8 หนังสือพระราชนิพนธ์ คำสอนอันแยบยลจากปลายปากกาพ่อหลวง รัชกาลที่ 9

หนังสือพระราชนิพนธ์

          ย้อนระลึกถึงคำที่พ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพร่ำสอน ผ่านพระอัจฉริยภาพด้านวรรณกรรม ที่ทรงแฝงคติการดำเนินชีวิตผ่านตัวอักษรมาให้ชาวไทยได้อ่านกัน
   
          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่เพียงแต่ทรงงานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนชาวไทยเท่านั้น แต่พระองค์ยังทรงแบ่งเวลาไว้สำหรับหนังสือพระราชนิพนธ์ ที่ทรงแฝงแนวทางในการดำเนินชีวิตมาอย่างแยบยลตามคำที่ทรงได้สอนพสกนิกรเอาไว้ ซึ่งหากใครยังไม่ทราบว่าหนังสือพระราชนิพนธ์มีอะไรบ้าง วันนี้เราได้รวบรวม 8 หนังสือพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาให้ทราบตรงนี้แล้วค่ะ
 
หนังสือพระราชนิพนธ์

1. เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์
   
          เป็นหนังสือพระราชนิพนธ์เล่มแรกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยเนื้อหาในเล่มนี้จะเป็นบันทึกประจำวันระหว่างที่พระองค์เสด็จฯ กลับไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2489 ซึ่งพระองค์ก็ได้พระราชทานให้วารสารรายเดือน "วงวรรณคดี" เป็นผู้ตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2490 แต่เพียงสำนักพิมพ์เดียว

          ทั้งนี้เราขออัญเชิญตอนหนึ่งในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง "เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์" มาดังนี้

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเริ่มบทพระราชนิพนธ์ว่า... "วงวรรณคดี" ได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องเล็กน้อยที่ถนัดมาลงในหนังสือนี้นานมาแล้ว อันที่จริงข้าพเจ้าก็ไม่ใช่นักประพันธ์ เมื่ออยู่โรงเรียน เรียงความและแต่งเรื่องก็ทำไม่ได้ดีนัก...ฉะนั้น จึงตกลงใจส่งบันทึกประจำวันที่เขียนไว้ก่อนและระหว่างวันเดินทางจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์มาให้ และในโอกาสนี้จึงขอขอบใจเป็นการส่วนตัวต่อทุก ๆ คน ที่มาถวายความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชของข้าพเจ้า ณ พระมหาปราสาท ตลอดจนความปรารถนาดี ที่มีต่อตัวข้าพเจ้าเอง กับขอขอบใจเหล่าทหารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการ ด้วยความจงรักภักดีต่อเราทั้งสองด้วย

          วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489...รถแล่นฝ่าฝูงคนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมา ได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดัง ๆ ว่า "อย่าละทิ้งประชาชน" อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ "ทิ้ง" ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ "ละทิ้ง" อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว

หนังสือพระราชนิพนธ์

2. นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ
   
          เล่มนี้เป็นหนังสือที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง “A MAN CALLED INTREPID” ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของเซอร์วิลเลียม สตีเฟนสัน ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกโดยบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เมื่อปี พ.ศ. 2537 และมอบรายได้จากการจัดจำหน่ายเข้าสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา

          โดยเรื่องราวของหนังสือเล่มนี้จะเกี่ยวกับนายอินทร์ หัวหน้าหน่วยราชการลับของอาสาสมัครอังกฤษ ผู้ซึ่งมีความกล้าหาญ ยอมอุทิศชีวิตเพื่อความถูกต้อง ความยุติธรรม และสันติภาพ โดยไม่หวังลาภยศสรรเสริญใด ๆ ซึ่งนอกจากพระองค์ท่านจะทรงมีพระราชอุตสาหะในการแปลหนังสือเล่มนี้กว่า 501 หน้าแล้ว ยังทรงแทรกพระราชวินิจฉัยเอาไว้ในหลาย ๆ ตอน เพื่ออธิบายเพิ่มเติมให้คนไทยอ่านได้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย

หนังสือพระราชนิพนธ์

3. ติโต
   
          หนังสือพระราชนิพนธ์อีกหนึ่งเล่มที่แสดงให้เห็นถึงพระราชอุตสาหะในการแปล เนื่องจากวิธีการแปลของพระองค์จะทรงอ่านรวดเดียวจนจบ เพื่อหาว่าผู้เขียนต้องการสื่อความคิดใด และจึงทรงอ่านรายละเอียดทีละตอนอีกครั้งเพื่อถ่ายทอดความคิด เพราะมีพระราชประสงค์ที่จะให้คนไทยได้รู้จักเรื่องราวของมหาบุรุษโลก และนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตนั่นเอง

          โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแปลเรื่องติโตมาจากต้นฉบับเรื่อง Tito ประพันธ์โดย ฟิลลิส ออตี ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวประวัติของอดีตประธานาธิบดีแห่งยูโกสลาเวีย ผู้ซึ่งต่อสู้เพื่อชาติจากการคุกคามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2537 โดยมอบรายได้จากการจัดจำหน่ายสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา

หนังสือพระราชนิพนธ์

4. พระมหาชนก

          บทพระราชนิพนธ์ที่ทรงคุณค่าอย่างหาที่เปรียบมิได้ เนื่องจากมีข้อคิดสอนใจเกี่ยวกับเรื่องความเพียร ความมีวิริยะอุตสาหะ ที่สำคัญยังเป็นหนังสือที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสว่า "หนังสือเรื่องนี้เป็นที่รักของข้าพเจ้า"
   
          โดยบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกเป็นเรื่องของ 1 ในทศชาติชาดก ซึ่งเป็นชาดก 10 ชาติสุดท้าย ก่อนที่พระโพธิสัตว์จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์และทรงสนพระราชหฤทัย จึงได้มีการค้นคว้าเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎกและพระสุตตันตปิฎก และทรงนำมาพระราชนิพนธ์ด้วยภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย พร้อมทั้งทำภาพประกอบต่าง ๆ ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น
   
          ทั้งนี้ในหนังสือพระมหาชนก ได้มีพระราชปรารภระบุถึงที่มาที่ไปของหนังสือเรื่องนี้ว่า แต่เดิมพระองค์ทรงแปลและศึกษาเรื่องพระมหาชนกนานกว่า 11 ปี จนกระทั่งปี 2531 ได้มีการเผยแพร่บทพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก แต่ยังมีความเข้าใจยาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ศิลปินมาวาดรูปประกอบเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น จนกระทั่งปี 2539 จึงมีการเผยแพร่หนังสือพระมหาชนกขึ้นมาใหม่

หนังสือพระราชนิพนธ์

5. พระมหาชนก ฉบับการ์ตูน

   
          หลังจากบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกถูกเผยแพร่ออกไปและเป็นที่ชื่นชอบอย่างมาก ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2542 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์พระมหาชนกฉบับการ์ตูนออกมา เพราะทรงมีพระราชประสงค์ให้เยาวชนไทยได้เข้าถึงเนื้อหาของพระมหาชนก นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชดำริให้ใช้ลายเส้นแบบไทย ๆ ในการวาดภาพการ์ตูนประกอบ เพื่อแสดงถึงความเป็นไทย โดยภาพการ์ตูนในหนังสือพระมหาชนกฉบับนี้ได้คุณชัย ราชวัตร เป็นผู้เขียนการ์ตูนประกอบ

หนังสือพระราชนิพนธ์

6. เรื่องทองแดง
   
          หนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องทองแดงเป็นพระราชนิพนธ์ที่เปิดตัวในปี พ.ศ. 2545 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเผยแพร่หนังสือเรื่องคุณทองแดงทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเล่มเดียวกัน โดยมีเนื้อหาที่กล่าวถึงความฉลาดแสนรู้ของคุณทองแดง รวมทั้งความจงรักภักดี ความมีมารยาท และความกตัญญูที่คุณทองแดงมีต่อแม่มะลิ โดยในตอนหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงยกย่องคุณทองแดงว่า “ผิดกับคนอื่นที่กลายมาเป็นคนสำคัญแล้วมักจะลืมตัว และดูหมิ่นผู้มีพระคุณที่เป็นคนต่ำต้อย”

หนังสือพระราชนิพนธ์

7. เรื่องทองแดง ฉบับการ์ตูน
   
          หลังจากหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องทองแดงเผยแพร่ออกมา ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักอ่าน และเป็นที่ชื่นชอบของเด็ก ๆ เยาวชนไทย ดังนั้นพระองค์จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์หนังสือเรื่องคุณทองแดงขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเรื่องคุณทองแดงในฉบับนี้มีรูปแบบลายเส้นการ์ตูนโดยใช้ชื่อ “ทองแดงฉบับการ์ตูน” เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น และดูสดใสน่ารักตามแบบฉบับของตัวละครอย่างคุณทองแดงนั่นเอง

หนังสือพระราชนิพนธ์

8. พระราชดำรัส
   
          บทพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ โดยเป็นหนังสือที่รวบรวมพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของทุกปี ซึ่งในเล่มนี้จะเริ่มด้วยพระราชดำรัสเรื่องน้ำและสิ่งแวดล้อม อันเป็นพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2532 โดยพระราชดำรัสในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากสหประชาชาติเป็นอย่างมากอีกด้วย และจากพระราชดำรัสดังกล่าว ทำให้รัฐบาลมีมติประกาศให้วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันสิ่งแวดล้อมไทย” หลังจากนั้นก็ทรงแปลพระราชดำรัสในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเรื่อยมา

          เห็นได้ชัดว่าพระองค์ไม่เพียงแต่ทรงงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเท่านั้น แต่ยังทรงเห็นความสำคัญในการพัฒนาทักษะการอ่านและทักษะการคิดให้แก่พสกนิกรชาวไทย อีกทั้งยังทรงเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ของเหล่านักคิดนักเขียนอย่างหาที่สุดมิได้อีกด้วย


ภาพจาก เรารักพระเจ้าอยู่หัว, komkid, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
วิชาการ.คอม
ชมรมนักอ่านห้องสมุดสตางค์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เรารักพระเจ้าอยู่หัว


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
8 หนังสือพระราชนิพนธ์ คำสอนอันแยบยลจากปลายปากกาพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 อัปเดตล่าสุด 6 ตุลาคม 2560 เวลา 11:17:19 52,648 อ่าน
TOP