วันพืชมงคล 2568 พิธีแรกนาขวัญ เปิดคำทำนายจากพระโค

           วันพืชมงคล 2568 พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ตรงกับวันที่ 9 พฤษภาคม มาดูว่าพระราชพิธีพืชมงคล มีอะไรบ้าง ประวัติวันพืชมงคล และพิธีแรกนาขวัญ มีความเป็นมาอย่างไร พร้อมอ่านคำทำนาย วันพืชมงคล 2568 พระโคเสี่ยงทาย กินน้ำ หญ้า เหล้า พยากรณ์ความหมายว่าอย่างไร

วันพืชมงคล

          หากเอ่ยชื่อ วันพืชมงคล หรือภาษาอังกฤษว่า Royal Ploughing Ceremony แล้ว วันนี้ถือว่าเป็นวันหยุดราชการ ที่หลายคนจะได้พักผ่อนอยู่บ้าน แต่จะมีสักกี่คนรู้รายละเอียด รู้ความหมาย หรือรู้ความเป็นมาเป็นไปของ "วันพืชมงคล" อย่างแท้จริง เอาเป็นว่าเราไปเจาะลึกประวัติและความเป็นมาของ "วันพืชมงคล" กันดีกว่า...

วันพืชมงคล หมายถึงอะไร ?


          วันพืชมงคล คือ วันที่กำหนดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีเก่ามาแต่โบราณที่เสริมสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรของชาติ เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยการจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งพระราชพิธีนี้จะกระทำที่ท้องสนามหลวง ประกอบด้วย 2 พระราชพิธี คือ พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

          พิธีพืชมงคล


          เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชพรรณต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นปราศจากโรคภัย และให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี

          พิธีแรกนาขวัญ


          เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่าบัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว

ประวัติวันพืชมงคล


          พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พิธีแรกนา เป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นแต่เพียงเสด็จฯ ไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จฯ ไปเป็นองค์ประธาน แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ และจะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

          ต่อมา สมัยรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญแทนพระองค์ และมิได้ถือว่าเป็นพิธีหน้าพระที่นั่ง เว้นแต่เมื่อมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร สถานที่ประกอบพิธีในตอนแรก ๆ จึงไม่ตายตัว แล้วแต่จะทรงกำหนดให้ ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคล จึงได้เริ่มมีขึ้นแต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า "พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ"

          ส่วนพิธีกรรมนอกเหนือจากการทำให้เป็นตัวอย่างตามที่ทรงจำแนกไว้ 3 อย่าง โดย 2 อย่างแรกที่ว่า "อาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง" ทรงหมายถึง พิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ที่กระทำ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนอีกอย่างหนึ่งที่ว่า "บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง" ทรงหมายถึงพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์

          ดังนั้น จึงพอจะสรุปความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุให้เกิดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้ได้ว่า พิธีแรกนาขวัญมุ่งหมายที่จะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร เพื่อชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนา อันเป็นอาชีพหลักที่สำคัญของคนไทยที่มีมาแต่ช้านานสืบมาจนปัจจุบันยังคงเป็นอยู่อย่างนั้น เพราะการเกษตรซึ่งมีการทำนาเป็นหลักนั้นเป็นสิ่งสำคัญแก่ชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศทุกสมัย

          ส่วนวันประกอบพิธีนั้นต้องเป็นวันที่ดีที่สุดของแต่ละปี ประกอบด้วย ขึ้น แรม ฤกษ์ยาม ให้ได้วันอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์ แต่ต้องอยู่ในระหว่างเดือน 6 เพราะเดือนนี้เริ่มจะเข้าฤดูฝน เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จะได้เตรียมทำนา เมื่อโหรหลวงคำนวณได้วันอุดมมงคลพระฤกษ์ที่จะประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว สำนักพระราชวังจะได้ลงไว้ในปฏิทินหลวงที่พระราชทานในวันขึ้นปีใหม่ทุกปี และได้กำหนดไว้ว่าวันใดเป็นวันพืชมงคล วันใดเป็นวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

          พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แต่เดิมมาทำที่ทุ่งนาพญาไท เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่ จึงจัดให้มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง ทั้งนี้ วันแรกนาขวัญเป็นวันสำคัญของชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติให้หยุดราชการ 1 วัน และมีประกาศให้ชักธงชาติตามระเบียบทางราชการ

วันพืชมงคล
ภาพจาก Satin / Shutterstock.com

การประกอบพระราชพิธีวันพืชมงคล


          พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญพืชพรรณธัญญาหารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งข้าวที่นำเข้าพิธีพืชมงคลนั้นเป็นข้าวเปลือก มีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว นอกจากนี้ยังมีเมล็ดพืชต่าง ๆ รวม 40 อย่าง แต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาว และยังมีข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนา บรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนึ่ง เป็นข้าวพันธุ์ดีที่โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกในสวนจิตรลดา และพระราชทานมาเข้าพิธีพืชมงคล

          โดยพันธุ์ข้าวพระราชทานนี้จะใช้หว่านในพระราชพิธีแรกนาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่เหลือทางการจะบรรจุซองแล้วส่งไปแจกจ่ายแก่ชาวนาและประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ให้เป็นมิ่งขวัญและเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนี้

          ทั้งนี้ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในปัจจุบันนี้ได้ดำเนินตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี เว้นแต่บางอย่างได้มีการดัดแปลงให้เหมาะแก่กาลสมัย อาทิ พิธีของพราหมณ์ก็มีการตัดทอนให้เหลือน้อยลง พระยาแรกนาก็ให้ตกเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีนั้นคัดเลือกจากข้าราชการสตรีโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระดับ 3-4 คือขั้นโทขึ้นไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระราชพิธีทุกปี มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทูตานุทูต และประชาชน มาชมการแรกนาเป็นจำนวนมาก

          สำหรับการประกอบพิธีนั้นก็จะถูกกำหนดขึ้นโดยโหรหลวง ในระหว่างพิธีอันสวยงามนี้ก็จะมีการทำนายปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง และแล้วพระยาแรกนาก็จะทำการเลือกผ้า 3 ผืนที่มีความยาวต่างขนาดกันตามชอบใจ ผ้าทั้ง 3 ผืนนี้จะดูคล้ายกัน ถ้าพระยาแรกนาเลือกผืนที่ยาวที่สุด ทายว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมีน้อย ถ้าเลือกผืนที่สั้นที่สุด ทายว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมาก และถ้าเลือกผืนที่มีความยาวปานกลาง ทายว่า มีปริมาณน้ำฝนพอประมาณ

          หลังจากสวมเสื้อผ้าที่เรียกว่า "ผ้านุ่ง" เรียบร้อยแล้ว พระยาแรกนาก็จะไถลงไปบนพื้นที่ท้องสนามหลวงด้วยพระนังคัลสีแดงและสีทอง ซึ่งลากโดยพระโคผู้สีขาว ตามขบวนด้วยเทพีทั้งสี่ ผู้ซึ่งหาบกระเช้าทองและกระเช้าเงินที่บรรจุด้วยเมล็ดข้าวเปลือก นอกจากนี้ก็มีคณะพราหมณ์เดินคู่ไปกับขบวน พร้อมทั้งสวดและเป่าสังข์ไปพร้อมกัน

          เมื่อเสร็จจากการไถแล้ว พระโคก็จะได้รับการป้อนพระกระยาหารและเครื่องดื่ม 7 ชนิด คือ เมล็ดข้าว ถั่ว ข้าวโพด หญ้า เมล็ดงา น้ำ และเหล้า ไม่ว่าพระโคจะเลือกกินหรือดื่มสิ่งใด ทายว่าปีนี้จะอุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่งที่พระโคเลือกนั้น

          เมื่อเสร็จพิธีแล้วประชาชนจะพากันแย่งเก็บเมล็ดข้าวที่หว่านโดยพระยาแรกนา เพราะว่าเมล็ดข้าวนี้ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มีไว้ในครอบครอง ชาวนาก็จะใช้เมล็ดข้าวนี้ผสมกับเมล็ดข้าวของตน เพื่อให้พืชผลในปีที่จะมาถึงนี้อุดมสมบูรณ์

          สำหรับพระโคที่จะเข้าพระราชพิธีแรกนาขวัญจะถูกเลี้ยงดูอย่างดีในทุ่งหญ้าที่จังหวัดราชบุรี พระโคที่ใช้ในพระราชพิธีจะต้องมีลักษณะที่ดี ขาดเกินไม่ได้ คือ หูดี ตาดี แข็งแรง เขาทั้งสองตั้งตรงสวยงาม พระโคแต่ละคู่ต้องสีเหมือนกัน ซึ่งจะมีการคัดเลือกพระโคเพียง 2 สีเท่านั้น คือ สีขาวสำลีและสีน้ำตาลแดง และเจาะจงแต่เพศผู้เท่านั้น โดยต้องผ่านการ "ตอน" เสียก่อนด้วย  

          อนึ่ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นวันเกษตรกรประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันพืชมงคล


          1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ 

          2. จัดนิทรรศการ แสดงประวัติความเป็นมา และความสำคัญของวันพืชมงคล รวมทั้งพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ


วันพืชมงคล
ภาพจาก topten22photo / Shutterstock.com

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2568


          สำหรับพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2568 จัดพิธีพราหมณ์ ณ มณฑลพิธีสนามหลวง โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา ตามฤกษ์พิธีไถหว่าน ระหว่างเวลา 08.09-08.39 น.                     
 
           เทพี คู่หาบทอง ได้แก่ 
           1. น.ส.ปนัดดา เปี่ยมมอญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ 
           2. น.ส.ภัทรปภา มินรินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร

           เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่  
           1. น.ส.ธิรดา วงษ์กุดเลาะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร 
           2. น.ส.วราภรณ์ วิลัยมาตย์ เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน กรมวิชาการเกษตร

           พระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ ได้แก่ พระโคพอ พระโคเพียง และพระโคสำรอง ได้แก่ พระโคเพิ่ม พระโคพูล เป็นโคพันธุ์ขาวลำพูน มีสีผิวขาวอมชมพู ขนสีขาวสะอาด ทั้งลำตัวไม่มีจุดด่างดำหรือสีอื่นบนลำตัว เขามีสีขาว ลำตัวเป็นลำเทียน เขาทั้งสองข้างมีลักษณะโค้งสวยงาม ดวงตาแจ่มใสสีน้ำตาลอ่อน ขนตาสีชมพู บริเวณจมูกขาว กีบสีขาว ขนหางเป็นพวงสีขาวยาว ลำตัวช่วงขาหลังและกีบมีความสมบูรณ์แข็งแรง เวลายืนและเดินสง่า

           สำหรับพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทานที่จะแจกจ่ายในปีนี้ ประกอบด้วย พันธุ์ข้าวนาสวน 6 พันธุ์ และพันธุ์ข้าวเหนียว 2 พันธุ์ น้ำหนักรวม 2,743 กิโลกรัม

วันพืชมงคล 2568 พระโค ได้ทำการเสี่ยงทาย น้ำ หญ้า และ เหล้า 


 สำหรับวันพืชมงคล 2568 นั้น พระโคกิน น้ำ-หญ้า-เหล้า ด้านพระยาแรกนา เสี่ยงทายได้ผ้านุ่ง 5 คืบ อ่านคำคำทำนาย วันพืชมงคล 2568 พระโคเสี่ยงทาย กินน้ำ หญ้า เหล้า พยากรณ์ว่าอย่างไร


เช็ก ปฏิทิน 2568 ทั้ง ปฏิทินวันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และ วันสำคัญ 2568 เพิ่มเติม


ขอบคุณข้อมูลจาก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรุงเทพธุรกิจ 


อ่านบทความวันสำคัญอื่น ๆ

วันฉัตรมงคล ในรัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี 
2 กุมภาพันธ์ วันเกษตรแห่งชาติ 
วันครูแห่งชาติ 
วันประมงแห่งชาติ 21 กันยายน
- 3 กุมภาพันธ์ วันทหารผ่านศึก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันพืชมงคล 2568 พิธีแรกนาขวัญ เปิดคำทำนายจากพระโค อัปเดตล่าสุด 7 มกราคม 2568 เวลา 18:12:03 644,975 อ่าน
TOP
x close