ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ 2559 ต่อไป "ไม่อภัยโทษคดีข่มขืน"
วันที่ 9 สิงหาคม 2559 ที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ 2559 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 และโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อให้ผู้ต้องโทษมีโอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดย พ.ร.ฎ. มี 17 มาตรา
สำหรับนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับอภัยโทษ ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือได้รับโทษแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และผู้ต้องโทษอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้ เช่น ผู้พิการตาบอดสองข้าง มือเท้าด้วน ทุพพลภาพชัดเจน ผู้เจ็บป่วยโรคเรื้อน ไตวายเรื้อรัง มะเร็ง เอดส์ หรือโรคจิต ที่แพทย์รับรองว่าไม่สามารถรักษาในเรือนจำให้หายได้ โดยต้องจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 2
- ผู้ต้องโทษหญิงที่ต้องโทษครั้งแรกจำคุกมาไม่น้อยกว่า 1 ใน 2
- ผู้ต้องโทษอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
- ผู้ต้องโทษที่จำคุกครั้งแรกอายุไม่ครบ 20 ปี จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 2
- ผู้ต้องขังชั้นเยี่ยมต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี
สำหรับผู้ต้องขังเด็ดขาดที่ไม่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว มีหลักเกณฑ์พระราชทานอภัยโทษลดโทษตามลำดับ
ส่วนผู้ต้องขังเด็ดขาดที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษ เช่น ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกิน 8 ปี จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิตหลังวันที่ประกาศนี้บังคับใช้ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ต้องขังชั้นกลาง ชั้นเลว ชั้นเลวมาก ผู้ต้องขังเด็ดขาดซึ่งต้องโทษในความผิดมาตรา 276 วรรค 3 (กระทำชำเราโดยใช้อาวุธหรือเข้าข่ายโทรมหญิงหรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกัน) มาตรา 277 มาตรา 277 ทวิ มาตรา 277 ตรี (เกี่ยวกับการกระทำชำเราเยาวชนต่ำกว่า 15 ปี) มาตรา 280 (กระทำจนผู้ถูกกระทำถึงแก่ชีวิต) มาตรา 285 (กระทำชำเราผู้อยู่ภายใต้ปกครอง) หรือมาตรา 343 ตามประมวลกฎหมายอาญา
ทั้งนี้ ในการพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้รวมถึงผู้ต้องโทษตามกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหารด้วย โดยให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ
ภาพและข้อมูลจาก เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา