วันอาสาฬหบูชา 2568 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม กับเหตุการณ์สําคัญทางพระพุทธศาสนา


          ประวัติวันอาสาฬหบูชา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่มีเหตุการณ์สำคัญ และเป็นวันหยุดราชการ สำหรับวันอาสาฬหบูชา 2568 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม ประวัติวันอาสาฬหบูชา ความสำคัญ และกิจกรรมมีอะไรบ้าง มาดูกัน

วันอาสาฬหบูชา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8

         สำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน คงทราบกันดีว่า ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี จะตรงกับวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกหนึ่งวัน นั่นคือ "วันอาสาฬหบูชา" ซึ่งในปี 2568 วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม (ขึ้น 15 คํ่า เดือน 8) แต่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบความเป็นมาเกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชาเท่าใดนัก ดังนั้น วันนี้เรามี ประวัติวันอาสาฬหบูชา มาฝากกันค่ะ 


ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา


          ทั้งนี้ คำว่า "อาสาฬหบูชา" สามารถอ่านได้ 2 แบบ คือ อา-สาน-หะ-บู-ชา หรือ อา-สา-ละ-หะ-บู-ชา ซึ่งจะประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ อาสาฬห ที่แปลว่า เดือน 8 ทางจันทรคติ กับคำว่า บูชา ที่แปลว่า การบูชา เมื่อนำมารวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน 8 หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน 8 

วันอาสาฬหบูชา ประวัติ


         วันอาสาฬหบูชา คือ ตามพุทธประวัติพระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกหลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน โดยแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ จนพระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา จึงถือว่าวันนี้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือมีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช 45 ปี


          ทั้งนี้ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 เรียกว่า "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม ซึ่งหลังจากปฐมเทศนา หรือเทศนากัณฑ์แรกที่พระองค์ทรงแสดงจบลง พระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีที่เรียกว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" พระโกณฑัญญะจึงได้เป็น พระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อมา พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้อุปสมบทตามลำดับ 

พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5

วันอาสาฬหบูชา หลักธรรมสำคัญ


          สำหรับใจความสำคัญของการปฐมเทศนา มีหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ คือ 

          1. มัชฌิมาปฏิปทา


          มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด 2 อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ

           การหมกมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่าเป็นการหลงเพลิดเพลินหมกมุ่นในกามสุข หรือกามสุขัลลิกานุโยค 

           การสร้างความลำบากแก่ตน ดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค

         ดังนั้น เพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่ 

      
            1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง 

            2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม 
 
            3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต 

            4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต 

            5. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต 

            6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี 

            7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด 

            8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคง ไม่ฟุ้งซ่าน



          2. อริยสัจ 4


          อริยสัจ 4 แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือบุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่  
    
            1. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้ กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด  
    
            2. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ  
    
            3. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา  

            4. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการดังกล่าวข้างต้น 

วันอาสาฬหบูชา กิจกรรมมีอะไรบ้าง


การทำบุญ ตักบาตร หนึ่งในกิจกรรมวันอาสาฬหบูชา


          
พิธีกรรมโดยทั่วไปที่นิยมกระทำในวันนี้ คือ การทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และสวดมนต์ ในตอนค่ำก็จะมีการเวียนเทียนที่เป็นการสืบทอดประเพณีอันดีงามของไทยเรา ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรเข้าวัดเพื่อน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อีกทั้งยังเป็นการช่วยชะล้างจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใส จะได้มีร่างกายและจิตใจที่พร้อมสำหรับการดำเนินชีวิตในยุคที่ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นอย่างนี้...

เช็ก ปฏิทิน 2568 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ

บทความที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา


ขอบคุณข้อมูลจาก : ธรรมะไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันอาสาฬหบูชา 2568 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม กับเหตุการณ์สําคัญทางพระพุทธศาสนา อัปเดตล่าสุด 17 มกราคม 2568 เวลา 15:48:07 2,212,684 อ่าน
TOP
x close