x close

ไหว้พระนอน วัดขุนอินทประมูล

พระศรีเมืองทอง


          หลากสถานการณ์วุ่นวาน ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตช่วงนี้ ดูเหมือนจะฝังอยู่ภายในหัว ไม่ผ่านไปง่ายๆเหมือนทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องปากท้อง การเมืองที่มักเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นทุกที รวมไปถึงปัญหาจุกจิกต่างๆ ทางออกที่ดีที่สุดเห็นจะเป็นการทำใจให้สงบ ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของโลก


          เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว "เดลินิวส์ ออนไลน์" ก็จะขอพาไปเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งอาจจะทำให้สงบจิต สงบใจ กันขึ้นมาบ้าง ที่ "วัดขุนอินทประมูล" ต.อินทประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง วัดแห่งนี้ เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย พิจารณาจากซากอิฐแนวเขตเดิม คะเนว่าเป็นวัดขนาดใหญ่ นอกจากนั้นยังเป็นที่ประดิษฐานพระนอน หรือพระพุทธไสยาสน์เก่าแก่ ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นามว่า "พระศรีเมืองทอง" มีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม สงบเยือกเย็น เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารแต่ถูกไฟไหม้ปรักหักพังไป เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1 เหลือแต่องค์พระตากแดดตากฝนอยู่กลางแจ้งมานานนับเป็นร้อยๆ ปี


          ตำนานความเป็นมาของ "วัดขุนอินทประมูล" มีมากมาย ว่า "ขุนอินทประมูล" นายอากรได้ยักยอกเงินหลวง เพื่อนำมาสร้างต่อเติมองค์พระ เมื่อถูกจับได้ จึงโดนเฆี่ยนจนตาย บ้างก็ว่า ในรัชสมัยพระยาเลอไท พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินจากกรุงสุโขทัยโดยชลมารค มานมัสการพระฤาษีสุกกะทันตะ ณ เขาสมอคอน แล้วประทับแรม เป็นเวลา 5 วัน จากนั้นได้เสด็จผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วล่องลงมาตามลำแม่น้ำน้อย และตามลำคลองบางพลับ เพื่อประพาสท้องทุ่ง เมื่อถึงเวลาค่ำได้ทรงหยุดประทับแรม ณ โคกบ้านบางพลับ ครั้นเวลายามสามได้เกิดศุภนิมิต เป็นลูกไฟดวงใหญ่ลอยขึ้นมาเหนือยอดไม้ แล้วหายไปในท้องฟ้าทางทิศตะวันออก พระองค์ทอดพระเนตรเห็นศุภนิมิตนั้น แล้วก็ทรงปิติโสมนัส จึงได้ทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระพุทธไสยาสน์ ขึ้นเป็นพุทธบูชา ด้วยคติว่า พระองค์ได้เสด็จมาบรรทมพักแรมอยู่ ณ สถานที่แห่งนั้น


          นอกจากนั้น บริเวณวัดยังมีซากโบราณสถาน "วิหารหลวงพ่อขาว" ซึ่งเหลือเพียงฐาน ผนังบางส่วนและองค์พระพุทธรูป ในศาลาเอนกประสงค์มีศาลรูปปั้นขุนอินทประมูลและโครงกระดูกมนุษย์ ที่ขุดพบในเขตวิหารพระพุทธไสยาสน์เมื่อปี พ.ศ. 2541 ลักษณะนอนคว่ำหน้า มือและเท้ามัดไพล่อยู่ด้านหลัง เชื่อกันว่าเป็นโครงกระดูกขุนอินทประมูล แต่บ้างก็ว่าไม่ใช่ ปัจจุบันทาง วัดได้จำลองโครงกระดูกนี้จัดแสดงไว้ในตู้กระจกที่กุฏิเจ้าอาวาส เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้


 คู่มือการเดินทาง


          สามารถใช้เส้นทางได้ 3 สายคือ สายอ่างทอง-อำเภอโพธิ์ทอง (เส้นทาง3064 ) แยกขวาที่กิโลเมตร 9 เข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางจากจังหวัดสิงห์บุรีไปทางอำเภอไชโยประมาณกิโลเมตรที่ 64-65 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าถึงวัดเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางตัดใหม่สายอำเภอวิเศษชัยชาญ-โพธิ์ทอง (ถนนเลียบคลองชลประทาน) เมื่อถึงอำเภอโพธิ์ทองมีทางแยกเข้าวัดอีก 2 กิโลเมตร



ข้อมูลจาก

ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไหว้พระนอน วัดขุนอินทประมูล อัปเดตล่าสุด 2 มิถุนายน 2551 เวลา 16:57:51 14,077 อ่าน
TOP