x close

อาฟเตอร์ช็อก คืออะไร หลังแผ่นดินไหวใหญ่ ทำไมถึงสั่นสะเทือน

อาฟเตอร์ช็อก คืออะไร หลังแผ่นดินไหวใหญ่ ทำไมถึงสั่นสะเทือน

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

            อาฟเตอร์ช็อก คืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมถึงเกิดแผ่นดินไหวเป็นอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายครั้ง หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ คำตอบอยู่ที่นี่แล้ว !

            เหตุการณ์แผ่นดินไหวเชียงราย ขนาด 6.3 แมกนิจูด ที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 18.08 น. วันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ถือเป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 100 ปีที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือนประชาชน สิ่งปลูกสร้าง ถนนหนทาง ฯลฯ แล้ว ยังกระทบต่อจิตใจของผู้ประสบเหตุด้วย เพราะหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ชาวบ้านก็ยังคงหวาดผวากับอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดแรงสั่นสะเทือนตามมาอีกหลายร้อยครั้งตลอดทั้งวันและทั้งคืน จนไม่กล้ากลับเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้าน เพราะแรงสั่นสะเทือนอาจทำให้บ้านถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ

            มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า อาฟเตอร์ช็อก (After Shock) คืออะไร แล้วทำไมหลังเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จึงต้องเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมา ถ้าอยากรู้ตามมาหาคำตอบไปด้วยกัน

            อาฟเตอร์ช็อก (After Shock) หรือชื่อภาษาไทยตามที่บัญญัติไว้ในพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เรียกว่า "แผ่นดินไหวตาม" หมายถึง แผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้ง หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ซึ่งจะเกิดในพื้นที่เดียวกันกับแผ่นดินไหวใหญ่ อาจจะเกิดทันทีในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ หรืออาจเกิดหลัง 1-2 วัน หรือเป็นเดือนก็ได้ ขึ้นอยู่กับขนาดของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น

            ส่วนที่ว่าทำไมจึงเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาหลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่นั้น เป็นเพราะเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น เปลือกโลกและหินต่าง ๆ ใต้ผิวโลกที่อยู่รอบ ๆ ศูนย์กลางแผ่นดินไหวจะเกิดการขยับตัว ดังนั้น เมื่อแผ่นดินหยุดไหวแล้ว เปลือกโลกจะพยายามปรับตัวให้คืนสู่สภาวะปกติ ทำให้เกิดความไหวสะเทือนตามมาเป็นระยะ ๆ จนเมื่อเปลือกโลกปรับสู่สภาพสมดุลได้แล้ว อาฟเตอร์ช็อกก็จะหยุดลงเอง

            ทั้งนี้ เราไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้นแล้วจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกกี่ครั้ง และมีขนาดเท่าไรบ้าง เพราะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น หากเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาก ก็อาจเกิดอาฟเตอร์ช็อกจำนวนครั้งมากกว่าและต่อเนื่องนานกว่าแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงน้อยกว่า 

            แต่ถึงกระนั้นก็มี "กฎของกูเตนเบิร์ก-ริกเตอร์" (Gutenberg–Richter law) เคยคำนวณไว้ว่า หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 จำนวน 1 ครั้ง จะเกิดอาฟเตอร์ช็อก ขนาด 5.0 ราว 10 ครั้ง ขนาด 4.0 ราว 100 ครั้ง ขนาด 3.0 ราว 1,000 ครั้ง และยังเกิดขนาดต่ำกว่า 3.0 กว่า 10,000 ครั้ง ซึ่งเป็นระดับที่คนจะไม่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนแล้ว 

            และนอกจากอาฟเตอร์ช็อกแล้ว ยังมีศัพท์อีก 2 คำที่เราควรรู้จัก ก็คือ ฟอร์ช็อก (Fore Shock) หรือแผ่นดินไหวนำ กับ เมนช็อก (Main Shock) หรือแผ่นดินไหวหลัก

             ฟอร์ช็อก (Fore Shock) หรือแผ่นดินไหวนำ คือแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่สั่นเตือนล่วงหน้าก่อนเกิดแผ่นดินไหวหลัก (Main Shock) จะเกิดในบริเวณเดียวกับแผ่นดินไหวหลัก และอาจเกิดก่อนล่วงหน้าเพียงไม่กี่นาที ชั่วโมง เป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ก็ได้

             เมนช็อก (Main Shock) หรือแผ่นดินไหวหลัก คือ แผ่นดินไหวที่มีขนาดความรุนแรงมากที่สุดในช่วงเวลานั้น ๆ โดยแผ่นดินไหวที่มีขนาดเล็กกว่าและเกิดก่อนเมนช็อก เราจะเรียกว่า ฟอร์ช็อก ส่วนแผ่นดินไหวที่ขนาดเล็กกว่าและเกิดหลังเมนช็อก เราจะเรียกว่า อาฟเตอร์ช็อก

            ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่หนึ่งเกิดแผ่นดินไหวในช่วงระยะเวลาหนึ่งต่อเนื่องกัน 6 ครั้ง วัดระดับความสั่นสะเทือนได้ 4.0, 5.2, 6.1, 5.0, 4.1, 3.5 แมกนิจูด ตามลำดับ แสดงว่า ในตอนที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งแรก (4.0 แมกนิจูด) เราอาจจะคิดว่านี่คงเป็นเมนช็อก แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอีก เท่ากับว่า การเกิดแผ่นดินไหวครั้งแรกคือ ฟอร์ช็อก 
            
            ทั้งนี้ แผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในครั้งที่ 3 (6.1 แมกนิจูด) ครั้งนี้จะเรียกว่า "เมนช็อก" เลยทำให้แผ่นดินไหวครั้งแรก (4.0 แมกนิจูด) และแผ่นดินไหวครั้งที่ 2 (5.2 แมกนิจูด) กลายเป็น "ฟอร์ช็อก" ส่วนแผ่นดินไหวครั้งที่ 4 (5.0 แมกนิจูด) ครั้งที่ 5 (4.1 แมกนิจูด) ครั้งที่ 6 (3.5 แมกนิจูด) มีขนาดเล็กกว่าการเกิดแผ่นดินไหวครั้งที่ 3 เพราะฉะนั้นนี่ก็คือ "อาฟเตอร์ช็อก" นั่นเอง





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาฟเตอร์ช็อก คืออะไร หลังแผ่นดินไหวใหญ่ ทำไมถึงสั่นสะเทือน อัปเดตล่าสุด 7 พฤษภาคม 2557 เวลา 20:15:10 81,939 อ่าน
TOP