x close

ทำอะไรก่อน – หลัง .. เมื่อเกิดเหตุการณ์คนหาย

        

  “คนหาย”เหตุการณ์ที่ไม่ปกติ หรือสงสัยว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับเราอาจหายตัวไป โดยไม่รู้ สาเหตุ … เหตุการณ์เหล่านี้ ไม่มีการบอกกล่าว ไม่มีการเตรียมตัวกันล่วงหน้า หลายคนไม่รู้จะรับมือ กับเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่รู้ว่าควรทำอะไรก่อน – หลัง …

          หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเรา หรือ บุคคลใกล้ตัว สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรจะทำก่อนเป็นอันดับแรกคือ การตั้งสติ ตั้งสมาธิเพื่อลำดับ และ วิเคราะห์เหตุการณ์, ระยะเวลา และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้หายตัวไป ซึ่ง จะเป็นข้อมูลให้กับองค์กร หรือหน่วยงานที่จะมาช่วยเราสืบค้น หรือนำพาผู้สูญหายกลับมาได้อย่าง รวดเร็วที่สุด … หลังจากนั้น สิ่งที่เราควรปฏิบัติต่อไป ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการไปแจ้งความคนหาย ที่สถานีตำรวจ มีขั้นตอน หรือต้องเตรียมตัวอย่างไรกันบ้าง มาดูกันค่ะ …


การแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจ 
       

           การแจ้งความคนหาย หมายถึง การแจ้งความกรณีคนหายกับพนักงานสอบสวน ที่สถานี ตำรวจเพื่อลงรายงานบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนในการสืบค้น ของระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีเรื่องคนหายพลัดหลงต่อไป… 

๐ ข้อแนะนำก่อนการไปแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจ

          1. ครอบครัวคนหายต้องตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อเป็นการยืนยันได้อย่างชัดเจน ว่าคน หายได้หายออกจากบ้านไปจริง โดยไม่มีกรณีสงสัยว่าติดธุระหรือไปที่อื่น ซึ่งเป็นเหตุ ให้ต้องกลับ บ้านผิดเวลา โดยข้อมูลดังกล่าวควรตรวจสอบจากเพื่อนสนิท หรือคนที่คิดว่าจะ ทราบความเคลื่อน ไหวของผู้หายเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะขาดการติดต่อไป

          2. ควรตรวจสอบทรัพย์สินหรือสิ่งของสำคัญของผู้หาย ว่ามีการนำติดตัวไปด้วยหรือไม่ ตรวจสอบ ว่ามีการเก็บเสื้อผ้าหรือทิ้งหลักฐานอื่น ๆ เช่น จดหมายสั่งลาไว้ด้วยหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลและพยาน หลักฐานในการยืนยันว่าผู้หายได้หายออกจากบ้านไปจริง ๆ

          3. ควรตั้งสติ และลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก่อนการหายไป และเหตุการณ์ที่ อาจมีส่วน เกี่ยวข้องกับการหายไป โดยครอบครัวอาจจะเขียนลำดับเหตุการณ์ลงในกระดาษ เพื่อง่ายต่อการ เรียงลำดับเหตุการณ์อย่างเป็นขั้นตอนและชัดเจน อีกทั้งเมื่อเวลาไปแจ้งความ ที่สถานีตำรวจยัง สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอ่านได้ทันที เพื่อป้องกันการให้ข้อมูลที่สับสน และ อาจจะตกหล่นไปในประเด็นที่มีความสำคัญ

๐ เอกสารที่ต้องเตรียมไปแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจ

          เอกสารของผู้แจ้งความ 
          1. บัตรประจำตัวประชาชน (หรือ) บัตรประจำตัวข้าราชการ (หรือ) หนังสือเดินทาง กรณีเป็น คนต่างชาติ  
          2. สำเนาทะเบียนบ้าน 

          เอกสารเกี่ยวกับคนหาย
         
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  
          2. สำเนาทะเบียนบ้าน  
          3. ภาพถ่ายคนหาย (ควรเป็นภาพที่ถ่ายไว้ล่าสุด, มองเห็นลักษณะรูปร่างหน้าตาได้ชัดเจนที่สุด)  
          4. ใบสำคัญทางราชการอื่น ๆ (ถ้ามี)

๐ ขั้นตอนของการแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจ

          เมื่อเตรียมหลักฐาน เอกสารต่าง ๆ รวมทั้งพร้อมแล้ว ก็ดำเนินการแจ้งความตามขั้นตอน ดังนี้  
          1. พบพนักงานสอบสวนเพื่อให้สอบถามรายละเอียดและสอบปากคำผู้แจ้งเกี่ยวกับข้อมูลของ คนหาย  
          2. เสมียนประจำวันคดีทำการลงบันทึกประจำวัน  
          3. พนักงานสอบสวนมอบสำเนาบันทึกประจำวันให้แก่ผู้แจ้ง (ในกรณีที่พนักงานสอบสวนไม่มอบ สำเนาบัตรบันทึกประจำวันดังกล่าวให้ผู้แจ้งความต้องร้องขอ)  
          4. ให้ผู้แจ้งขอชื่อและหมายเลขโทรศัพท์มือถือของหนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความไว้ด้วย สำหรับการประสานงานเพื่อสอบถามความคืบหน้า

๐ อื่น ๆ ที่ควรรู้ ในการแจ้งความคนหาย

          # เราสามารถแจ้งความคนหายได้แม้จะยังไม่ถึง 24 ชั่วโมง…  
          ส่วนใหญ่เรามักจะได้ยินว่า ถ้าคนหายไปยังไม่ถึง 24 ชั่วโมงตำรวจจะไม่รับแจ้งความ ซึ่งใน ความเป็นจริงแล้ว ความคิดนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากตามข้อกฎหมายในระเบียบการ ตำรวจเกี่ยวกับคดีเรื่องคนหายพลัดหลง ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าต้องหายไปเกินกว่า 24 ชั่วโมง จึงจะสามารถแจ้งความได้ … แต่ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจใช้ดุลพินิจในการไม่รับแจ้งความได้ ใน กรณีที่ไม่สมควรแก่เหตุ เช่น การกลับบ้านคลาดเคลื่อนจากเวลาปกติที่เคยกลับเพียง 2-3 ชั่วโมง ยัง ไม่มีเหตุผลเพียงพอ เนื่องจากผู้หาย อาจจะติดธุระหรือมีเหตุจำเป็นเรื่องอื่นจึงทำให้กลับบ้านช้ากว่า ปกติ เป็นต้น

          ดังนั้น การแจ้งความคนหาย จึงสามารถแจ้งได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องหายไปครบ 24 ชั่วโมง แต่อย่างใด อีกทั้งถ้าเป็นกรณีเร่งด่วน เช่น เด็ก คนชรา หรือผู้ป่วยที่มีอาการทางสมอง หายออกไปจากบ้าน สามารถแจ้งความเพื่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที


          # สถานีตำรวจที่สามารถแจ้งความคนหายได้…

          + กรณีที่เกี่ยวข้องด้วยความผิดทางอาญา +  
          1. สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ หรือท้องที่ที่พบผู้หายครั้งสุดท้าย  
          2. สถานีตำรวจท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของผู้หาย  

          + กรณีที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน +  
          1. สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ หรือท้องที่ที่พบผู้หายครั้งสุดท้าย  
          2. สถานีตำรวจทุกแห่งที่คาดว่าผู้หายจะอยู่ในท้องที่ดังกล่าว 

          + กรณีคนหายทั่วไปแจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐาน +  
          1. สถานีตำรวจท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของผู้หาย  
          2. สถานีตำรวจท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของครอบครัวผู้หาย


ขอบคุณข้อมูลจาก

ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำอะไรก่อน – หลัง .. เมื่อเกิดเหตุการณ์คนหาย โพสต์เมื่อ 16 พฤษภาคม 2551 เวลา 12:35:48 60,191 อ่าน
TOP