วันที่ 9 มกราคม 2560 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มี ร.อ. ทินพันธ์ นาคะตะ ประธาน สปท. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเรื่องการควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ในฐานะประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง นำเสนอรายงาน ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญว่าควรให้แก้ไขกฎหมายและอัตราโทษในความผิดทุจริตคอร์รัปชัน โดยผู้ใดกระทำผิดทุจริตคอร์รัปชันให้ลงโทษตามเกณฑ์ตัวอย่าง ดังนี้
1. มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชันจำนวนเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี
2. มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชัน จำนวนเงินเกินกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท ต้องระวางโทษจำคุก 10 ปี
3. มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชัน จำนวนเงินเกินกว่า 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ต้องระวางโทษจำคุก 20 ปี
4. มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชัน จำนวนเงินเกินกว่า 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1 พันล้านบาท ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
5. มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชัน จำนวนเงินเกินกว่า 1 พันล้านบาทขึ้นไป ต้องระวางโทษประหารชีวิต
นายเสรี กล่าวว่ารายงานที่เสนอเพื่อให้เกิดความชัดเจน ป้องกันให้คนที่ปฏิบัติหน้าที่ที่คิดจะทุจริต ให้ระวังว่ามีโทษอย่างไร จึงกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง ในหลาย ๆ ประเทศก็กำหนดบทลงโทษไว้รุนแรงเช่นกัน เราได้ศึกษาในเรื่องเหล่านี้ เป็นส่วนการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เพื่อจะแก้ไขปัญหาได้สัมฤทธิ์ผล จึงได้เสนอแนะ การควบคุมการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐควบคู่ไปด้วย อาทิ การแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ควรให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินนับแต่วันเริ่มบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการโดยให้จัดเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ที่หน่วยงานต้นสังกัดที่บุคคลนั้นบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบกรณีที่มีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อหน้าที่หรือไม่
ด้านนายกษิต ภิรมย์ สปท. ค้านว่า รับไม่ได้กับข้อเสนอแนะที่ให้ประหารชีวิต เนื่องด้วยนับถือพระพุทธศาสนา ไม่เห็นด้วยที่จะมีการลงโทษเพื่อนมนุษย์อย่างรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต
นายเสรี อธิบายว่าการเสนออัตราโทษเป็นการเสนอตามประมวลกฎหมายอาญา ในมาตรา18 เราไม่ได้คิดเอง ส่วนอนาคตจะยกเลิกหรือไม่เป็นอีกเรื่อง ถ้าจะแก้ไขตรงนี้อาจต้องไปแก้ไขกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับ รวมทั้งกฎหมายอาญาด้วย เพราะเรื่องทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาร้ายแรง กัดกร่อนประเทศมานาน ที่เสนอ ไม่ได้หมายความว่าจะไปลงโทษใคร เพียงแต่เสนอให้โทษแรง ให้คนเกรงกลัว ไม่กระทำความผิด เกิดความยับยั้งชั่งใจ ไม่ได้มีเจตนาร้ายไปฆ่าหรือให้ใครต้องเสียชีวิต แต่เป็นการป้องกันปัญหาใหญ่คอร์รัปชัน ซึ่งคนที่จะเกินพันล้าน หมื่นล้าน แสนล้าน ก็มีอยู่ไม่กี่คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการอภิปราย สมาชิก สปท. ได้ลงมติ เห็นด้วย 155 ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 7 จากนั้นจะมีการนำความคิดเห็นสมาชิกไปปรับปรุงก่อนส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พิจารณาต่อไป