x close

การเมืองดุ เศรษฐกิจดิ่ง

การเมือง



"ไทยทุกข์ซ้ำซาก" จิต-กาย-เงิน ร่อแร่ !

         
ขณะที่ "เศรษฐกิจ" ประเทศไทยกำลังปั่นป่วนและ "ดิ่งลง" เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ประเทศ อันมีปัจจัยสำคัญคือ ปัญหาน้ำมันแพง ที่สร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ในวงกว้าง ในอีกด้านปัญหาทาง "การเมือง" ที่ "ดุเดือด" ไม่ต่างจากช่วงก่อนรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ดังที่ทราบ ๆ กัน ก็ยิ่งเสริมแรงร้าย...

          2 เรื่องหลักบวกกัน...ผลคือ "เมืองไทยยิ่งร้อนระอุ-ระส่ำ"

          "คนไทย" โดยรวม...ต้องอยู่ในภาวะ "เครียดซ้ำซาก !!!"

          ...ย่อมจะส่งผลกระทบกับสภาพจิตใจของคน อย่างแน่นอน โดยลำดับแรกที่จะเกิดคือ สภาพจากอาการเครียด เนื่องจากวิถีชีวิตและการดำเนินชีวิตต่างๆ ต้องถูกเปลี่ยนแปลงไปจากปกติวิสัยที่เคยทำอยู่ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นติดต่อเป็นเวลานานวัน ความเครียดเพิ่มขึ้นทุกวัน ก็จะแปรเปลี่ยนเป็นความ เครียดสะสม ส่งผลให้เกิดอาการกระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ ซึ่งจะ ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ต่อไป...

          ...นี่เป็นการระบุของ มล.นพ.สมชาย จักรพันธ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต หลังการประชุมสัมมนาเรื่อง "การจัดการสุขภาพจิตในภาวะวิกฤติ : ระบบรองรับภัยพิบัติ" ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังสื่อมวลชนตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองที่รุนแรง-ยืดเยื้อ ซึ่งในทางจิตวิทยานั้นเรื่อง "เศรษฐกิจ- การเมือง" ก็เป็น 2 ในเรื่องต่างๆ ที่มีผลมากต่อ "ความเครียด-สุขภาพจิต"

          กับเรื่องการเมือง ข้อมูลเชิงวิชาการของกรมสุขภาพจิต ว่าไว้ว่า... ความเครียดจากการเมืองนี้ในทางจิตวิทยาเรียกว่า กลุ่มอาการเครียดจากการเมือง (Political Stress Syndrome : PSS) ซึ่งไม่ใช่โรค แต่เกิดจากปัญหาสุขภาพจิต เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์และจิตใจที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะ ในกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีความสนใจปัญหาการเมือง ติดตามจดจ่อสถานการณ์ใกล้ชิด หรือเอนเอียงไปทางกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 

          กลุ่มอาการนี้จะมีทั้งอาการทางจิตใจและทางกาย อาการอาจจะนำไปสู่สภาวะความคิดคาดการณ์ล่วงหน้า นำไปสู่ความรู้สึกวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ในอนาคต (Anticipatory anxiety) เช่น กลัวการเกิดเหตุ การณ์รุนแรง ร้ายแรงมาก ๆ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วในเมืองไทยในอดีต... 

          เกิดเป็นความหวั่นวิตกที่ฝังอยู่ในใจ !!

          ทั้งนี้ ทั้งกลุ่มนักการเมือง กลุ่มสนับสนุน กลุ่มผู้ติดตาม กลุ่มผู้สนใจข่าวสารการเมือง เหล่านี้ล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการทั้งทางใจ-ทางกาย โดยอาการทางกายก็เช่น...ปวดศีรษะ, ปวดกล้ามเนื้อ, ตึงขมับ ต้นคอ หรือแขน-ขา, นอนไม่หลับ หรือหลับแล้วตื่นแล้วหลับต่อไม่ได้, ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติทั้งที่อยู่ในสภาพปกติ, หายใจไม่อิ่ม, แน่นท้อง, ปวดท้อง, ชาตามร่างกาย ส่วนอาการทางใจก็เช่น...วิตกกังวล, หงุดหงิดง่าย, ก้าวร้าว, เบื่อหน่าย, ท้อแท้, รู้สึกสิ้นหวัง สมาธิไม่ดี, ฟุ้งซ่าน

          อีกผลกระทบสำคัญต่อเนื่องก็คือ ด้านพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น ที่อาจจะมีการแสดงออก อาทิ...โต้เถียงกับผู้อื่นหรือแม้แต่บุคคลในครอบครัวโดยใช้อารมณ์ตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรง, ไม่สามารถยับยั้งตนเองได้, มีการเอาชนะทางความคิดกับคนที่เคยมีสัมพันธภาพที่ดี, มีความคิดที่จะใช้กำลังในการเอาชนะ, มีการลงมือทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนทำ ให้เกิดปัญหาด้านสัมพันธภาพอย่างรุนแรง

          ...นี่ว่ากันในเชิงสุขภาพจิต ซึ่งหากจะสลับมาดูในเชิงรัฐศาสตร์ กับ "ปัญหาขัดแย้งทางการเมือง" แม้ว่าทุกฝ่ายต่างก็เครียดเหมือนกัน แต่กับประเด็น "ใครได้-ใครเสีย ??" นั้น รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชา การอิสระ เคยสะท้อนผ่าน "สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์" ไว้ว่า...เรื่องการเมืองที่เคยเป็นเรื่องไกลตัวประชาชนส่วนใหญ่-ชาวบ้านทั่วไปไม่ค่อยเกี่ยว แต่ยุคนี้เกี่ยวแล้ว เพราะ "กระทบเรื่องปากท้องชัดเจนขึ้น" ผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็เกิดจากความคลุมเครือ ความไม่มั่นใจ ความไม่น่าไว้วางใจในสายตานักธุรกิจ-ต่างชาติ 

          "สิ่งที่ตามมาก็คือเริ่มที่ความรำคาญเกิดขึ้นในสังคมไทย และยุคนี้จากความรำคาญธรรมดา ๆ ก็เปลี่ยนเป็นความกดดันแล้ว !!"...นักวิชา การอิสระสายรัฐศาสตร์รายนี้ระบุไว้ 

          และกับประเด็น "ใครได้-ใครเสีย ??" เมื่อเกิดขัดแย้ง-รุนแรง รศ.อัษฎางค์ได้ชี้ไว้อย่างน่าคิด-น่าสนใจว่า..."ถ้ามองแบบองค์รวม คนที่ต่อ สู้กันคือคนที่ได้รับประโยชน์ คือฝ่ายม็อบก็อาจได้ประโยชน์แบบม็อบ ฝ่ายรัฐก็อาจได้ประโยชน์ในแบบของรัฐ ส่วนประชาชนโดยรวมและประเทศ... คือผู้เสียหาย !!" 

         "พยายามหันเหความสนใจไปเรื่องอื่น ลดความสำคัญของปัญหาลงมาชั่วขณะ หาทางระบายออก ออกกำลังกายและพักผ่อน หันหาวิธีการที่ทำให้สงบ เพื่อปล่อยวาง"...เป็นคำแนะนำการแก้เครียดจากการเมืองของ กรมสุขภาพจิต และ 

          "พยายามอย่ายึดติด พยายามมองกลุ่มต่าง ๆ ในแง่สันติวิธี"...เป็นคำแนะนำของ ม.ล.นพ.สมชาย เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. วันที่ม็อบไล่รัฐบาลดีเดย์บุกทำเนียบฯ รอบล่าสุด

          อย่างไรก็ตาม เอาเข้าจริงก็ไม่รู้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่เลือกข้างแบ่งฝ่าย ที่ "เสีย" แบบไม่มีได้แม้แต่ความสะใจ ที่กระทบหนักจากปัญหา การเมืองที่เสริมแรงปัญหาเศรษฐกิจ "จะฝืนทนทำใจกันได้แค่ไหน ?" 

          คนไทยส่วนใหญ่ "จำใจเครียดซ้ำ ๆ ซาก ๆ" มานานมากแล้ว

          จนถึงวันนี้...หลาย ๆ คน "ป่วยแล้วทั้งจิต-ทั้งกาย-ทั้งรายได้" หรือว่า "ที่นี่เมืองไทย...ต้องรับสภาพกันไปทั้งชีวิต ???".



ข้อมูลและภาพประกอบจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การเมืองดุ เศรษฐกิจดิ่ง โพสต์เมื่อ 23 มิถุนายน 2551 เวลา 12:08:28 1,996 อ่าน
TOP