x close

ลอยกระทงอย่างปลอดภัย มธ. แนะ 3 วิธีเลี่ยงอันตรายจากพลุและดอกไม้ไฟ

ลอยกระทงอย่างปลอดภัย มธ. แนะ 3 วิธีเลี่ยงอันตรายจากพลุและดอกไม้ไฟ

         ลอยกระทง ปี 2558 ให้สนุกและปลอดภัย ควรทำตาม 3 วิธีเลี่ยงอันตรายจากพลุและดอกไม้ไฟให้ครบถ้วน

         นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แนะ 3 วิธีหลีกเลี่ยงอันตรายจากพลุและดอกไม้ไฟในช่วงเทศกาลลอยกระทง เพื่อเป็นเกราะป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนได้ ในช่วงเทศกาลลอยกระทง ปี 2558 นี้

         รศ.ดร.วราวุธ เสือดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการคุณภาพอากาศ และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เทศกาลลอยกระทงที่จะมาถึง “พลุและดอกไม้ไฟ” เป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลอง แต่ในขณะที่เราชื่นชมและตื่นตากับสีของพลุดอกไม้ไฟ และตื่นใจกับเสียงพลุ ก็อาจได้รับทั้งมลพิษทางอากาศและเสียงที่เกิดจากพลุและดอกไม้ไฟนั้นโดยไม่รู้ตัว 

         ทั้งนี้ “พลุและดอกไม้ไฟ” มีส่วนประกอบสำคัญที่อาจก่อมลพิษทางอากาศ คือ เชื้อเพลิง ซึ่งมักมีส่วนผสมของดินปืน โดยมีส่วนผสมของกำมะถัน ดินประสิว และผงถ่าน อีกส่วนหนึ่งคือสารเคมี ที่ทำให้เกิดสีและแสงจ้า เช่น โพแทสเซียมเปอร์คลอเรต ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โพแทสเซียมไนเตรต เป็นต้น

         ซึ่งเมื่อกำมะถันเผาไหม้ จะทำให้ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีความเข้มข้นสูง และมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัวคล้ายกลิ่นเผาไหม้เมื่อจุดไม้ขีดไฟ โดยผลจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงและสารเคมีที่ทำให้เกิดสีและแสงจ้า จะทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กและโลหะหนักบางชนิด ซึ่งมีผลโดยตรงต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะผู้ทำหน้าที่จุดพลุและประชาชนบริเวณใกล้เคียง

         นอกจากนี้มลพิษทางเสียงจากการจุดพลุก็อาจส่งผลให้สูญเสียการได้ยินชั่วคราว หรือหูอื้อชั่วขณะ แต่อาการนี้จะกลับคืนสู่ปกติในระยะเวลาหนึ่ง แต่ถ้าเราได้รับเสียงจากพลุบ่อย ๆ และนานขึ้น ระยะเวลาที่จะกลับมาได้ยินอย่างปกติก็อาจจะนานขึ้นจนกระทั่งไม่กลับมา และอาจสูญเสียการได้ยินอย่างถาวรในที่สุด

         อย่างไรก็ดี นักวิชาการจาก มธ. จึงขอฝาก 3 ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันมลพิษจากพลุและดอกไม้ไฟ มาดังนี้

          1.  ให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีควันฟุ้งและได้กลิ่นจากการเผาไหม้ดอกไม้ไฟ

          2.  ควรอุดหู หรือใช้มือปิดหู ขณะชมพลุที่จุดอย่างต่อเนื่อง

          3.  หลีกเลี่ยงการสัมผัสพลุและดอกไม้ไฟโดยตรง เพราะอาจเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง และเยื่อบุผิวหนังจากสารโพแทสเซียมไนเตรต และถ้ากลืนกินเข้าไปจะทำให้คลื่นไส้ ท้องเสีย และกล้ามเนื้ออ่อนแรง

         อย่างไรก็ตาม ก่อนทำการจุดพลุหรือดอกไม้ไฟ ควรศึกษาวิธีการใช้งานเป็นอย่างดี หรือทางที่ดีควรให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนจุดน่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด เพียงเท่านี้การเฉลิมฉลองในเทศกาลลอยกระทงของเรา ก็จะไม่ตามมาด้วยสุขภาพที่แย่ลง เนื่องจากมลพิษของพลุและดอกไม้ไฟ รศ.ดร.วราวุธ กล่าวทิ้งท้าย



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลอยกระทงอย่างปลอดภัย มธ. แนะ 3 วิธีเลี่ยงอันตรายจากพลุและดอกไม้ไฟ อัปเดตล่าสุด 24 พฤศจิกายน 2558 เวลา 14:23:54 7,179 อ่าน
TOP