x close

หายนะแผ่นดินไหว ใกล้ไกลไทยก็เสี่ยง

แผ่นดินไหว

แผ่นดินไหว


          แผ่นดินไหว 7.8 ริกเตอร ์มณฑลเสฉวน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วิเคราะห์ระดับความแรงและจุดกำเนิด...ถือเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาก


          รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ในฐานะหัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. บอกว่า โดยทั่วไปแผ่นดินไหวระดับนี้ จะเกิดบริเวณรอยเลื่อนขนาดใหญ่ครั้งนี้...เป็นพื้นที่ที่มีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้นมาแล้ว และก็มีรอยเลื่อนอยู่หลายรอย เป็นพื้นที่ที่มีการเกิดแผ่นดินไหวอยู่เนืองๆ ถึงจะไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดขึ้นอีก แต่ปัญหามีว่า...ความถี่ในการเกิดแต่ละครั้ง ทิ้งระยะห่าง 50 ปี...100 ปี ไม่ได้เกิดบ่อย


          สถิติแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในจีน จากเว็บไซต์ www.pakxe.com วันที่ 16 ธันวาคม 2463 เกิดที่เมืองหนิงเซียะ ประเทศจีน ขนาด 8.5 ริกเตอร์ มีรายงานผู้เสียชีวิต 235,000 คน


          ทิ้งช่วงห่างไม่ถึง 10 ปี... 22 พฤษภาคม 2470 เกิดที่มณฑลหนานชัน ประเทศจีน แผ่นดินไหวขนาด 8 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิต 200,000 คน


          ถัดมาวันเดียว...23 พฤษภาคม 2470 เกิดที่มณฑลกานสู ประเทศจีน แผ่นดินไหว 8 ริกเตอร์ คาดว่ามีผู้เสียชีวิต 80,000 คน


          ทิ้งช่วงมา 49 ปี...วันที่ 28 กรกฎาคม 2519 เกิดที่เมืองถังชาน มณฑล เหอเป่ย ประเทศจีน แผ่นดินไหว 7.8 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิต 242,000 คน บาดเจ็บ 164,000 คน


          รศ.ดร.เป็นหนึ่ง บอกว่า แผ่นดินไหวขนาดยักษ์ มักจะเกิดตามรอยต่อระหว่างเปลือกโลก ขนาดย่อมลงมาหน่อยจะเกิดได้มากในแผ่นเปลือกโลก


          แต่...ไม่ใช่ว่าในแผ่นเปลือกโลกทุกๆ ตำแหน่ง จะเกิดแผ่นดินไหวได้ ส่วนใหญ่จะเกิดในบริเวณที่มีรอยแตกรอยร้าวมาก... ใกล้ขอบเปลือก ที่มีรอยแตกรอยร้าวเยอะ ประเทศพม่า หรือเลยไปทางจีนตอนใต้ อยู่ในแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียน โดยมีแผ่นออสเตรเลียนกับแผ่นอินเดียมุดดันอยู่


          ประเทศไทยก็อยู่บนแผ่นยูเรเซียน...แผ่นเดียวกับประเทศจีน


          แผ่นดินไหวในแผ่นเปลือก จะมีขนาด 6-7 ริกเตอร์...ใหญ่ที่สุดก็ 8 ริกเตอร์ ดังนั้น แผ่นดินไหวที่จีนหนนี้ ขนาดความแรงก็เกือบจะใหญ่ที่สุด


          จุดกำเนิด... ถ้าย้ายใกล้ขอบเปลือกมากๆ จนถึงรอยต่อ ก็อาจจะใหญ่ถึง 9 ริกเตอร์ เหมือนที่สุมาตรา อินโดนีเซีย ขนาด 9.3 ริกเตอร์ ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ


          ครั้งนี้ ไม่น่าจะเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่อินโดฯ เพราะจุดเกิดห่างไกลมากแผ่นดินไหวแต่ละครั้ง เวลาระเบิดพลังงานออกมา จะทำให้แรงเค้นแรงเครียดในรอยเลื่อนใกล้ๆระยะ 50-100 กิโลเมตรเปลี่ยนได้ แต่ไม่ส่งผลไกลเป็น 1,000 กิโลเมตร


          คำถามที่ถามกันมาก...แผ่นดินไหวหนนี้ประเทศไทยจะกระทบมากน้อย? "ประเทศไทย...จะไม่เกิดแผ่นดินไหวถี่ขึ้นแน่นอน" รศ.ดร.เป็นหนึ่ง ยืนยัน


          ประเทศไทยมีรอยแตกรอยร้าวที่เรียกว่ารอยเลื่อนขนาดกลางถึงขนาดเล็ก... ไม่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวถึง 7.8 ริกเตอร์ ใหญ่ที่สุดที่จะเกิดได้ ก็ 6 ริกเตอร์ปลายๆ ถึง 7 ริกเตอร์ต้นๆ


          พื้นที่เสี่ยงหลักๆ อยู่ในภาคเหนือ มีรอยเลื่อน รอยแตก รอยร้าวเล็กๆ ฝังอยู่ใต้ดิน อยู่ในแผ่นเปลือกที่ไม่ปรากฏร่องรอยกระจายไปทั่ว ปัญหา...ต้องไม่ให้ความสำคัญเฉพาะแนวรอยเลื่อน ต้องออกแบบอาคารในพื้นที่ทั้งหมดให้ทนแผ่นดินไหวได้


          เลี่ยงลงมาแถบจังหวัดกาญจนบุรี รอยเลื่อนที่นี่ค่อนข้างต่อเนื่องและยาว โอกาสเกิดแผ่นดินไหวจะใหญ่กว่า ระหว่าง 7.3-7.5 ริกเตอร์ แนวรอยแตกไล่ยาวมาถึงกรุงเทพมหานคร แต่ไม่รู้ว่ารอยจะต่อเนื่องกันหรือเปล่า ต้องรอข้อมูลสำรวจจากกรมทรัพยากรธรณี


          "แนวรอยเลื่อนกาญจนบุรี ไม่มีสัญญาณอื่น มีเพียงแผ่นดินไหวขนาดเล็กเกิดอยู่เรื่อยๆ ให้รู้เพียงว่า... รอยเลื่อนยังไม่ตาย แต่แนวที่วิ่งเข้ากรุงเทพฯ ยังไม่เกิดแผ่นดินไหว ก็คิดว่าน่าจะไม่ขยับตัว"


          ภาคเหนือกับกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ได้ อาคาร ...สิ่งปลูกสร้างมีความเสี่ยงที่จะสั่นสะเทือนรุนแรงในระยะเผาขน ศูนย์กลางแผ่นดินไหวก็เสียหายมาก... ยิ่งใกล้เมืองมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีปัญหา


          กรุงเทพฯ แม้จะเกิดแผ่นดินไหวห่างไกล ก็มีผลจาก 2 ปัจจัย... ดินอ่อน กับตึกสูง


          ดินอ่อนจะขยายความสั่นสะเทือนแรงกว่าดินปกติ 3 เท่า... แผ่นดินไหวที่ดูเหมือนจะอ่อนแรงไปแล้ว เมื่อกระจายออกมาไกลๆ เจอดินอ่อนคลื่นจะแรงขึ้นมาใหม่ ผนวกกับจังหวะการโยกของตึกสูง ถ้าคลื่นเสริมกัน ตึกสูงก็สั่นมาก


          "พื้นดินเขย่า 1 หน่วย ยอดตึกอาจโยกแรง 5-10 เท่า ดังนั้น...คนอยู่บนยอดตึกจึงไวต่อการเกิดแผ่นดินไหวมาก" ที่กังวลคือ แผ่นดินไหวขนาด 8 ริกเตอร์ ในทะเลอันดามัน... ห่างกรุงเทพฯ 400 กิโลเมตร หรือ 7.5 ริกเตอร์เกิดที่กาญจนบุรี...ห่างกรุงเทพฯ 200 กิโลเมตร


          สองกรณีนี้... ยังไม่เกิดขึ้น แต่มีความเป็นไปได้ อีกสักกี่ปี...จะมาเร็ว... มาช้า ไม่มีใครคาดการณ์ได้ ที่ทำได้คือ การออกแบบอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหวได้ บางคนสงสัย...มนุษย์สูบน้ำมันดิบใต้โลกไปใช้มหาศาล...รู้สึกว่าแผ่นดินไหวเกิดบ่อยขึ้น จะเกี่ยวกันไหม


          ทรรศนะ รศ.ดร.เป็นหนึ่ง ไม่คิดว่าจะมีผลกระทบอย่างเป็นนัยสำคัญ โดยเฉลี่ยตำแหน่งแผ่นดินไหวอยู่ลึก 10-20 กิโลเมตร...ที่เคยเกิดตื้นที่สุดก็ระยะ 5 กิโลเมตร กิจกรรมมนุษย์ที่จะกระทบลึกลงไปใต้ดินมากที่สุด ไม่น่าจะเกิน 3 กิโลเมตร ...ไม่น่าจะมีผลอะไรกับการเกิดแผ่นดินไหว


          "แผ่นดินไหวเกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก เกิดจากธรรมชาติ...มนุษย์มีผลน้อยที่จะเปลี่ยนแปลง จะทำได้ก็เปลี่ยนแปลง ดินฟ้าอากาศ ด้วยการปล่อยมลพิษ"


          ที่ต้องเน้นย้ำทุกครั้ง อาคาร...ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ที่อยู่ในแอ่งดินอ่อน ต้องออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว วิธีการออกแบบสูตรสมการต่างกับภาคเหนือเล็กน้อยตามความต่างของสภาพดิน


          "เราเห็นถึงความเสี่ยง อาจไม่ได้เกิดวันนี้...วันพรุ่งนี้ แต่ถ้าเกิดแล้วอาคารไม่ได้ปลูกสร้างแบบป้องกันทนต่อแผ่นดินไหว คนจะตายเป็นหมื่น...เป็นแสน"


          รศ.ดร.เป็นหนึ่ง ย้ำว่า ทุกคนต้องตระหนัก...กฎหมายมีแล้ว ภายใต้ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร แต่ภาพการบังคับใช้ยังเลือนราง ไม่มีการตรวจสอบอย่างแท้จริง


          อาคารขนาดเล็ก เตี้ยกว่า 15 เมตร ก็ไม่ได้ควบคุม ที่ปลูกแล้วก็มีอยู่ ทั่วไป...และยังคงปลูกสร้างต่อไปโดยไม่ได้ทำโครงสร้างให้แข็งแรง สรุปว่าวันนี้ อาคารที่มีอยู่...อยู่ในสภาพอ่อนแอมีอยู่ไม่ใช่น้อย เป็นปัญหาใหญ่ในการเตรียมความพร้อมรับแผ่นดินไหว ก็ได้แต่หวังว่า...เราจะโชคดี! ที่ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย


          ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว เราจะทำอะไรได้บ้าง มุดใต้โต๊ะ วิ่งเข้าหลบตรงโน้นตรงนี้ อาคารไม่ถล่มก็ดีไป...จะวิ่งไม่วิ่ง อย่างมากก็บาดเจ็บนิดหน่อย แต่ถ้าอาคารถล่ม จะวิ่ง จะหลบ อย่างไรก็คงช่วยอะไรไม่ได้


          รศ.เป็นหนึ่งกล่าวทิ้งท้ายว่า "ถ้าคนไทยเป็นห่วงจะเกิดแผ่นดินไหว ไม่ว่ากฎหมายจะควบคุมหรือไม่ ควรป้องกันด้วยการปลูกสร้างอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหวได้ ปัจจุบันไม่ว่าจะด้วยเทคนิค...ราคา...ระยะเวลาปลูกสร้าง ไม่ได้ แพง ยุ่งยาก หรือช้าไปกว่าการปลูกสร้างด้วยเทคนิคดั้งเดิม"



ข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หายนะแผ่นดินไหว ใกล้ไกลไทยก็เสี่ยง อัปเดตล่าสุด 11 มีนาคม 2554 เวลา 15:36:33 10,095 อ่าน
TOP