นักดาราศาสตร์พบ 3 ดาวเคราะห์ใหม่ขนาดพอกับโลกโคจรรอบดาวฤกษ์เล็กจิ๋ว ห่างออกไปแค่ 40 ปีแสง ลุ้นอาจมีสิ่งมีชีวิต
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ได้เปิดเผยการค้นพบดาวเคราะห์โคจรในระบบดาวแคระขนาดเล็กเป็นครั้งแรก โดยระบบดาวนี้ห่างจากระบบสุริยะไปเพียงแค่ 40 ปีแสง ดาวเคราะห์ในระบบทั้ง 3 ดวงเป็นดาวเคราะห์ที่ขนาดพอ ๆ กับโลก โคจรอยู่ในเขตอาศัยได้ ลุ้นอาจมีสิ่งมีชีวิต
จากการสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ นักดาราศาสตร์พบว่าดาวเคราะห์ทั้ง 3 ดวงมีขนาดใกล้เคียงกับโลก สองดวงแรกอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์มากจนน่าจะมีลักษณะการโคจรแบบ Tidal Lock นั่นคือดาวเคราะห์หันด้านเดียวเข้าหาดาวฤกษ์ คล้ายกับที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก และเพราะดาวเคราะห์ทั้ง 2 ดวงอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ที่มีขนาดเล็ก จึงใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ในคาบเวลาเพียง 1.5 วัน และ 2.4 วันเท่านั้น ส่วนดาวเคราะห์ดวงที่ 3 สังเกตการณ์ค่อนข้างยาก คาดว่ามีคาบโคจรรอบดาวฤกษ์ได้ตั้งแต่ 4.5-73 วันเลยทีเดียว
ทั้งนี้ แม้ว่า TRAPPIST-1 จะอยู่ห่างไปเพียง 40 ปีแสง แต่การสังเกตระบบดาวของมันเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะ TRAPPIST-1 เป็นดาวแคระขนาดเล็กที่ใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดีนิดหน่อย เย็นกว่าดวงอาทิตย์ประมาณครึ่งหนึ่ง และสว่างน้อยกว่าดวงอาทิตย์เกือบ 2,000 เท่า จึงมักจะมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ทั่วไปไม่เห็น ต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์อินฟราเรด และด้วยความที่ TRAPPIST-1 มีขนาดใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดีนิดหน่อย ทำให้นักดาราศาสตร์เปรียบเทียบขนาดของระบบดาวฤกษ์ดวงนี้ว่าพอ ๆ กับระบบของดาวพฤหัสบดี จะเทียบกับความกว้างใหญ่ของระบบสุริยะไม่ได้เลย
อย่างไรก็ตามนักดาราศาสตร์ระบุว่าตอนนี้เรารู้เรื่องราวของระบบดาว TRAPPIST-1 น้อยมาก จึงต้องมีการศึกษากันอย่างละเอียดขึ้นต่อไป หากที่สุดแล้วพบว่าดาวเคราะห์ทั้ง 3 ดวงนี้เป็นดาวเคราะห์คล้ายโลกจริง ๆ และพบได้ทั่วไปในระบบดาวแคระขนาดเล็กแบบนี้ ก็จะทำให้พออนุมานได้ว่าน่าจะมีดาวเคราะห์แบบนี้อยู่อีกมากมาย มากกว่าที่นักดาราศาสตร์คาดคะเนเอาไว้ก่อนหน้านี้เสียอีก
ภาพจาก คุณ European Southern Observatory (ESO) สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม