นับเป็นวันแห่งความสูญเสียที่นำพาความเศร้าโศกอาลัยมาสู่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ซึ่งในขณะเดียวกันก็ได้เกิดคำถามในใจของใครหลายคน ว่าเชื้อพระวงศ์พระองค์ใดที่จะขึ้นมาเป็นรัชกาลที่ 10 สืบไป
จากนั้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 เมื่อเวลาประมาณ 10.20 น. คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จัดประชุมร่วมกันในวาระพิเศษเรื่อง การมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ และมีมติแจ้งไปยัง ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้อัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นครองราชสมบัติ สืบเป็นรัชกาลที่ 10 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการเข้าเฝ้าฯ ต่อไป
ภาพจาก PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP
พระราชประวัติ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม 2495 เวลา 17.45 น. ทรงมีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรง สุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร เป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ภาพจาก PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP
ภาพจาก AFP
ภาพจาก STR/AFP
จากนั้นทรงศึกษาระดับอนุบาลที่พระที่นั่งอุดร พระราชวังดุสิต และทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนจิตรลดา ระหว่างปี 2499-2505 รวมถึงที่ประเทศอังกฤษ ระหว่างปี 2509-2513 ก่อนทรงเข้าศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แล้วทรงเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทรงได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต (การศึกษาด้านทหาร) คณะการศึกษาด้านทหาร จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ 2519
นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ระหว่างปี 2520-2521 ทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปี 2530 จวบจนกระทั่งปี 2533 ยังทรงได้รับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ประเทศอังกฤษ
สมเด็จพระยุพราช
ในวันที่ 28 ธันวาคม 2515 พสกนิกรชาวไทยต่างปลาบปลื้มยินดี เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ เฉลิมพระอิสริยยศแต่งตั้งไว้ในตำแหน่ง สมเด็จพระยุพราชมกุฎราชกุมาร อันเป็นตำแหน่งพระรัชทายาทที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงสถาปนาขึ้น และประกาศสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อรับราชสมบัติปกครองราชอาณาจักรสืบสนองพระองค์ โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
"สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร"
ภาพจาก PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP
พระโอรส-พระธิดา
- พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
- หม่อมเจ้าจุฑาวัชร มหิดล
- หม่อมเจ้าวัชรเรศร มหิดล
- หม่อมเจ้าจักรีวัชร มหิดล
- หม่อมเจ้าวัชรวีร์ มหิดล
- พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์
- พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ
พระราชกรณียกิจ
ด้วยทรงตระหนักว่า สุขภาพพลานามัยอันดีของประชาชน เป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างสรรค์ทรัพยากรบุคคลอันมีคุณภาพไว้เป็นพลังในการพัฒนาประเทศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร จึงทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทรงโปรดให้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้น เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร โดยที่พระองค์ทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
- ด้านการศึกษา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร 6 โรงเรียน ไว้ในพระราชูปถัมภ์ และพระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาอันทันสมัยต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่นักเรียน รวมทั้งยังเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียน ทรงติดตามผลการศึกษา และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ พระราชธิดาทั้งสองพระองค์ ทรงร่วมกิจกรรมของโรงเรียนต่าง ๆ เสมอ
ขณะที่ในการศึกษาระดับอุดมศึกษา พระองค์ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
- ด้านสังคมสงเคราะห์
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีความห่วงใยต่อประชาชนผู้ด้อยโอกาส ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ หลายแห่ง และทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องกีฬา เครื่องดับเพลิง โปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารในบังคับบัญชาของพระองค์ ร่วมกับประชาชนพัฒนาสิ่งแวดล้อม ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของชุมชน เช่น โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน และโครงการปราบปรามยาเสพติดในหมู่เยาวชนชุมชนแออัดคลองเตย เป็นต้น
- ด้านการต่างประเทศ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ เสมอมา โดยเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีปอย่างเป็นทางการเป็นประจำทุกปี ปีละหลายครั้ง ซึ่งในการเสด็จพระราชดำเนินไปทุกครั้ง ทรงเตรียมพระองค์ด้วยการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประเทศที่จะทรงเสด็จฯ ไปทรงเยือน และระหว่างประทับอยู่ในประเทศนั้น ๆ ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการทอดพระเนตรและทรงศึกษากิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถนำมาเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบ้านเมืองไทยด้วย
- ด้านการเกษตรกรรม
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชพิธีพืชมงคล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นประจำ รวมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในการทำนาสาธิตโดยใช้ปุ๋ยหมัก ณ ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2529 ซึ่งในการนี้ ยังทรงปฏิบัติการสาธิตการทำนาด้วยพระองค์เอง ทรงถอดฉลองพระบาท ถลกพระสนับเพลา ทรงพระดำเนินลุยโคลน หว่านพันธุ์ข้าวปลูกและปุ๋ยหมักในแปลงนาสาธิต โดยมิได้มีกำหนดการไว้ก่อน นำพาความชื่นชมโสมนัสปลาบปลื้มปีติและซาบซึ้งในพระราชจริยวัตรแก่บรรดาข้าราชการและประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองพระบาทในพิธีการวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง
- ด้านการพระศาสนา
ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2509 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และมีพระราชศรัทธาทรงออกผนวชในพระบวรพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 ระหว่างทรงผนวช ทรงศึกษา และปฎิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด นอกจากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปปฏิบัติพระราชกิจทางศาสนาเป็นประจำเสมอ เช่น ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายกฐินหลวงตามวัดต่าง ๆ เป็นต้น
- ด้านการทหาร
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระวิริยะอุตสาหะในการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ด้านการทหารอยู่ตลอดเวลา โดยหลังสิ้นสุดการศึกษาด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2519 และทรงศึกษางานทางการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนกระทรวงกลาโหม ทรงประจำการ ณ กองปฎิบัติการทางอากาศพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีรบนอกแบบ หลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวนและต้นหนชั้นสูง หลักสูตรส่งทางอากาศ และยังทรงเข้าการศึกษาหลักสูตรต่าง ๆ ทางด้านการบินอีกมากมาย ทำให้พระองค์ทรงมีพระประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการบินในระดับสูงมาก
นอกจากนี้ ยังทรงรับราชการทหารมาโดยตลอด โดยปัจจุบันทรงดำรงพระยศทางทหารของ 3 เหล่าทัพ คือ พลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการทหาร โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่เขาล้าน จังหวัดตราด ด้วย
ภาพจาก PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP
ภาพจาก Carl COURT/AFP
ภาพจาก PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP
ภาพจาก PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP
***หมายเหตุ : อัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 11.50 น. วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559
ภาพจาก finearts.go.th, เฟซบุ๊ก Wassana Nanuamข้อมูลจาก thaigoodview, wikipedia