x close

เปิดตำนานเรื่องพระโกศ ทรงพระศพ ตามโบราณราชประเพณี

ตำนานพระโกศ

          เรียนรู้ประวัติความเป็นมาเรื่องพระบรมโกศ หรือพระโกศ ที่บรรจุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ หรือพระศพของราชวงศ์ตามแบบแผนโบราณราชประเพณีไทย

          พระบรมโกศ หรือพระโกศ คือ ภาชนะเครื่องสูง สำหรับบรรจุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ หรือพระศพของพระบรมวงศ์ นอกจากนี้ยังมีโกศที่พระราชทานสำหรับศพข้าราชการผู้มีบรรดาศักดิ์สูง ซึ่งการใช้โกศบรรจุพระศพพระราชวงศ์ไทยเป็นธรรมเนียมทำกันมานานแล้ว แต่ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดว่าเริ่มมาตั้งแต่สมัยใด ทราบเพียงว่ามีหลักฐานการใช้พระโกศในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ตำนานพระโกศ

          ลักษณะพระโกศมีรูปทรงกระบอก ปากผาย ก้นสอบเล็กน้อย มียอดแหลม ฝาทรงกรม อาจแยกตามวัตถุประสงค์การใช้งานเป็น 2 ประเภทคือ พระโกศสำหรับทรงพระบรมศพหรือพระศพ และพระโกศพระบรมอัฐิหรือพระอัฐิ สำหรับพระโกศพระบรมศพมี 2 ชั้น คือ

          - ชั้นนอก เรียกว่า "ลอง" ทำด้วยโครงไม้หุ้มทองปิดทอง ประดับกระจกอัญมณี ใช้สำหรับประกอบปิด "โกศชั้นใน"

          - ชั้นใน เรียกว่า "โกศ" ทำด้วยเหล็ก ทองแดงหรือเงิน ปิดทองทั้งองค์

          เมื่อเชิญพระบรมศพลงสถิตในพระโกศแล้ว จึงเชิญเอา "พระลอง" หุ้มพระโกศอีกชั้นหนึ่ง  ต่อมานิยมเรียกพระลอง เป็นพระโกศแทน จนเข้าใจว่าเป็นสิ่งเดียวกัน เช่น เรียกพระลองทองใหญ่ว่าพระโกศทองใหญ่ เป็นต้น

          ในหนังสือ "เรื่องตำนานพระโกศและหีบศพบรรดาศักดิ์" ที่กรมพระสมมตอมรพันธ์ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงช่วยกันเรียบเรียงเพื่อตีพิมพ์ในประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 4 เนื้อหาภายในกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของพระโกศ โดยระบุว่า พระโกศจะแบ่งตามลำดับชั้นยศทั้งหมด 14 ชั้น คือ

ตำนานพระโกศ

          - ลำดับที่ 1 พระโกศทองใหญ่ มีลำดับยศสูงสุด ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ทรง 8 เหลี่ยม หุ้มด้วยทองคำตลอดองค์ ประดับดอกไม้เอว ฝายอดมงกุฎ มีดอกไม้เพชรพุ่มข้าวบิณฑ์ ประดับยอด มีดอกไม้ไหวประดับชั้นฝาพระโกศ และฝาพระโกศประดับเฟื่องและพู่เงิน สำหรับพระมหากษัตริย์, พระอัครมเหสี, พระยุพราช, พระราชกุมารี, ผู้ทรงโปรดเกล้าพระราชทานเป็นพิเศษ

          - ลำดับที่ 2 พระโกศทองรองทรง (นับเสมอพระโกศทองใหญ่) สำหรับพระมหากษัตริย์, พระอัครมเหสี, พระยุพราช, พระราชกุมารี, ผู้ทรงโปรดเกล้าพระราชทานเป็นพิเศษ

          - ลำดับที่ 3 พระโกศทองเล็ก สำหรับสมเด็จเจ้าฟ้า (ชั้นเอก)

          - ลำดับที่ 4 พระโกศทองน้อย สำหรับสมเด็จเจ้าฟ้า, พระวรราชเทวี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า, สมเด็จพระนางเจ้า พระวรราชชายา

          - ลำดับที่ 5 พระโกศกุดั่นใหญ่ สำหรับสมเด็จพระสังฆราช

          - ลำดับที่ 6 พระโกศกุดั่นน้อย สำหรับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า, เจ้าจอม, เจ้านายทรงกรม, ผู้สำเร็จราชการ, ผู้ได้รับตรานพรัตนราชวราภรณ์

          - ลำดับที่ 7 พระโกศมณฑปใหญ่ สำหรับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ทรงกรม, เสนาบดีที่เป็นราชสกุล

          - ลำดับที่ 8 พระโกศมณฑปน้อย สำหรับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า

          - ลำดับที่ 9 พระโกศไม้สิบสอง สำหรับพระองค์เจ้าฝ่ายพระราชวังบวร, เจ้าพระยา, รัฐมนตรี (ขณะดำรงตำแหน่ง), สมเด็จพระราชาคณะ

          - ลำดับที่ 10 พระโกศราชวงศ์ (พระโกศพระองค์เจ้า เดิมเรียกว่า โกศลังกา) สำหรับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า

          - ลำดับที่ 11 โกศราชนิกุล สำหรับข้าราชการผู้เป็นราชสกุล ราชนิกุล

          - ลำดับที่ 12 โกศเกราะ สำหรับผู้มีรูปร่างใหญ่ ที่มิสามารถลงลองสามัญได้

          - ลำดับที่ 13 โกศแปดเหลี่ยม สำหรับข้าราชการสัญญาบัตร ผู้ได้รับพระราชทานตราปฐมจุลจอมเกล้า, ผู้ได้รับพระราชทานตราประถมาภรณ์ช้างเผือก

          - ลำดับที่ 14 โกศโถ สำหรับท้าวนาง, ท่านผู้หญิง, ผู้ได้รับพระราชทานตรามงกุฎไทย, ผู้ประกอบคุณความดี

          อย่างไรก็ตาม แม้พระโกศมีการแบ่งลำดับตามฐานันดรศักดิ์อย่างชัดเจน แต่อาจมีการเลื่อนลำดับชั้นได้ เช่น พระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่องานถวายเพลิงพระศพจึงได้รับพระราชทานพระโกศทองใหญ่ หรือเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตามอิสริยยศชั้นเจ้าฟ้า ตามแบบแผนจะได้รับพระราชทานพระโกศทองน้อย แต่ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังถวายพระเกียรติสูงสุดตามโบราณราชประเพณี ดังนั้นจึงใช้พระโกศทองใหญ่ซึ่งมีลำดับชั้นสูงสุดในพระราชพิธี

ตำนานพระโกศ

ทั้งนี้สถานที่ตั้งของพระโกศจะมีการแบ่งออกเป็นลำดับอีก 6 ขั้นตามพระอิสริยยศ คือ

          1. พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ใช้กับพระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี สมเด็จพระยุพราช และพระบรมวงศ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นพิเศษ

          2. พระตำหนัก ในพระราชวัง ใช้กับพระมเหสี และสมเด็จเจ้าฟ้า

          3. พระที่นั่งทรงธรรม ใช้กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า และผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นพิเศษ

          4. หอธรรมสังเวช หอนิเพธพิทยา หออุเทศทักษิณา และวังต่าง ๆ ใช้กับพระองค์เจ้าชั้นเอก เจ้านายฝ่ายหน้าที่ออกวังไปแล้ว และฝ่ายในที่ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นพิเศษ

          5. ศาลาสหทัยสมาคม ศาลามรุพงษ์ ใช้กับสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ทรงกรม พระราชวงศ์ใกล้ชิด เสนาบดีที่เป็นราชสกุล และพระนางเธอลักษมีลาวัณ

          6. ศาลาภาณุรังษี ศาลาบัณณรศภาค ใช้กับพระองค์เจ้า และเจ้าจอม

          สำหรับตำนานของพระโกศทองใหญ่ในรัชกาลต่าง ๆ นั้น เฟซบุ๊ก ห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์  ได้ให้ความรู้ไว้ดังนี้

ตำนานพระโกศ

พระโกศทองใหญ่ รัชกาลที่ 1

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2351 โดยโปรดให้รื้อทองที่หุ้มพระโกศกุดั่นมาทำพระโกศทองใหญ่ขึ้นไว้สำหรับพระบรมศพของพระองค์ เมื่อทำพระโกศองค์นี้สำเร็จแล้ว จึงโปรดให้เอาเข้าไปตั้งถวายทอดพระเนตรในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทว่าในปีนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ จึงโปรดให้เชิญพระโกศทองใหญ่ไปประกอบพระศพเป็นครั้งแรก จึงเกิดเป็นประเพณีในรัชกาลต่อมาที่มีการพระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพอื่นนอกจากพระบรมศพได้ และได้ใช้ทรงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระศพเจ้านายใพระบรมราชวงศ์สืบต่อมาทุกรัชกาล

พระโกศทองใหญ่ รัชกาลที่ 5

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ทรงสร้างถวายเมื่อ พ.ศ. 2443 เป็นพระโกศแปดเหลี่ยมยอด ทรงมงกุฎ ทำจากไม้หุ้มทองคำประดับพลอยขาว โดยทั่วไปเชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพระลอง เป็นการชั่วคราว แทนพระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 1 ซึ่งต้องเชิญออกไปขัดแต่งก่อนออกพระเมรุ ทำให้เรียกกันว่าพระโกศทองรองทรง

          ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงวิจารณ์ว่า ควรเรียกพระโกศทองใหญ่ เพราะมีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างเพื่อใช้ทรงพระบรมศพหรือพระศพเจ้านายที่มีศักดิ์สูงพร้อมกัน จึงมีศักดิ์เสมอด้วยพระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 1 เช่นกัน และใช้ทรงพระศพเจ้านายสืบมา เช่น พระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, พระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และใช้ในการพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยประดิษฐานเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดลภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระโกศทองใหญ่ รัชกาลที่ 9

          เนื่องด้วยพระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 5 ค่อนข้างชำรุดเพราะผ่านการใช้งานมาหลายคราวแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระโกศทองใหญ่ขึ้น เมื่อราว พ.ศ. 2543 นับเป็นพระโกศทองใหญ่องค์ที่ 3 ของกรุงรัตนโกสินทร์ มีลักษณะเป็นพระโกศแปดเหลี่ยม ยอดทรงมงกุฎ ทำจากไม้หุ้มทองคำ ประดับพลอยขาวทรวดทรงและลวดลายผสมผสานกันระหว่างพระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 5 ยอดพระโกศปักพุ่มดอกไม้เพชร, ฝาพระโกศ ประดับดอกไม้ไหว ดอกไม้เพชร, ปากพระโกศ ห้อยเฟื่องเพชร ระย้าเพชร อุบะดอกไม้เพชร, เอวพระโกศ ปักดอกไม้เพชร ใช้ในการพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นครั้งแรก
 
ตำนานพระโกศ

การอัญเชิญพระศพลงพระโกศ

          ในส่วนของการบรรจุพระบรมโกศ หรือพระโกศนั้น ตามคตินิยมของพราหมณ์เชื่อว่า เมื่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์เสด็จสวรรคตหรือสิ้นพระชนม์ จะประกอบพิธีบรรจุพระบรมศพ พระศพ ลงในพระโกศ โดยต้องตั้งพระศพในท่ายืน, นั่ง, คุกเข่า หรือกอดเข่าประสานมือ เพื่อส่งพระศพและพระวิญญาณเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์

          โดยจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 กล่าวถึงการทำสุกำพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งทำให้เห็นแบบแผนและวิธีการแต่ครั้งอดีตว่า เริ่มจากการถวายเครื่องสำหรับค้ำพระเศียร คือ ไม้กาจับหลัก หรือ พระปทุมปัตนิการ รองที่พระบาท (เท้า) ซึ่งมีก้านออกมาค้ำพระหนุ (คาง) ให้พระเศียรอยู่ในท่าที่เหมาะสม อาจเพื่อให้พระเศียรไม่ก้มต่ำลงมาหรือขยับเขยื้อน ก่อนจะจัดพระอิริยาบถให้อยู่ในท่านั่งต่อไป

          หลังจากถวายเครื่องค้ำพระเศียรแล้วจึงถวาย พระกัปปาสิกะสูตร (ด้ายสายสิญจน์หรือด้ายดิบ) ทำสุกำพระบรมศพหรือมัดตราสัง แล้วเตรียมผ้าห่อเหมี้ยง หรือ พระกัปปาสิกะเศวตพัสตร์ (ผ้าฝ้ายสีขาว) ปูซ้อนกันเป็นรูปหกแฉก แล้วเชิญพระบรมศพให้ประทับในท่านั่งเหนือผ้านั้น แล้วรวบชายผ้าไว้เหนือพระเศียรซึ่งจะปล่อยชายผ้าไว้สำหรับผูกพระภูษาโยงสดับปกรณ์ จากนั้นห่อด้วยผ้าตั้งแต่พระบาท (เท้า) พันขึ้นไปจนถึงพระกัณฐา (คอ) แล้วเหน็บไว้ หลังจากนั้นจึงเชิญพระบรมศพลงพระโกศหนุนด้วยหมอนโดยรอบเพื่อกันเอียงเป็นเสร็จขั้นตอน

ตำนานพระโกศ

          อย่างไรก็ตามได้มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อครั้งงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดย แฟนเพจ คลังประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเป็นเพจที่ให้ข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อคราสมเด็จย่าสวรรคตนั้น พระองค์ได้รับสั่งว่าให้นำท่านลงหีบ ซึ่งพระราชกระแสรับสั่งนี้เกิดขึ้นเมื่อคราพิธีสรงน้ำสมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ 7 ซึ่งสมเด็จย่าเสด็จด้วย และได้เห็นการทำพระสุกำหรือมัดตราสังพระบรมศพแล้วอัญเชิญลงสู่พระบรมโกศ เป็นไปด้วยความทุลักทุเล พระองค์จึงตรัสว่า "อย่าทำกับฉันอย่างนี้ อึดอัดแย่"

          ด้วยเหตุนี้ งานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อ พ.ศ. 2538 ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นการเชิญลงหีบพระศพแทน เช่นเดียวกันกับงานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ซึ่งสามารถทำได้ตามพระราชอัธยาศัย ดังนั้นในพระโกศจึงไม่มีพระบรมศพสถิตอยู่ ตั้งไว้เพื่อเป็นพระเกียรติยศเท่านั้น ส่วนหีบทรงพระบรมศพประดิษฐานหลังพระแท่นโดยมีฉากกั้นอยู่
 
ตำนานพระโกศ
หีบพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 สร้างจากไม้สักทองอายุนับร้อยปี ปิดทองแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งใบ

          ในส่วนพระศพของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตนฯ เมื่อปี พ.ศ. 2554 ได้อัญเชิญลงประทับยังพระโกศทองใหญ่ ซึ่งเป็นพระประสงค์ส่วนพระองค์ และเคยตรัสไว้ว่าจะดำรงพระเกียรติยศของการเป็นขัตติยนารีแห่งพระราชวงศ์จักรีอย่างสูงที่สุด สำนักพระราชวังจึงจัดตรงตามโบราณราชประเพณีทุกประการ เว้นแต่ตอนพระราชทานเพลิงที่อัญเชิญพระโกศเข้าเตาไฟฟ้า แทนการตั้งบนจิตกาธานหรือเชิงตะกอน

          อย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมการบรรจุพระศพลงพระโกศ หรือบรรจุศพลงโกศนั้นยังคงมีอยู่ เพียงแต่จะบรรจุลงหรือไม่ขึ้นอยู่กับพระทายาทหรือทายาท ซึ่งงานพระศพเจ้านายบางพระองค์ก็ยังบรรจุศพลงโกศเหมือนแต่ก่อน เช่น ในงานศพของหม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร หรือพระศพของหม่อมเจ้าหญิงกรณิกา แห่งราชสกุลจิตรพงศ์ ที่สิ้นไปเมื่อปีที่แล้ว เจ้าพนักงานภูษามาลาได้อัญเชิญพระศพลงยังพระโกศ



ภาพจาก  DEVERE Unlimited, เฟซบุ๊ก สุริยาหีบศพ 2499 - พรานนก, Assavarak Channel

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก ห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์
เฟซบุ๊ก คลังประวัติศาสตร์ไทย
หนังสือ ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย โดย นนทพร อยู่มั่งมี



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดตำนานเรื่องพระโกศ ทรงพระศพ ตามโบราณราชประเพณี อัปเดตล่าสุด 18 ตุลาคม 2559 เวลา 11:33:25 118,774 อ่าน
TOP