x close

ขันนอต ตรวจสื่อ ผลกระทบเด็ก เยาวชน





        การติดตามเนื้อหาของสื่อที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ดำเนินมาต่อเนื่องและเข้มข้นขึ้นในระยะนี้ หลังจากมีการตั้งประเด็นคดีอาชญากรรมและกรณีทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับครอบครัวและเยาวชนกับสื่อมากขึ้น

        น.พ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ กล่าวว่า เด็กวัย 11-13 ปี ถือเป็นวัยที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น ทำให้สนใจเรื่องเพศ หากมีการเรียนรู้ในทางที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการเรียนรู้ผ่านสื่อลามกต่างๆ จะส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ใน 3 ด้าน

        1.คิดว่าเป็นสิ่งที่ดี 

        2.ลดการยับยั้งชั่งใจเพราะเกิดการกระตุ้นจากสิ่งที่พบเห็น 

         3.ชินชา จากการรับรู้ช้ำหลายครั้งและการร่วมกระทำกับกลุ่มเพื่อน จะทำให้ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ผิด เนื่องจากปัจจุบันเด็กสามารถเรียนรู้เรื่องเพศได้จากสื่อหลายแหล่งที่กระตุ้นและส่งเสริมในทางที่ผิด ขณะที่กิจกรรมที่ดีกลับลดลง

        ปัญหาการระบาดของสื่อลามก พบว่า 50% เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ 30% เผยแพร่ในรูปแบบซีดี และอีก 20% เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ เด็กเลือกเข้าร้านอินเตอร์เน็ตได้สะดวกสบาย ในขณะที่มาตรการทางกฎหมายยังไม่เข้มงวดเพียงพอ โดยเฉพาะสื่อสีดำ มีบทลงโทษเพียงปรับไม่เกิน 6,000 บาท ทำให้ผู้เผยแพร่และผลิตสื่อดังกล่าวไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

        ดังนั้น แนวทางแก้ไขปัญหา รัฐบาลควรกระทำใน 2 ด้าน คือ การสกัดกั้นสื่อร้ายและสร้างพื้นที่ดีให้กับเด็ก สำหรับงานแถลงผลติดตามสื่อเรื่อง "ดูดู๊ดูสื่อไทย ทำไมถึงทำกับเด็กได้" ที่สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแนวร่วมเยาวชนสร้างสรรค์สื่อไทย ประกอบด้วย สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร เครือข่ายประธานนักเรียน เครือข่ายเอดส์และเพศศึกษา (V-Teen) เครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์สังคม (Saf) เครือข่ายนิเทศศาสตร์ มีผลการติดตามสื่อละครและโฆษณาทางโทรทัศน์เป็นพิเศษ 

        จากการติดต่อสำรวจพฤติกรรมการดูทีวีของเด็ก โดยสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย พบว่า การดูโทรทัศน์ของเด็กและเยาวชนอายุ 10-25 ปี เมื่อวันที่ 2-5 พ.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 565 คน พบกลุ่มตัวอย่างเกือบ 60% จะดูทีวีคนเดียว

        ดังนั้น เมื่อพบรายการที่ไม่เหมาะกับช่วงวัย เช่น ไม่เหมาะกับผู้ชมอายุต่ำกว่า 13 (น13) หรือ 18 (น18) รายการเฉพาะไม่เหมาะกับเด็กและเยาวชน (ฉ) ที่มีจะมีการขึ้นคำเตือน แต่เด็กอายุ 10-15 ปี จำนวน 58% จะดูตามปกติ เด็กอายุ 16-20 ปี จำนวน 81.6% ดูตามปกติเช่นกัน ส่วนกลุ่มที่ดูทีวีกับผู้ปกครอง แล้วเจอรายการไม่เหมาะกับวัยแต่ดูโดยไม่เปลี่ยนช่องนั้น มีผู้ปกครอง 54.8% ที่พูดคุยให้คำแนะนำระหว่างดู

        ในส่วนของละคร นายสาโรช จำปาศักดิ์ รองประธานสภาเด็กฯ กล่าวว่า ฉากที่คิดว่ารุนแรง 8 อันดับแรก คือ 1.ฉากตบตีกันนานๆ 2.ข่มขืน 3.ด่าทอ 4.ขว้างปาทำลายสิ่งของ 5.ล้อเลียนดูถูก คนแก่ ผู้หญิง เพศทางเลือก 6.แต่งกายโป๊ วับๆ แวมๆ 7.ดื่มเหล้า 8.กระโดดถีบ โดย 70.4% บอกว่า เคยเห็นเด็กๆ เลียนแบบการแสดงต่างๆ ในทีวี เช่น ร้องกรี๊ดๆ เวลาไม่พอใจ ด่ากัน ตบตีกัน เล่นเป็นพ่อ ผัวเมีย และกลุ่มตัวอย่าง 33.8% ยอมรับว่าตัวเองก็เคยอยากเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านี้

        มาถึงสื่อโฆษณา การสำรวจพบว่า เด็ก 10-15 ปี เกือบ 50% บอกว่า โฆษณาขนมกรุบกรอบที่มีของแจกของแถมทำให้อยากซื้อขนมมากถึงมากที่สุด และเจอโฆษณาเหล่านี้มากถึงมากที่สุดในรายการเด็กเกือบ 50% เช่นกัน ขณะที่เด็ก 60.8% ต้องการให้คุมการโฆษณาขนมกรุบกรอบที่มีของแจกของแถม

        นายสาโรช กล่าวว่า จากผลสำรวจนี้ จึงอยากให้เจ้าของสถานีโทรทัศน์มีความตระหนัก ช่วยกันแก้ปัญหา ด้านหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงอย่างกระทรวงวัฒนธรรม มีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เช่นกัน

        น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า เครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ต้องการให้วธ.ขอความร่วมมือจากผู้จัดละคร ผู้กำกับฯ เจ้าของช่อง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ตระหนักกับบทละคร พยายามหลีกเลี่ยงฉากความรุนแรงและก้าวร้าว แม้ละครก็คือละคร แต่ถ้ามีการนำเสนอเรื่องราวที่เหมือนๆ กัน ซ้ำๆ ก็จะเป็นการตอกย้ำ เด็กและเยาวชนจะซึมซับอย่างไม่รู้ตัว เพราะเด็กยังขาดวุฒิภาวะในการพินิจวิเคราะห์ อาจทำให้เด็กจำตัวอย่างในละคร เห็นว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติธรรมดา และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

        นอกจากนี้ อยากจะฝากให้ผู้ปกครองแนะนำบทละครที่มีฉาก คำพูด หรือพฤติกรรมไม่เหมาะสมเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก และบอกให้เด็กรู้ว่าสิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิด ทั้งนี้ ช่วงปิดเทอมอยากให้ผู้ปกครองควรสนใจบุตรหลานให้มาก

        ด้าน นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าหลังเปิดตัวเว็บไซต์http://www.me.or.th/ เพื่อใช้ประเมินเนื้อหารายโทรทัศน์อย่างเป็นทางการพบว่า ใช้ดูรายการโทรทัศน์ขณะที่กำลังออกอากาศและย้อนหลังได้เป็นอย่างดี ซึ่งจากนี้ไปประชาชนทั่วประเทศสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นว่า รายการทีวีช่องไหนมีการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ (เรตติ้ง) ที่ไม่เหมาะสมผ่านเว็บไซต์นี้ได้โดยตรง โดยวธ.จะทำการรวบรวมข้อมูลที่ประชาชนสะท้อนเข้ามา ส่งไปยังกรมประชาสัมพันธ์ และสถานีทุกช่องได้ศึกษาเรตติ้งเชิงคุณภาพในการปรับปรุงรายการต่างๆ ให้มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของผู้ชมด้วยเป็นการจับตาและตรวจสอบร่วมกันของสังคม



ข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ขันนอต ตรวจสื่อ ผลกระทบเด็ก เยาวชน โพสต์เมื่อ 15 พฤษภาคม 2551 เวลา 08:15:47 7,564 อ่าน
TOP