x close

ฤกษ์งามยาม วิสาขะ ทำอะไรให้โลก ? อีกพรธรรมนำชีวิต



         เวียนมาบรรจบอีกครั้งแล้ว สำหรับ "วันวิสาขบูชา" วันเพ็ญขึ้น    15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งปี 2551 นี้ตรงกับวันที่ 19 พฤษภาคม วิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสูงสุดของพระพุทธศาสนา" วันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันที่ พระพุทธเจ้า ประสูติ-ตรัสรู้-ปรินิพพาน ซึ่งตั้งแต่ปี 2547 ทางองค์การสหประชาชาติได้มีมติยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากลของโลก" และในวันนี้พระสงฆ์ก็จะใช้เป็นอีกหนึ่งฤกษ์สำคัญในการเผยแผ่ธรรม...
 
         น่าเสียดายที่ปีนี้ "แม่ทัพธรรม" ขาดไปหนึ่ง "หลวงพ่อปัญญา" สิ้นไปเมื่อ 10 ตุลาคม 2550
 
         การละสังขารของ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ หรือ พระพรหมมังคลาจารย์ ด้วยสิริอายุ 96 ปีเศษ ถือเป็นการสูญเสีย "พระนักเทศน์-นักเผยแผ่ธรรม" ในระดับแม่ทัพธรรม ไปอีกหนึ่งรูป อย่างไรก็ดี หากลองย้อนดูเรื่องราวของพระนักเทศน์รูปนี้อย่างพิจารณา ท่านก็ได้ทิ้ง “พรธรรมที่เข้าใจง่าย-ทำง่าย" ไว้ให้ไม่น้อย
 
         ย้อนดู-พลิกดูในหนังสือ "ชีวิตของข้าพเจ้า และคำบรรยายพุทธศาสน์ พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)" หลวงพ่อได้เล่าถึงเส้นทางการเป็นพระนักเทศน์ของท่านไว้ว่า... เริ่มเป็นนักเทศน์ตอนที่ได้เป็นนักธรรมชั้นโท ขณะนั้นกำลังเตรียมสอบนักธรรมชั้นเอกซึ่งต้องท่องพระปาติโมกข์ให้ได้ มีพระองค์หนึ่งบอกว่าถ้าจะท่องปาติโมกข์ให้ดี ต้องไปหัดท่องหัดอ่านที่วัดปากนคร จ.นครศรีธรรมราช  ท่านจึงเดินทางไปที่วัดนี้
 
         ในวันที่ต้องรับหน้าที่ขึ้นเทศน์ครั้งแรกนั้น เป็นวันพระ 8 ค่ำ เห็นญาติโยมมากันหลายคน ท่านจึงถามญาติโยมว่า "มาทำไม" ได้คำตอบว่า "มาฟังเทศน์" ท่านจึงถามต่อว่า "แล้วใครเทศน์" ญาติโยมก็ตอบว่า "ท่านเทศน์" ตรงนั้นถึงได้รู้ตัวว่าท่านจะต้องขึ้นเทศน์ ก็เพราะญาติโยมบอกนั่นเอง 
 
         "บอกว่าเทศน์ไม่เป็น เขาก็บอกว่าได้นักธรรมโทแล้ว ต้องเทศน์ได้ เกณฑ์ให้ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ พอขึ้นนั่งบนธรรมาสน์จับพัดให้ศีล มันสั่นเอาเลยเชียว สั่นจนธรรมาสน์ไหว ให้ศีลเรียบร้อย แล้วก็เทศน์ทั้งสั่นอย่างนั้น เทศน์ปรู๊ดไปเลย ไม่รู้ว่าอะไร ญาติโยมก็บอกเทศน์คล่อง เขาก็ฟังสนุกไปเลย นี่เป็นครั้งแรก" ...หลวงพ่อเล่าไว้ ซึ่งจากการขึ้นเทศน์ครั้งแรก ต่อมาหลวงพ่อปัญญาก็มีโอกาสได้ "เทศน์คู่" ที่วัดหน้าพระลาน เป็นการเทศน์แบบองค์หนึ่งตั้งถาม อีกองค์ต้องตอบ ปุจฉา-วิสัชนาสลับไป 
 
         การเริ่มหัดเทศน์ในระยะแรก ท่านเล่าไว้ว่า... ที่นครศรีธรรมราชดีอย่างหนึ่ง เนื่องจากรอบพระธาตุมีวิหารคดเรียกว่าระเบียง ระเบียงวิหารคดนี้เป็นที่ฝึกนักเทศน์ มีธรรมาสน์มาก โยมตั้งธรรมาสน์ไว้ พระสงฆ์ก็ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ บางธรรมาสน์มีคนฟัง 3 คน บางธรรมาสน์ 5 คน 10 คน 20 คนก็มี ซึ่งการหัดเทศน์ชั้นนี้หลวงพ่อเทียบว่าเหมือนกับฝึกไต่บันไดดารา นักเทศน์ใหม่ ๆ มักจะเทศน์ธรรมาสน์ 3 คนก่อน แต่ตัวท่านไม่ไต่ 
 
         "อาตมาไม่ได้ไต่ลำดับอย่างนั้น เอาก็เอาขั้นใหญ่เลย ไปเทศน์ธรรมาสน์ติดเชิงพระธาตุด้านตะวันออก วันไหนคิดอะไรไม่ออกก็แบกหนังสือไปอ่าน ฟังดูเพราะพริ้งก็ใช้ได้"
 
         เรื่องการเทศน์ของหลวงพ่อปัญญานั้น ท่านเล่าไว้เป็นเกร็ดน่าสนใจ เช่น สมัยที่ท่านไปพำนักที่วัดอุทัย จ.สงขลา ซึ่งเป็นวัดที่ทรุดโทรมที่สุด วันเข้าพรรษามีคนมาฟังเทศน์แค่ 2 คน เป็นสามี-ภรรยากัน หลวงพ่อปัญญาก็เทศน์ให้ฟัง เป็นการเทศน์ที่เรียกว่าเทศน์ปฏิภาณ ไม่ถือหนังสือ ซึ่งถือว่าแหวกขนบที่เคยทำกันมา 
 
         ในยุคนั้นการเทศน์โดยไม่ถือหนังสือคัมภีร์คนมักจะถือว่าเป็นการว่าเอาเอง ไม่ใช่คำสอนพระพุทธเจ้า แต่สำหรับหลวงพ่อปัญญาพอเทศน์แล้วญาติโยมยอมรับว่าท่านจำแม่น ท่องมาได้หมด จึงมีคนอยากฟังท่านเทศน์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ชื่อเสียงในการเทศน์ของหลวงพ่อปัญญาแพร่หลายมากขึ้นเป็นลำดับ 
 
        "คราวหนึ่งเทศน์ที่ศาลาวัดแห่งหนึ่ง ศาลาหักโครมลงไปเลย เขาก็ลือกันว่า แหม พระนักเทศน์คู่นี้ เทศน์กันจนศาลาหักไปเลย" ...หลวงพ่อปัญญาเล่าไว้ถึงยุคที่ท่านตระเวนเทศน์เผยแผ่ธรรมพร้อมกับพระคู่เทศน์คือ "ท่านนาค" ซึ่งไปเทศน์ที่ไหนก็จะมีคนฟังอย่างล้นหลาม ด้วยเป็นการเผยแผ่หลักธรรมแบบน่าติดตาม-เข้าใจง่าย
 
         ปี 2492 หลวงพ่อปัญญาไปจำพรรษาที่ จ.เชียงใหม่ และเริ่มเผยแผ่ธรรมรูปแบบใหม่ด้วยการ “ปาฐกถา” ซึ่งในเวลาต่อมาแม้จะมาจำพรรษาที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์แล้ว ก็ยังยึดถือปฏิบัติต่อเนื่องเรื่อยมา โดยท่านอธิบายไว้ว่า อีกสาเหตุที่ใช้การปาฐกถา ไม่เรียกการเทศน์ ก็เนื่องจากท่านคิดว่าใช้ปาฐกถาจะดีกว่า เพราะ "พูดให้ฟังง่าย ตรงไปตรงมา ผิดว่าผิด ถูกว่าถูก อันใดควรแก้ไขก็แก้ ไม่ต้องเกรงใจใคร"
 
         อีกเรื่องเกี่ยวกับการเผยแผ่ธรรมของหลวงพ่อปัญญาที่ถือว่าสร้างปรากฏการณ์ใหม่ คือการ "ยืน" ซึ่งช่วยดึงให้ญาติโยมสนใจและเข้าใจหลักธรรม แม้ในช่วงที่ท่านเริ่มทำจะถูกติเตียน แต่ท่านคิดว่าไม่เสียหายอะไร จึงปฏิบัติเรื่อยมา โดยท่านระบุไว้ในหนังสือตอนหนึ่งว่า... "สิ่งใดเป็นประโยชน์ละก็ทำเข้าไปเถอะ"
 
         "คน ๆ หนึ่งเกิดมาแล้ว ทำอะไร มีชีวิตอยู่ด้วยอะไร เพื่ออะไร ตายไปเมื่อไร ได้ทำอะไรทิ้งไว้ในโลกบ้าง เพื่อจะได้เป็นการเตือนคนข้างหลัง เหมือนเราเหยียบรอยไว้ให้คนอื่นเห็น แล้วคนอื่นเขาจะได้เดินตามรอยนั้นต่อไป" ...เป็นอีกส่วนจากคำกล่าวของ "หลวงพ่อปัญญา" ที่ดูธรรมดา...แต่ไม่ธรรมดา
 
        "วิสาขบูชา" ก็เป็นอีกหนึ่งฤกษ์งามยามมงคลของชีวิตได้ 

         "ทำอะไรดี ๆ ทิ้งไว้ให้โลกบ้าง" มิใช่เรื่องยากเย็นเข็ญใจ
 
          มาทำเพื่อให้เป็น "พรธรรมนำชีวิตให้มีสุข" กันเถอะ !!!



ข้อมูลจาก

ภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และ ทางอินเทอร์เน็ต

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฤกษ์งามยาม วิสาขะ ทำอะไรให้โลก ? อีกพรธรรมนำชีวิต โพสต์เมื่อ 19 พฤษภาคม 2551 เวลา 09:04:02 3,637 อ่าน
TOP