x close

4:1 มติ กกต. มีอำนาจสอบสมัคร จัดชิมไปบ่นไป

สมัคร สุนทรเวช


4:1 มติกกต.มีอำนาจสอบสมัคร จัดชิมไปบ่นไป-ส่งไชยาสู่ศาล

         
กกต. มีมติ 4 ต่อ 1 ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคุณสมบัติ "ไชยา" และมีสั่งแก้ไขคำสั่งตั้งอนุกรรมการฯ ตรวจสอบ "ชิมไปบ่นไป" ได้ ด้าน "สมชัย" เสียงข้างน้อยร่อนสารแจงความเห็นผ่านสื่อ 

          (10 มิถุนายน) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการกกต. แถลงว่าที่ประชุม กกต. ได้พิจารณาในประเด็นข้อกฎหมาย ว่า กกต. มีอำนาจสืบสวนสอบสวนกรณีที่มีผู้ร้องเรียนนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จัดรายการชิมไปบ่นไปซึ่งอาจขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ โดย กกต. มีมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 1 เสียง เห็นด้วยกับข้อเสนอของอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนซึ่งมี พล.อ.ยอดชาย เทพยสุวรรณ เป็นประธาน เสนอให้ปรับปรุงคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนจากฐานอำนาจรัฐธรรมนูญมาตรา 236(9) มาตรา 181 มาตรา 182 วรรค 3 โดยหลังจากที่ประชุม กกต. พิจารณาแล้ว ได้ลงมติให้แก้ไขบทบัญญัติในคำสั่งตั้งอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดดังกล่าว โดยให้เพิ่มอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. มาตรา 10(11) ที่ระบุให้ กกต. มีอำนาจส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง และยังอ้างถึงมาตรา 14 ที่ระบุว่า กกต. มีอำนาจแต่งตั้งให้อนุกรรมการปฏิบัติตามที่ กกต. มอบหมาย 

          "อนุกรรมการพิจารณากรณีนายกฯ สมัคร จัดรายการชิมไปบ่นไป เคยยกประเด็นปัญหาว่าอนุฯ มีอำนาจสืบสวนสอบสวนหรือไม่ และควรมีการปรับปรุงคำสั่งตั้งอนุกรรมการพร้อมให้เหตุผลเพราะเห็นว่าตัวคำสั่งยังระบุกฎหมายไม่ครบ เพื่อป้องกันการถูกโต้แย้งในอำนาจหลังจากผลการพิจารณาออกมาเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งวันนี้ กกต. ได้ลงมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 1 เสียง ให้อนุกรรมการมีอำนาจตามกฎหมายที่อ้างตัวบทเพิ่มดังกล่าว" นายสุทธิพลกล่าว และว่า กกต. เห็นชอบให้อนุกรรมการสืบสวนสอบสวนกรณีนี้ ขยายเวลาสืบสวนสอบสวนได้อีก 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 7-21 มิถุนายนนี้ 

          นายสุทธิพล ยังได้เปิดเผยถึงการลงมติกรณีที่จะเสนอศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือไม่ตามที่ ปปช. ร้องว่านายไชยาขาดคุณสมบัติเนื่องจากภรรยาถือหุ้นเกินกว่า 5% ว่าหลังจากที่คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งมีนายอิสระ หลิมศิริวงศ์ เป็นประธาน สรุปความเห็นส่งมา โดย กกต. มีมติเสียงข้างมากเห็นควรให้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามที่คณะอนุกรรมการเสนอ 

          ทั้งนี้ในเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าคณะอนุกรรมการได้พิจารณาว่าไชยามีความผิดจริงหรือไม่ นายสุทธิพลกล่าวว่า กกต. เห็นว่าเป็นประเด็นที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ในเรื่องสำนวนนั้นตนไม่เห็นว่ามีการสรุปอย่างไร แต่จากนี้ทางอนุกรรมการจะดำเนินการในกรณีเรื่องการทำคำร้องที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามติเสียงข้างมากในครั้งนี้เป็นมติ 4 ต่อหนึ่ง โดยมีนายสมชัย จึงประเสริฐ เป็นกรรมการเสียงข้างน้อยเช่นเดียวกับหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับมติ กกต. ทั้งสองกรณีเป็นมติ 4 ต่อ 1 โดยมีนายสมชัย จึงประเสริฐ กกต. ด้านการสืบสวนสอบสวนเป็นเสียงข้างน้อยตามที่คาดกันไว้ โดยภายหลังการลงมตินั้นนายสมชัยได้นำเอกสารความเห็นของตนทั้งสองกรณีมาแจกให้สื่อมวลชน ซึ่งความเห็นทั้งสองกรณีนั้นเป็นเหตุผลเช่นเดียวกันที่คล้ายกัน โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 236 ระบุให้ กกต. มีอำนาจสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส ส.ว., พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยประชามติ และกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น เมื่อประกอบกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรคสาม ที่เกี่ยวกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ ส.ส. หรือ ส.ว. สิ้นสุดสมาชิกภาพ โดยระบุให้ประธานแห่งสภานั้นๆ เห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาสิ้นสุดลงก็ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ    

          "เมื่อสองมาตรากำหนดเช่นนี้ จึงหมายความว่า กฎหมายให้อำนาจ กกต. ตรวจสอบการสิ้นสุดลงซึ่งสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น ไม่ได้มีบทบัญญัติโดยตรงในการตรวจสอบความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุด จึงไม่มีเหตุที่จะไปตรวจสอบความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวแต่อย่างใด"  

          นอกจากนี้นายสมชัยยังอ้างอีกว่าการดำเนินการของ กกต. ต้องอยู่ภายใต้มาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ ส.ส. หรือ ส.ว ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เข้าชื่อต่อประธานสภา เพื่อให้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ดังนั้นกรณีที่ ส.ว. เห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีผู้ใดสิ้นสุดจะต้องเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 15 คน เสนอเรื่องไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากประธานวุฒิสภาไม่ดำเนินการ กกต. จึงจะมีอำนาจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยกฎหมายมีหน้าที่จะเยียวยาเพื่อให้กระบวนการดำเนินการต่อโดยไม่สะดุดหยุดที่ประธานวุฒิสภา ซึ่งเมื่อพิจารณาภาพรวมแล้ว รัฐธรรมนูญประสงค์ให้เรื่องดังกล่าวถูกส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยจะส่งทางใดก็ได้ และเรื่องของนายไชยานี้ ปปช. ได้เสนอเรื่องไปยังนายกฯ ประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว กกต. จึงไม่ต้องดำเนินการซ้ำซ้อนอีก 

          ขณะที่เรื่องของนายสมัครนั้น กกต. ไม่มีอำนาจพิจารณาเนื่องจากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้ร้องต่อ กกต. ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกวุฒิสภา ไม่ได้ดำเนินการให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตา 91 โดยไม่ได้รวมรายชื่อเพื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา กกต. จึงไม่มีอำนาจพิจารณาต่อไปได้ 

         

ข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
4:1 มติ กกต. มีอำนาจสอบสมัคร จัดชิมไปบ่นไป อัปเดตล่าสุด 10 มิถุนายน 2551 เวลา 19:38:25 2,675 อ่าน
TOP