
นักวิทยาศาสตร์เผยพบ Wolf 1061c ดาวเคราะห์ในเขตอาศัยได้ที่ใกล้ระบบสุริยะมากที่สุดเท่าที่เคยพบมา ห่างออกไปแค่ 14 ปีแสง
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 หนังสือพิมพ์ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ รายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เผยการค้นพบดาวเคราะห์ในเขตอาศัยได้ที่ใกล้ที่สุดเท่าที่เคยพบมา โคจรอยู่ในระบบดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างออกไปแค่ 14 ปีแสง มีมวลมากกว่าโลกประมาณ 4.3 เท่า
ดาวเคราะห์ดวงนี้คือ Wolf 1061c โคจรอยู่ในระบบดาวฤกษ์ประเภทดาวแคระแดง ซึ่งเย็นกว่าดวงอาทิตย์ประมาณครึ่งหนึ่ง Wolf 1061c มีระยะห่างจากดาวฤกษ์ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ และอยู่ในเขตที่เรียกว่าเขตอาศัยได้ (Goldilocks zone) อันเป็นเขตที่อาจมีสิ่งมีชีวิต เพราะไม่ร้อนไม่หนาวเกินไป น้ำคงอยู่ในสภาพของเหลวได้

"ระยะห่างระหว่าง Wolf 1061c กับดาวฤกษ์ของมัน ทำให้เราคาดว่ามันน่าจะโคจรแบบ Tidal lock ดังนั้นด้านหนึ่งของดาวจะร้อนมาก ขณะที่อีกด้านหนึ่งหนาวมาก" ดร.ดันแคน ไรท์ เผย
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบดาวเคราะห์อีก 2 ดวงในระบบเดียวกันนี้ นั่นคือ Wolf 1061b และ Wolf 1061d ทั้งสองดวงมีมวลอย่างน้อย 1.4 และ 5.2 เท่าของโลกตามลำดับ คาดว่าเป็นดาวเคราะห์หินทั้งหมด
ภาพจาก University of New South Wales (UNSW) และ NASA
world_id:567296834d265a9db68b457a