ในปี 2546