ปัจจุบันนี้ "เทคโนโลยีโซเชียลมีเดีย" เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในสังคมอย่างมาก ทำให้มิจฉาชีพเล็งเห็นช่องทางในการทำมาหากินกับเหยื่อที่หลงเชื่อได้ง่ายๆ
อย่างในระยะหลังมักมีข่าวการปลอมแปลงบัญชีทั้งไลน์หรือเฟชบุ๊ค เพื่อสวมรอยเป็นบุคคลคนนั้น โดยมิจฉาชีพจะเข้าไปสืบเสาะพฤติกรรมและสังคมรอบข้างของบุคคลที่ถูกแอบอ้าง จากนั้นจะทำทีเข้าไปชักชวนเพื่อน และคนใกล้ชิดของผู้ถูกแอบอ้างพูดคุย ก่อนจะเอ่ยปากขอยืมเงินโดยอ้างเหตุผลความจำเป็นต่างๆนาๆ
หากเหยื่อหลงเชื่อไม่ตรวจสอบกับเจ้าของเฟชบุ๊คตัวจริง ก็อาจจะโอนเงินให้มิจฉาชีพไปโดยไม่รู้ตัว อย่างกรณีของเฟชบุ๊คนี้ที่เจ้าของตัวจริงใช้ชื่อว่า Vansinee Swasdiphisal
แต่กลับถูกมิจฉาชีพสวมรอยเปิดเฟชบุ๊คอีก 1 บัญชี ใช้ชื่อเล่นของเจ้าจริง ตามด้วยนามสกุลเช่นกัน และก๊อปรูปถ่ายเจ้าของจริงไปลงเป็นรูปโปรไฟล์ จากนั้นได้เข้าไปแอดเฟรนด์ขอเป็นเพื่อนกับกลุ่มเพื่อนๆของเจ้าของเฟชบุ๊ค และส่งข้อความไปขอยืมเงินคุณแม่ของเจ้าของเฟชบุ๊ค โดยอ้างว่ามีเรื่องฉุกเฉินต้องใช้เงินด่วน แต่ขณะนั้นคุณแม่อยู่กับเจ้าของเฟชบุ๊คตัวจริงพอดี จึงทำให้แผนร้ายของมิจฉาชีพไม่เป็นผล
ซึ่งเรื่องทำนองนี้ พันตำรวจเอก นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บังคับการกองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระบุว่ามีคดีเกิดขึ้นมากมาย โดยผุ้เสียหายส่วนใหญ่ไปแจ้งความกับตำรวจพื้นที่ และมีการส่งต่อข้อมูลมายังหน่วยสนับสนุนทางเทคโนโลยี เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล เบาะแสของคนร้าย
อีกการหลอกลวงหนึ่งที่มักประสบกับบรรดาบริษัทที่ทำธุรกิจส่งออกหรือนำเข้าสินค้า คือการที่มิจฉาชีพต่างชาติแฮกข้อมูลในอีเมล์ ที่บริษัทเหล่านี้ใช้ติดต่อสื่อสารกับคู่ค้าต่างประเทศ เพื่อเข้าไปสืบพฤติกรรมการติดต่อซื้อขายสินค้า
จากนั้นจะสร้างอีเมล์ปลอมที่มีชื่อใกล้เคียงกับอีเมล์จริง ติดต่อมายังบริษัทที่ตกเป็นเหยื่อ แจ้งเปลี่ยนเลขที่บัญชีสำหรับชำระค่าสินค้า
เมื่อเหยื่อไม่ทันสังเกต ก็จะกลายเป็นการโอนเงินไปเข้าบัญชีคนร้ายในต่างประเทศแทน โดยแก๊งที่มีพฤติกรรมลักษณะนี้เท่าที่พบคือมิจฉาชีพชาวไนจีเรีย ซึ่งหากเป็นการโอนเงินไปยังบัญชีปลายทางของคนร้ายในต่างประเทศ โอกาสที่จะติดตามคนร้ายและติดตามเงินคืนกลับมาเป็นไปได้ยาก เพราะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่มีขั้นตอนมากมาย แต่หากเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีภายในประเทศ ยังมีโอกาสติดตามตัวคนร้ายและติดตามเงินคืนได้มากกว่า
สิ่งสำคัญที่ที่สุดคือความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบความผิดปกติของอีเมล์ ไม่กดปุ่มตอบกลับอีเมล์ทันทีเพราะข้อมูลอาจถูกส่งต่อไปยังอีเมล์ของคนร้าย ควรตั้งค่ารหัสผ่านและการถามตอบเพื่อกู้คืนรหัสผ่านให้คาดเดายาก และตรวจสอบความชัดเจนกับคู่ค้าปลายทางเสมอก่อนการโอนเงิน
เพราะปัจจุบันมีบริษัทนำเข้า ส่งออกหลายรายตกเป็นเหยื่อแต่มักไม่ปรากฎเป็นข่าว เชื่อว่าความเสียหายมีมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี และเมื่อเกิดเหตุก็มักจะไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐของประเทศปลายทางเท่าที่ควร
ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุย่อมเป็นหนทางที่ดีที่สุดครับ ซึ่งคุณผู้ชมสามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้รูปแบบกลโกงทางเทคโนโลยีได้ ที่เว็ปไซต์ www.HighTechCrime.org
ขอบคุณข้อมูลจาก รายการ บรรจงขยี้ข่าว ยกทัพข่าวเช้า สถานีพีพีทีวีช่อง 36