x close

เด็กเรียนดีดิ่งตึก สื่อมีส่วนกระตุ้น



          การโดดตึกฆ่าตัวตายของชนินาถ รุ่งทิวาสุวรรณ นิสิตสาวปี 4 เอก เคมี-ฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิกวิชาการ ไม่ใช่โศกนาฏกรรมครั้งแรก ที่เกิดขึ้นกับเด็กไทยเรียนเก่ง

          ก่อนหน้านี้ เหยื่อของการคิดสั้นมีทั้งนิสิตวิศวะ มหาวิทยาลัยเกษตรฯ นักศึกษาปี 4 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นักศึกษา มรภ.มหาสารคาม และอีกมากมายหลายคน

          แต่ละคนล้วนมีมูลเหตุจูงใจที่คล้ายคลึง คือ คิดมากเรื่องเรียน ทำให้มีอาการซึมเศร้า และนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด

          ปรากฏการณ์เช่นว่า เกิดขึ้นซ้ำซาก ราวกับเป็นแฟชั่นของคนวัยเรียนที่ผิดหวัง

          ทำให้เกิดคำถาม ทุกวันนี้เกิดอะไรขึ้นกับเด็กไทย ที่ทั้งเก่ง ฉลาด มากความสามารถ มีผลการเรียนเป็นเลิศ แต่เมื่อไม่ได้ดังใจขึ้นมา ถ้าไม่ใช้ปืนจ่อขมับดับชีพ ก็พากันโดดตึกดับสยอง ทิ้งหัวใจอันบอบช้ำฝากไว้ให้ผู้เป็นพ่อและแม่

          กรณีของชนินาถ เหยื่อความไม่สมหวังด้านการเรียนรายล่าสุด ยิ่งสร้างความฉงนฉงายให้แก่คนรอบข้าง เพราะจากการสอบปากคำผู้ที่เธอคุ้นเคย ต่างพูดตรงกัน

          ในวันที่ชนินาถตัดสินใจกระโดดตึกฆ่าตัวตาย เธอไปถึงมหาวิทยาลัยเวลาประมาณ 06.30 น. เดินเข้าไปในห้องพักนิสิต ยังคงทักทายกับเพื่อนฝูงและแม่บ้านที่ทำความสะอาดตามปกติ ก่อนจะเดินไปยังระเบียงอาคารเรียนคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ชั้น 11 ถอดรองเท้าทิ้งไว้ที่พื้นระเบียง แล้วตัดสินใจดิ่งลงมาเสียชีวิตคาที่

          ดูจากประวัติของชนินาถ หลายคนที่คุ้นเคยกับเธอดีเชื่อว่า สาเหตุการฆ่าตัวตายครั้งนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากเรื่อง การเรียน

          เพราะที่ผ่านมานิสิตผู้นี้ ถือเป็นเด็กที่มีผลการเรียนดีเด่น ได้เกรดเฉลี่ยประมาณ 3.7-3.9 และเคยได้รับเหรียญทองแดงโอลิมปิกวิชาการ

          แต่เมื่อย่างขึ้นปีที่ 3 ผู้เป็นพ่อเล่าว่า ชนินาถกังวลว่าตัวเองจะเรียนไม่ได้ เกียรตินิยม ทำให้เธอเริ่มเครียด ถึงขั้นมีปัญหาทางสุขภาพจิตกลายเป็นโรคซึมเศร้า ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา ทำให้ผลการเรียนตกต่ำ แต่ภายหลังก็มีอาการดีขึ้น

          กระทั่งเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันไหว้ครูของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชนินาถเป็นหนึ่งในนิสิตที่ได้รับโล่นิสิตเรียนดีของคณะวิทยาศาสตร์

          แต่แล้วให้หลังเพียงแค่ 4 วัน เช้าวันที่ 9 มิ.ย. 2551 ชนินาถกลับทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดฝันมาก่อน

          นพ.ปราการ ธมยางกูร นายแพทย์ระดับ 8 กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลราชวิถี หนึ่งในจิตแพทย์ผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษาแก่ผู้พยายามฆ่าตัวตายมาแล้วหลายราย ฝากบางแง่มุมน่าชั่งตรองไว้ให้พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กที่เรียนดี เพื่อเป็นข้อคิด

          คุณหมอฯบอกว่า ในทางจิตเวช ผู้ที่ทำร้ายตัวเอง พยายามฆ่าตัวตาย หรือ ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ บุคคลทั้ง 3 ประเภทนี้ พยายามจะสื่อสารอะไรบางอย่างเพื่อขอความช่วยเหลือ จากความรู้สึกอัดอั้นภายในใจที่ท่วมท้น แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

          "เป็นที่น่าสังเกต เกือบร้อยทั้งร้อยก่อนลงมือฆ่าตัวตาย คนเหล่านี้มักไม่ได้ ปรึกษาปัญหากับใคร จึงทำให้รู้สึกสิ้นหวัง เห็นตัวเองไร้ค่า และนำไปสู่การฆ่าตัวตาย"

          คุณหมอฯว่า นอกจากนี้ ราว 60-80% ของผู้ที่ฆ่าตัวตาย มักมีเรื่องของ โรคซึมเศร้า เข้ามาเกี่ยวข้อง

          โรคซึมเศร้าอาจเกิดจากความกดดันภายนอกที่รุมเร้า ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงหลายๆอย่างในตัวผู้ป่วย ทั้งทางกายและจิตใจ ทำให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมี ที่ชื่อว่า “เซโรโทนิน” ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมอง จนมีอาการทั้งทางกายและใจตามมา

          นอกจากความเศร้าโศกในขณะนั้น หรืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ยังพบว่า ความคิดเห็น หรือ มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ของผู้ป่วยก็เปลี่ยนไปด้วย

          "เวลามองสิ่งต่างๆในแง่ลบ ยิ่งทำให้จิตใจผู้ป่วยกลัดกลุ้ม เศร้าหมองมากขึ้น ขณะเดียวกัน คนป่วยไม่สามารถห้ามไม่ให้ตัวเองเศร้า ดังนั้น หากผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ระบายออกมา หรือสื่อสารกับผู้ที่เข้าใจและรับฟังปัญหา ได้รับการดูแลจากจิตแพทย์ อารมณ์เศร้าก็จะลดลง มองสิ่งต่างๆรอบตัวไปในทางที่ดีขึ้น และช่วยให้รอดพ้นจาก การฆ่าตัวตายได้"

          คุณหมอปราการบอกว่า การฆ่าตัวตายของคนเรา เกิดจากหลายปัจจัย บางคนอาจผิดหวังรุนแรงในเรื่องความรัก หรือผิดหวังกับผลการเรียน

          โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งเคยมีผลการเรียนดี แต่ต่อมาผิดหวังกับผลการเรียน มักจะพบว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก การตั้งความหวังเอาไว้สูง

          เมื่อพลาดหวัง รู้สึกเสียใจอย่างแรง ไม่อาจยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ และกลัวว่าคนรอบข้างจะผิดหวังตามไปด้วย

          "ให้สังเกตดูว่า ในคนที่เรียนเก่ง ส่วนใหญ่อาศัยผลการเรียนดี เป็นเครื่องบ่งชี้แทนความสามารถ เพื่อให้ผู้อื่นยอมรับตน แต่เมื่อผลการเรียนเริ่มแย่ กลัวว่าคนอื่นจะไม่ยอมรับ จึงเริ่มมองโลกแง่ร้าย และคิดไปเองว่า เรื่องแบบนี้ไม่มีทางออก ต้องตัดสินปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย"

          คุณหมอฯบอกว่า ยิ่งคนไข้เคยมีประวัติไปรับการรักษาเรื่องโรคซึมเศร้ามาก่อน ยิ่งทำให้เกิดปัจจัยรุมเร้าผสมผสาน

          อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันกรณีเช่นนี้ ก็อาจเกิดขึ้นได้กับคนที่เรียนไม่เก่ง แล้วถูกพ่อแม่ดุด่า เพียงแต่มักให้ผลไปในทางที่แตกต่าง

          "เท่าที่สังเกต เด็กที่เรียนไม่เก่งแล้วถูกพ่อแม่ผู้ปกครองต่อว่า มักมีความรู้สึกน้อยใจ ผิดหวัง ที่ตัวเองไม่เป็นที่ยอมรับของพ่อแม่ ส่วนหนึ่งอาจรู้สึกว่า ชีวิตนี้สิ้นหวังและอยากฆ่าตัวตาย แต่โดยมากแล้วมักจะหันไปพึ่งสารเสพติดมากกว่าใช้วิธีฆ่าตัวตาย"

          ข้อแตกต่างระหว่างเด็กเรียนดีและเรียนแย่ อาจต้องมีการค้นคว้าวิจัยต่อไปว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

          แต่ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีผลการเรียนดี หรือแย่แค่ไหน คุณหมอฯบอกว่า ถ้ามีอาการซึมเศร้า อาจมีความคิดอยากฆ่าตัวตายได้ทั้ง 2 ประเภท

          ดังนั้น คุณหมอฯจึงแนะนำ ในยามที่ผู้ป่วยดูเงียบขรึมผิดสังเกต หรือไม่อยากพูดจากับใคร คนใกล้ชิดรอบข้างควรเอาใจใส่

          เช่น ช่วงที่เขาดูมีอารมณ์ปกติ ควรหาโอกาสเข้าไปชวนคุยถึงเรื่องที่เขาเคยชื่นชอบหรือสนใจ ด้วยท่าทีที่ผ่อนคลายสบายๆ และพร้อมจะหยิบยื่นความช่วยเหลือ

          โดยอาจเริ่มจากบทสนทนาสั้นๆในเรื่องที่ไม่ซับซ้อน และไม่ใช้เวลาคุยนานนัก เพราะผู้ป่วยยังมีอาการ เบื่อง่าย และ ไม่มีสมาธิพอ ที่จะติดตามเรื่องซับซ้อน หรือน่าเบื่อ

          อีกเรื่องหนึ่งที่มักถกเถียง และเข้าใจผิดกันอยู่เสมอ ก็คือ เมื่อเผชิญหน้ากับผู้มีอาการซึมเศร้า โดยมากคนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยกล้าถามถึงเรื่อง ความคิดอยากตาย เพราะเกรงว่า ยิ่งเป็นการชี้โพรงให้กระรอก

          แต่คุณหมอฯบอกว่า ที่จริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะความคิดอยากตาย เกิดจากการครุ่นคิดของผู้ป่วยที่มีมุมมองต่อปัญหาบิดเบือน มากกว่าจะอยากตายเพราะคำถามดังว่า

          ดังนั้น การถามผู้ที่มีอาการซึมเศร้าไปตรงๆว่า เคยมีความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือไม่ นอกจากไม่ได้เป็นการชี้โพรงให้กระรอกอย่างที่เข้าใจ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึกอัดอั้น แสดงให้เห็นว่า เราเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจในตัวเขา

          แต่หากผู้ป่วยพูดถึงเรื่องอยากตาย คุณหมอฯบอกว่า ไม่ควรใช้วิธีปลอบใจหรือบอกกลับไปว่า "อย่าคิดมาก" "เลิกคิดซะ" หรือ "อย่าสร้างความเดือดร้อน"

          เพราะคำพูดทำนองนี้ นอกจากทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า คนรอบข้างไม่สนใจที่จะรับรู้ปัญหาของเขาอย่างแท้จริง ยังอาจเห็นว่า ตัวเองเป็นคนเหลวไหล

          ตรงกันข้าม คนใกล้ชิดรอบข้าง ควรเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้พูด หรือระบายความคับข้องใจที่มีออกมาก่อน แล้วจึงค่อยให้คำแนะนำ

          เพราะการที่ผู้ป่วยมีโอกาสได้ระบายความคับข้องใจ จะช่วยให้จิตใจของเขาผ่อนคลายลง และสภาพจิตเริ่มเปิดกว้างพร้อมที่จะเป็นฝ่ายรับฟังผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่ผู้ป่วยไว้ใจ

          อีกประเด็นที่คุณหมอฯเป็นห่วงและอยากฝากไปยังสื่อ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และอินเตอร์เน็ต ก็คือ การลงรูปภาพ และลงลึกในรายละเอียดถึงสาเหตุ ขั้นตอน วิธีการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นที่พิสูจน์กันแล้วทั่วโลกว่า ไม่เป็นผลดีกับผู้ที่พยายามคิดฆ่าตัวตาย อาจทำให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบ หรือลัทธิเอาอย่าง

          "ที่ประเทศอังกฤษ มีการวิจัยออกมาแล้วว่า การงดเสนอข่าวฆ่าตัวตายอย่างโจ๋งครึ่มตามหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ โดยนำไปเสนอเป็นมุมเล็กๆที่หน้าใน ช่วยให้อัตรา การฆ่าตัวตายเลียนแบบ หรือที่เรียกว่า COPY CAT มีอัตราลดลงอย่างมีนัยสำคัญ"

          ท้ายสุด นพ.ปราการ ฝากข้อคิดไว้ว่า

          "คนเราสามารถตั้งความหวังได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า เมื่อหวังได้ ก็ผิดหวังได้เช่นกัน และเมื่อผิดหวังแล้ว อยากให้มองว่า เป็นประสบการณ์เพื่อให้เราเติบโตขึ้นไปอีกขั้น แต่ถ้ารู้สึกว่า ผิดหวังแล้วรับไม่ได้ ให้รีบไปปรึกษาจิตแพทย์."


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เด็กเรียนดีดิ่งตึก สื่อมีส่วนกระตุ้น อัปเดตล่าสุด 13 มิถุนายน 2551 เวลา 15:03:49 4,218 อ่าน
TOP