x close

Burn-Out Syndrome ภัยเงียบของคนทำงาน

ทำงาน


          เหนื่อยล้า เพลียทั้งกายและใจเหมือนแบตเตอรี่หมด เพราะทำงานหามรุ่งหามค่ำแทบไม่ได้สนุสนานกับชีวิต นี่คืออาการของคนที่ทำงานโอเว่อร์ อดีตดารานักเทนนิสชาวเยอรมัน อสเตฟฟี่ กราฟ ต้องเลิกเล่นเทนนิสเมื่อเธอมีครอบครัวและลูกๆ ที่ต้องดูแล

          ทั้งนี้ ผู้หญิงที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาทั้งในบ้านและนอกบ้านมักจะมีความเสี่ยงกับภาวะ Burn-Out Syndrome ได้ง่าย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่าทุกคนมีอาการ Burn-Out Syndrome ไม่มากก็น้อย  สอบถามผู้เชี่ยวชาญเพื่อไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่ะ

 Q : Burn-Out หมายถึงอะไร

          A : หมายถึงการทำงานหนักเกินไป และไม่ได้สัดส่วนกับการพักผ่อนจนเกิดอาการ เช่น สมองไม่แล่น ความจำไม่ดี อ่อนเปลี้ยเพลียแรง นอนไม่หลับเหมือนเครื่องยนต์ที่วิ่งไม่หยุด จนทำให้เครื่องร้อนจนหม้อน้ำเดือด คือถ้าเป็นคนก็หมายถึงหมดไฟ ทำงานจนหมดพลัง ไม่มีประจุเก็บไว้ใช้งานอีก นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เฮร์เบิร์ตเจ ฟรอยเดนเบอร์เกอร์ ได้นำชื่อ Burn-Out มาใช้ในการรักษาทางจิตเวชเมื่อปี 1974 ซึ่งก็คือโรคทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งมักเกิดกับคนที่ตั้งความหวังไว้สูงเกี่ยวกับตัวเองและต้องการความเพอร์เฟ็กตื จนก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางร่างกายและจิตใจ

 Q : สัญญาณเริ่มแรกของโรค Burn-Out เป็นอย่างไร

          A :รู้สึกเบื่องาน นอนไม่หลับ เครียดไม่มีความสุข ไม่สนุกกับงาน คือต้องแยกจากโรคซึมเศร้าและโรคเครียดซึ่งมีอาการคล้ายๆ กัน แต่มีสาเหตุที่แตกต่างกัน อย่างโรคเครียดก็ต้องมีสาเหตุที่ชัดเจน เช่น เครียดจากเศรษฐกิจ เครียดเรื่องลูก กลัวภรรยาหรือสามีไม่ได้ดังใจ หรือภรรยากลัวสามีไปมีผู้หญิงอื่น หรือผู้ชายอาจหึงหวงภรรยาสาวสวย ลูกเรียนไม่ดีก็ทำให้พ่อแม่กลุ้มใจ 

          A : ส่วนอาการซึมเศร้าก็จะมีสาเหตุที่ทำให้เศร้า เช่น การสูญเสียไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินเงินทอง หน้าที่การงาน ตำแหน่ง ฯลฯ อีกส่วนหนึ่งของโรคซึมเศร้าก็เกิดจากสารเคมีในสมองผลิตน้อยเกินไป หรือจากกรรมพันธุ์ พอถึงเวลาเป็นก็จะเป็นขึ้นมา ส่วนโรค Burn-Out จะเกี่ยวกับการทำงานโอเว่อร์เกินไป ใช้เวลาทำงานเยอะเกินไป คือมีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

 Q : ทำไมจึงเกิดอาการ Burn-Out ได้

          A : เมื่อคนเราทำงานมากกว่าสัดส่วนนี้ได้ คือเราควรทำงานแล้วก็พัก เช่น เวลาทำงานหนึ่งชั่วโมง เราก็ควรใช้สมอง 45 นาที แล้วก็พัก 10-15 นาที สมองก็จะได้พัก ได้ขจัดเมตาบอลิซึ่ม ของเสียต่างๆ ออกไป หมุมเวียนเอาวัตถุดิบเข้ามาใหม่ ควรหมุมเวียนเช่นนี้ทุกๆ ชั่วโมง การงานก็เหมือนกันทั่วโลก เค้าทำงานกัน 5 วัน พัก 2 วัน ในสัปดาห์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ถ้า Burn-Out นี่มันไม่ได้สัดส่วนที่ควรเป็นตามที่ธรรมชาติต้องการ คือทำงานมากเกินไปจนไม่มีเวลาหยุดพัก หรือหยุดพักไม่เพียงพอก็จะหมดเรี่ยวแรงหมดพลัง

 Q : ถ้าเราปล่อยให้ Burn-Out ไปเรื่อยๆ จะส่งผลอย่างไร

          A :ก่อให้เกิดโรคที่เป็นไปได้มากกว่า 100 โรค สุดท้ายก็ก่อให้เกิดโรคร้ายแรง เช่น โรคเกี่ยวกับหู โรคหัวใจ หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต สัญญาณแรกก็คือหมดพลัง หมดความกระตือรือร้น เฉื่อยชา บางคนอาจเป็นโรคซึมเศร้าตามมาได้ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ความจำแย่ลง ขาดสมาธิ หงุดหงิดง่าย ร่างกายอ่อนเปลี้ย ไม่ค่อยมีแรง นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ประสาทเครียด ความดันโลหิตสูง มีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อสูง ซึ่งส่วนมากคนที่เป็นโรค Burn-Out ก็มักหาทางออกปลอบจิตตัวเองด้วยการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป กินยานอนหลับ กินอาหารมากเกินไป และสูบบุหรี่มากเกินไป

 Q : เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเริ่มเป็น Burn-Out แล้วนะ

          A : เริ่มรู้สึกว่าการทำงานไม่เหมือนเดิม สมาธิในการทำงานและความตั้งใจในการทำงานต่างๆ ลดลง มีอาการข้างเคียงอื่นๆ เช่นความจำไม่ดี นอนไม่ค่อยหลับ ซึ่งต้องมีสาเหตุมาจากการทำงานที่โอเว่อร์เกินไป ไม่ได้หมายถึงสาเหตุอื่นๆ

 Q : ผู้หญิงไทยก็น่าจะเสี่ยงกับการเป็น Burn-Out Syndrome เพราะต้องทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน วันเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่ได้หยุด

          A : ใช่ครับ จริงๆ แล้วคนไทยมักมีอาการ Burn-Out โดยไม่รู้ตัว เพราะคนไข้ที่มาพบจิตแพทย์ส่วนใหญ่มักเลยเถิดไปถึงโรคซึมเศร้า แล้วนอกจากนี้ สังคมและวัฒนธรรมไทยมีส่วนทำให้ผู้หญิงต้องยอมรับ  ต้องเงียบๆ หัวอ่อน ไม่มีปากเสียง โอกาสจะเข้าข่ายเป็น Burn-Out ก็จะสูง การที่ผู้หญิงต้องแบกภาระมากมาย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงเป็นโรคจิต โรคเครียด โรคประสาทเยอะกว่าผู้ชาย 

          A : ทางจิตเวชผู้หญิงจึงมีมากกว่าผู้ชายสองเท่า บางโรคสามสี่เท่า ฉะนั้น คนไทยในสังคมเมืองจึงมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงมาก และมักเป็นกับคนวัยทำงานและกับวัฒนธรรมการทำงาน อย่างเช่นในประเทศญี่ปุ่นทำงานกันตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 2-3 ทุ่ม ด้วยเหตุนี้ ชายญี่ปุ่นจึงเข้าคลับบาร์หรือเล่นเกมหลังเลิกงาน ไม่ตรงกลับบ้านเพราะเครียดกับงานมาก

 Q :  เราควรรักษาอาการ Burn-Out ของตัวเองอย่างไร

          A : ให้ความสมดุลกับจิตใจ เช่น ตรึกตรองว่าฉันได้พลังมาจากไหนแล้วฉันจะใช้พลังเพื่ออะไรบ้าง คุณภาพชีวิตของฉันเป็นอย่างไร ระหว่าง 0 (แย่มาก) และ10 (ดีมาก) ปัจจัยใดที่ก่อให้เกิดความเครียดแล้ว ฉันจะหลีกเลี่ยงความเครียดได้อย่างไร ฉันใช้จ่ายเงินอย่างไร จุดมุ่งหมายก็คือการมีความสุขในชีวิตมากขึ้น เราควรใส่ใจกับร่างกายและจิตใจของตัวเอง 

          A : ข้อแนะนำก็คือ การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง เช่น จ๊อกกิ้งหรือขี่จักรยาน หรืออกกำลังกายกับหมู่คน เช่น เล่นวอลเลย์บอลและเทคนิคการผ่อนคลายอื่นๆ หรือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เช่น โยคะ

 Q : แล้วจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากจิตแพทย์หรือไม่ 

          A : จริงๆ แล้วไม่จำเป็นก็ได้ แต่การได้พูดคุยกับจิตแพทย์ก็จะช่วยทำให้มองเห็นการแก้ปัญหาของตัวองได้ การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเริ่มที่สมอง สิ่งสำคัญก็คืออย่าให้ขาดอารมณ์ขัน พึงระลึกไว้เสมอว่า ไม่มีความหวังกับอดีต แต่มีความหวังกับอนาคตเท่านั้น


ข้อมูลจาก

ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต
ประจำวันที่ 2 เดือนเมษายน พ.ศ.2551

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Burn-Out Syndrome ภัยเงียบของคนทำงาน โพสต์เมื่อ 9 พฤษภาคม 2551 เวลา 11:20:43 33,188 อ่าน
TOP