ประวัติวันออกพรรษา
เมื่อเทศกาลเข้าพรรษาผ่านพ้นไปถึง 3 เดือน ก็จะเป็นช่วงเวลาของ "วันออกพรรษา" ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดระยะการจำพรรษา หรือออกจากการอยู่ประจำที่วัดในช่วงฤดูฝนตลอด 3 เดือนของพระภิกษุสงฆ์ โดยวันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า "วันมหาปวารณา" คำว่า "ปวารณา" แปลว่า อนุญาตหรือยอมให้
ทั้งนี้ วันออกพรรษา พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ที่เรียกว่า มหาปวารณา ในวันออกพรรษา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ เนื่องจากในระหว่างที่เข้าพรรษาอยู่ด้วยกัน พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข และการให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนก็จะทำให้รู้ข้อบกพร่องของตน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันได้ด้วย พระผู้ใหญ่ก็กล่าวตักเตือนพระผู้น้อยได้ และพระผู้มีอาวุโสน้อยก็สามารถชี้แนะถึงข้อไม่ดีของพระผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แม้พระผู้ใหญ่จะมีอาวุโสมากกว่า แต่ท่านก็มิได้สำคัญตนผิดคิดว่าท่านทำอะไรแล้วถูกไปหมดทุกอย่าง เพื่อเป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นวิธีการคอยสังวร คือ ตามระวัง ไม่ประมาท ไม่ยอมให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นได้ เหมือนล้อมรั้วไว้ก่อนที่วัวจะหาย ไม่ว่าจะอยู่ในเทศกาลเข้าพรรษาหรือออกพรรษา พระท่านจะประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ตามระบอบของพระธรรมวินัยอยู่ตลอดเวลา
สำหรับคำกล่าว ปวารณา มีคำกล่าวเป็นภาษาบาลี ดังนี้ "สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิ" มีความหมายว่า "ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียใหม่ให้ดี"
เมื่อทำพิธีวันออกพรรษาแล้ว พระภิกษุสงฆ์สามารถจาริกไปในสถานที่ต่าง ๆ หรือค้างคืนที่อื่นได้โดยไม่ผิดพระพุทธบัญญัติ และยังได้รับอานิสงส์ก็คือ
- ไปไหนไม่ต้องบอกลา
- ไม่ต้องถือผ้าไตรครบชุด
- มีสิทธิ์รับลาภที่เกิดขึ้นได้
- มีโอกาสได้อนุโมทนากฐิน ที่จะสามารถขยายเวลาของอานิสงส์ออกไปอีก 4 เดือน
ประเพณีเกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา
ประเพณีเกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา นิยมปฏิบัติอยู่ 2 อย่าง คือ
1. ประเพณีตักบาตรเทโว หลังวันออกพรรษา
ความเป็นมาของประเพณีตักบาตรเทโว
สมัยพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม และเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาโดยจำพรรษาอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเวลา 1 พรรษา และเมื่อออกพรรษาแล้วพระองค์ได้เสด็จกลับยังโลกมนุษย์ ณ สังกัสสะนคร การที่พระพุทธองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกตามศัพท์ภาษาบาลีว่า "เทโวโรหณะ" ในครั้งนั้นบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธาเลื่อมใส เมื่อทราบข่าวต่างพร้อมใจกันไปรอตักบาตรเพื่อรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น จนถือเป็นประเพณีตักบาตรเทโวที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
โดยพิธีตักบาตรเทโวโรหณะในปัจจุบันนั้นจะเริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณหลังวันออกพรรษา พระภิกษุสามเณรลงทำวัตรในพระอุโบสถ พอพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่าพระลงมาจากบันไดสวรรค์ บางที่ก็มีดนตรีบรรเลงเพลงไทยเดิม สมมติว่าเป็นพวกเทวดาบรรเลง ขับกล่อมตามส่งพระพุทธเจ้า ยังมีพวกแฟนตาซีอีก แต่งเป็นพวกยักษ์ เทวดา พระอินทร์ พระพรหม นางเทพธิดา นำหน้าขบวนพระภิกษุ สามเณร ชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัด จึงเป็นสัญลักษณ์ของพิธีนี้
2. ประเพณีเทศน์มหาชาติ หลังวันออกพรรษา
งานเทศน์มหาชาติ นิยมทำกันหลังวันออกพรรษา พ้นหน้ากฐินไปแล้ว ซึ่งกฐินจะทำกัน 1 เดือน หลังออกพรรษา ที่จะร่วมกันทอดกฐินทั้งจุลกฐินและมหากฐิน โดยประเพณีงานเทศน์มหาชาติอาจทำในวันขึ้น 8 ค่ำ กลางเดือน 12 หรือในวันแรม 8 ค่ำ ก็ได้ เพราะในช่วงนี้น้ำเริ่มลด และข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง แต่ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน 4 เรียกว่า "งานบุญพระเวส" ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ส่วนภาคกลาง บางท้องถิ่นทำกันในเดือน 5 ต่อเดือน 6 ก็มี
งานเทศน์มหาชาตินั้นจะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล โดยมากเพื่อเป็นการหาเงินเข้าวัด บางแห่งนิยมทำในเดือน 10 โดยการเทศน์มหาชาตินั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 13 กัณฑ์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
3. ประเพณีวันออกพรรษาในแต่ละภาค
นอกจากนี้ในแต่ละภาคก็จะมีประเพณีที่ต่างกันไป
วันออกพรรษา ภาคกลาง
จังหวัดนครปฐม ที่พระปฐมเจดีย์ พระภิกษุ สามเณร จะมารวมกันที่องค์พระปฐมเจดีย์ แล้วก็เดินลงมาจากบันไดนาคหน้าวิหารพระร่วง สมมติว่าพระเดินลงมาจากบันไดสวรรค์ ชาวบ้านก็คอยใส่บาตร
จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ณ วัดสะแกกรัง พระภิกษุก็จะเดินลงมาจากเขารับบิณฑบาตจากชาวบ้าน โดยขบวนพระภิกษุสงฆ์ที่ลงมาจากบันไดนั้นนิยมให้มีพระพุทธรูปนำหน้า ทำการสมมติว่าเป็นพระพุทธเจ้า จะใช้พระปางอุ้มบาตร ห้ามมาร ห้ามสมุทร รำพึง ถวายเนตร หรือปางลีลา ตั้งไว้บนรถหรือตั้งบนคานหาม มีที่ตั้งบาตรสำหรับอาหารบิณฑบาต
แต่สำหรับบางที่ไม่นิยมตักบาตรเทโว แต่นิยมตักบาตรตอนเช้า ถวายอาหารพระภิกษุ แล้วฟังเทศน์ รักษาอุโบสถศีล ส่วนที่นิยมตักบาตรเทโว จะทำบุญเป็น 2 วัน คือ วันออกพรรษา กับวันเทโว ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ในวันออกพรรษานั้น หรือในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ก็มีการฟังเทศน์ตอนสาย ๆ และรักษาอุโบสถศีล
วันออกพรรษา ภาคใต้
พิธีชักพระทางบก
ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนวันชักพระ 2 วัน จะมีพิธีใส่บาตรหน้าล้อ นอกจากอาหารคาว-หวานแล้ว ยังมีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของงาน คือ "ปัด" หรือข้าวต้มผัดน้ำกะทิห่อด้วยใบมะพร้าว บางที่ห่อด้วยใบกะพ้อ (ปาล์มชนิดหนึ่ง) ในภาคกลางเขาเรียกว่า ข้าวต้มลูกโยน ก่อนจะถึงวันออกพรรษา 1-2 สัปดาห์ ทางวัดจะทำเรือบก คือเอาท่อนไม้ขนาดใหญ่ 2 ท่อนมาทำเป็นพญานาค 2 ตัว เป็นแม่เรือที่ถูกยึดไว้อย่างแข็งแรง แล้วปูกระดาน วางบุษบก บนบุษบกจะนำพระพุทธรูปยืนรอบบุษบกแล้ววางเครื่องดนตรีไว้บรรเลงเวลาเคลื่อนพระไปสู่บริเวณงาน พอเช้าวัน 1 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านจะช่วยกันชักพระ โดยถือเชือกขนาดใหญ่ 2 เส้นที่ผูกไว้กับพญานาคทั้ง 2 ตัว เมื่อถึงบริเวณงานจะมีการสมโภช และมีการเล่นกีฬาพื้นเมืองต่าง ๆ กลางคืนมีงานฉลองอย่างมโหฬาร อย่างการชักพระที่ปัตตานีก็จะมีชาวอิสลามร่วมด้วย
พิธีชักพระทางน้ำ
ก่อนถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ทางวัดที่อยู่ริมน้ำก็จะเตรียมการต่าง ๆ โดยการนำเรือ 2-3 ลำมาปูด้วยไม้กระดานเพื่อตั้งบุษบก หรือพนมพระประดับประดาด้วยธงทิว ในบุษบกก็ตั้งพระพุทธรูป ในเรือบางที่ก็มีเครื่องดนตรีประโคมตลอดทางที่เรือเคลื่อนที่ไปสู่จุดกำหนด คือบริเวณท่าน้ำที่เป็นบริเวณงานก็จะมีเรือพระหลาย ๆ วัดมาร่วมงาน ปัจจุบันจะนิยมใช้เรือยนต์จูงแทนการพาย เมื่อชักพระถึงบริเวณงานทั้งหมด ทุกวัดที่มาร่วมจะมีการฉลองสมโภชพระ มีการละเล่นต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน เช่น แข่งเรือปาโคลน ซัดข้าวต้ม เป็นต้น เมื่อฉลองเสร็จก็จะชักพระกลับวัด บางทีก็จะแย่งเรือกัน ฝ่ายใดชนะก็ยึดเรือ ฝ่ายใดแพ้ต้องเสียค่าไถ่ให้ฝ่ายชนะ จึงจะได้เรือคืน
บ้านเรือนอยู่ในเขตแม่น้ำลำคลองก็จะมีพิธีรับพระเช่นกัน อย่างที่อำเภอบางบ่อ บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทางวัดจะอัญเชิญพระพุทธรูปยืนลงบุษบกในตัวเรือแล้วแห่ไปตามลำคลอง ชาวบ้านก็จะโยนดอกบัวจากฝั่งให้ตกในเรือหน้าพระพุทธรูป แล้วโยนข้าวต้ม และยังมีการแข่งขันเรือชิงรางวัลอีกด้วย หรือจะเป็นประเพณีตักบาตรพระร้อย ที่เป็นการใส่บาตรพระร้อยรูป ส่วนมากจะจัดพิธีทางน้ำ เนื่องจากแต่ก่อนบ้านเรือนจะอยู่ติดแม่น้ำลำคลอง การสัญจรไปไหนมาไหนก็จะใช้เรือ พระส่วนใหญ่จึงใช้เรือในการออกบิณฑบาต
กิจกรรมวันออกพรรษา
1. ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ
2. ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล ถวายสังฆทาน ถวายภัตตาหาร หรือจัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาที่วัด และฟังพระธรรมเทศนา
3. ร่วมกุศลธรรม "ตักบาตรเทโว"
4. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ ประดับธงชาติและธงธรรมจักรตามวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
5. ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย หรือบรรยายธรรม เกี่ยวกับวันออกพรรษา ฯลฯ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป
6. งดการเที่ยวเตร่ ละเว้นอบายมุข รวมทั้งละเว้นการฆ่าสัตว์และบริโภคเนื้อสัตว์
ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำพิธีวันออกพรรษา
- เตือนสติว่าเวลาที่ผ่านพ้นไปอีกพรรษาหนึ่งแล้วได้คร่าชีวิตมนุษย์ ให้ผู้คนนั้นดำรงอยู่ในความไม่ประมาทและหันมาสร้างกุศล
- การทำบุญออกพรรษาจะเปิดโอกาสให้ผู้อื่นชำระความผิดของตนได้ คือหลักปวารณา ปกติคนเราคบกันนาน ๆ ก็จะเผย "สันดาน" ที่แท้ออกมา อาจจะไม่ดีนัก แต่ตนเองไม่รู้ตัวแล้วมองไม่เห็น แต่ผู้อยู่ข้าง ๆ มองเห็นแต่ไม่กล้าเตือน ดังนั้น ตนเองต้องปวารณาตัวให้ผู้อื่นชี้แนะได้ ความสัมพันธ์ก็จะดีขึ้นและยั่งยืน
- ได้ข้อคิดที่ว่า คนเราส่วนใหญ่มักจะลำเอียงเข้าข้างว่าตนเองเป็นฝ่ายถูก ความผิดของคนอื่นเห็นง่าย ส่วนตนเองนั้นความผิดนั้นเห็นยาก นี่แหละสัญชาตญาณของคนเรา
- เป็นการให้รู้ถึงการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการเปิดใจซึ่งกันและกัน โดยไม่มีเล่ห์เหลี่ยมลับลมคมในใด ๆ ในการคบหาหรืออยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ดังนั้น ใครที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง
วันออกพรรษา จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม
สำหรับการย้อนมองดูตัวเองว่าได้ทำสิ่งใดผิดพลาดไว้บ้างหรือเปล่า
เพื่อที่จะได้ปรับปรุงและไม่ทำผิดซ้ำในเรื่องเดิมอีก
บทความวันสำคัญอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- วันมาฆบูชา 2567 ตรงกับวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
- วันวิสาขบูชา 3 มิถุนายน 2567 ประวัติวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
- สถานที่จัดงานเข้าพรรษา ประจำปี 2567 ร่วมทำบุญสร้างกุศลรับเทศกาล
- วันอาสาฬหบูชา 2567 ตรงกับอังคาร ที่ 1 ส.ค. วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
- วันเข้าพรรษา 2567 ตรงกับวันพุธที่ 2 สิงหาคม
ขอบคุณข้อมูลจาก : dhammajak.net, lib.ru.ac.th