x close

ครูตี๋ กับการต่อสู้เพื่อลุ่มน้ำโขง สายน้ำแห่งชีวิต

ครูตี๋ หรือ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว

ครูตี๋ หรือ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว

ครูตี๋ หรือ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว

แม่น้ำโขง

ครูตี๋ หรือ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว กับชาวบ้าน

ครูตี๋ หรือ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว กับชาวบ้าน

แม่น้ำโขง 

แม่น้ำโขง

แม่น้ำโขง 

แม่น้ำโขง

ชาวบ้านคัดค้านการทำลายแม่น้ำโขง 


แม่น้ำโขง

 

 

สรุปข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบจากนิตยสาร นิตยสาร ฅ ฅน


        หน้าแล้ง ปี 2539 คนเชียงของ จังหวัดเชียงราย และอาจรวมถึงคนริมน้ำโขงจากเชียงแสนถึงท้ายน้ำในเขตลาวและกัมพูชาพากันแตกตื่น เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างน่ากลัว ลดแล้วขึ้น . . . ขึ้นแล้วลด ในช่วงไม่กี่วัน ทั้งที่ฝนไม่ตก หากใครที่ติดตามข้อมูลจะทราบว่า การลดลงของน้ำในแม่น้ำโขงเป็นผลมาจากการเปิดเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่สร้างกั้นลำน้ำโขงตอนบนในประเทศจีน ชื่อ "เขื่อนมันวาน"

        "พอจีนเปิดเขื่อน เราก็รู้ว่าปัญหาแรกของคนแม่น้ำโขงมาถึงแล้ว"

        ครูตี๋ หรือ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว อดีตครูใหญ่หนุ่มวัยต้นสามสิบ แห่งโรงเรียนบ้านห้วยคุ กิ่งอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย  ตระหนักถึงสัญญาณอันตรายที่กำลังจะคุกคามบ้านเกิดที่เป็นอำเภอเล็กๆ และความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับแม่น้ำทั้งสายที่หล่อเลี้ยงชีวิตเขาและผู้คนอีกไม่น้อยกว่าร้อยล้านคนตลอดสองฝั่งโขง

        ลำพังเรื่องสร้างเขื่อนในประเทศจีน ไม่ได้ทำให้ครูตี๋ตื่นเต้นมากเท่าไร เพราะเหลือวิสัยที่จะไปคัดง้างอะไรได้มากมายในฐานะพลเมืองไทยธรรมดาๆ แต่ที่ทำให้แกไม่อาจทนต่อไปได้ และทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดกั้นก็คือ ครั้งแรกที่ได้ยินว่า การเปิดเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขงจะต้องระเบิดแก่งกลางแม่น้ำโขง และแก่งผีหลงในเขตอำเภอเชียงของเป็นหนึ่งในจำนวนนั้นด้วย!!!

        การระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงเป็นผลพวงมาจากการลงนามข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง ของรัฐบาล 4 ประเทศ ที่ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า เมื่อเดือนเมษายน ปี 2543 โดยข้อตกลงระบุว่า ภายใน 1 ปี หลังจากการลงนามในข้อตกลงนี้ ให้เรือของประเทศภาคีมีสิทธิแล่นได้อย่างเสรีในระยะทาง 886.1 กโลเมตร จากท่าเรือซือเหมาของจีน จนถึงท่าเรือหลวงพระบาง

        ปกติครูตี๋เป็นคนรักสงบ มีเพียงเรื่องเดียวที่จะทำให้แกเปลี่ยนเป็นเกรี้ยวกราดดุดันขึ้นมาได้คือ เรื่องการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง สถานการณ์ระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ทำให้ครูตี๋มีเป้าหมายชัดเจน ในการต่อสู้เพื่อต้านการระเบิดคอนผีหลงกลางแม่น้ำโขง 

        "พอรู้ว่าเขาจะเอาแน่แล้ว เราก็ไปพูดคุยกับคนเฒ่าที่อยู่กับแม่น้ำโขงมาหกสิบเจ็ดสิบปี ไปถามว่า ถ้าเกาะแห่งหินผาถูกระเบิด แม่น้ำจะเป็นอย่างไร"

        อาจไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย ที่ความคิดความอ่านของบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ที่รู้จักแม่น้ำโขงมาทั้งชีวิต บอกมาในทำนองเดียวกันว่า ถ้าระเบิดแก่ง ตลิ่งบ้านจะพัง เพราะกระแสน้ำหลากมาอย่างอิสระ ไม่มีเกาะแก่งหินผาช่วยชะลอความแรง และปัญหาถัดมาคือ แม่น้ำโขงจะแห้งมากในช่วงหน้าแล้ง เพราะบรรดาคอน เกาะแก่ง หินผา เป็นตัวช่วยในการชะลอน้ำไว้เป็นช่วงๆ ทำให้น้ำไหลช้า บางจุดถูกบีบให้เกิดเป็นคกเป็นกว๊าน มีน้ำขังอยู่ จึงเป็นเหมือนฝายธรรมชาติช่วยชะลอน้ำได้ ฉะนั้น หน้าแล้งจึงยังมีน้ำ และน้ำก็ใส เป็นแหล่งเก็บหาไก สาหร่ายน้ำจืดที่ขึ้นชื่อ โดยเฉพาะคอนผีหลงนั้นลึกมากถึง 50 เมตร มีซอกหลืบมากมายเป็นแหล่งอาหารของปลา รวมทั้งปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาบึก ถ้าระเบิดผาหินทิ้งเสียแล้ว จะไม่เหลือปลาให้กิน

        สถานการณ์การระเบิดแก่งเข้มข้นมากขึ้น เมื่อครูตี๋ได้เห็นเอกสารลับที่เครือข่ายพันธมิตรของเขานำมาให้ มันเป็นหนังสือสั่งการจากกระทรวงมหาดไทย แจ้งจุดที่จะมีการระเบิดแก่ง  ...ทางเดียวที่เขาทำได้คือ หาทางยับยั้ง และมุ่งไปที่จุดอ่อนของโครการ ซึ่งนั่นก็คือ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีเอไอ ที่โครงการฝ่ายจีนไม่เคยพูดถึง โดยรวบรวมรายชื่อชาวบ้านที่คัดค้านเสนอไปยังกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ทำให้เรื่องนี้ถูกพูดถึงหนาหู หลายฝ่ายเริ่มจับตาดูปัญหาดังกล่าวอย่างสนใจ

        ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องไปถึงข้อตกลงนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อมหลายกรณี คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศ วุฒิสภาพ จึงได้เรียกร้องให้ฝ่ายจีนหยุดการระเบิดแก่งหินแม่น้ำโขง เพื่อรอผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

        ขณะที่อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ครูตี๋ก็ได้ริเริ่มทำงานวิจัยร่วมกับชาวบ้านริมแม่น้ำโขงในด้านนิเวศวิทยา ชนิดพันธุ์พืช และสัตว์น้ำ ตลอดจนวิถีของผู้คนริมฝั่งที่ผูกพันกับสายน้ำใหญ่ ซึ่งจากการวิจัยร่วมกับชาวบ้าน ทำให้ได้ข้อมูลนิเวศวิทยาอย่างละเอียด และงานวิจัยดังกล่าวนี้ได้ถูกนำไปใช้เป็นเอกสารประกอบการเรียนตามโรงเรียนในพื้นที่ในเวลาต่อมา

        ปลายเดือนเมษายน 2547 มีข่าวเรือสำรวจของจีนล่วงลำน้ำเข้ามาทำหมุดหมายร่องน้ำเพื่อกำหนดแนวที่จะระเบิดแก่งคอนผีหลง ตรงแก่งไก่ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ควรจะต้องชะลอเอาไว้ก่อนจนกว่าการทำอีไอเอจะแล้วเสร็จ

        ครูตี๋และสหายร่วมเจตนารมณ์จำนวนหนึ่ง ตัดสินใจยื่นหนังสือประท้วง โดยเคลื่อนเรือสิบกว่าลำ ปักป้ายต่อต้านการระเบิดแก่ง ซึ่งหัวหน้าใหญ่ฝ่ายจีนรับหนังสือประท้วงอย่างงงๆ แต่ไม่มีเหตุรุนแรงใด เพราะหากมองขึ้นฝั่งจักพบว่า มีทหารพรานถืออาวุธเตรียมพร้อมยืนจังก้าน่าเกรงขาม

        ข่าวภาคค่ำวันนั้น โมเดิร์นไนน์ทีวีรายงานเหตุการณ์ประท้วงขับไล่เรือจีนของชาวบ้านเชียงของ และหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าก็รายงานข่าวกันอย่างครึกโครม วันถัดมาผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงมหาดไทยบินด่วนมาดูพื้นที่ และต้องเผชิญกับคำถามยากจากสื่อมวลชนว่าเหตุใดจึงปล่อยให้เรือต่างชาติเข้ามากระทำการอย่างอุกอาจในไทย ทั้งที่เรื่องอยู่ระหว่างชะลอออกไป

        ขณะเดียวกัน เรือสำรวจของจีนทั้งสองลำถอนสมอ ล่าถอยออกจากพื้นที่ไปในวันถัดมา ทิ้งไว้แต่เพียงเสาปูนกล่างแม่น้ำโขงหน้าแก่งไก่ เตือนให้ทุกคนไม่ลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

        "โชคดีที่เราไปทัน และไม่เปิดโอกาสให้เขารุก ไม่เช่นนั้นป่านนี้คงระเบิดแก่งหมดไปแล้ว"

        กระทั่งหน้าแล้งถัดมาในปี 2548 คณะกรรมการประสานความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง แม่น้ำโขง ได้ตัดสินใจปิดโครงการ ระงับการระเบิดแก่งคอนผีหลงโดยสิ้นเชิง แม้คอนผีหลงจะรอดพ้นการระเบิดเพื่อเปิดทางเดินเรือ แต่แก่งใหญ่ๆ อีก 20 แก่ง ในเขตแดนจีน พม่า และลาว ถูกระเบิดทิ้งไปจนหมดสิ้น 

        เหนือสายน้ำขึ้นไปมีเขื่อนขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างแล้ว และอยู่ระหว่างการก่อสร้างในเขตจีน 8 เขื่อน ถัดลงไปทางใต้มีเขื่อนกั้นลำน้ำโขง และลำน้ำสาขาในเขตลาวอีกนับสิบเขื่อน เขื่อนใหญ่ของกัมพูชาก็ได้ทุนจากจีน จุดประสงค์หลักของเขื่อนเหล่านี้คือ การผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเขตอุตสาหกรรม ที่เขามองว่าเป็นรายได้ เป็นเรื่องจำเป็น แต่ไม่มีใครสนใจว่า ปลาในแม่น้ำโขงที่คนนับล้านกินกันทุกวันก็จำเป็น ประโยชน์ของแม่น้ำนี้ให้ไว้กับคนทั้งมวล แต่เขื่อนนั้นทำลายแม่น้ำทั้งสาย และให้ประโยชน์กับคนไม่กี่คน

        เรื่องการเปิดเขตการค้าเสรีก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครพูดถึงความอยู่รอดของคนธรรมดาสองฝั่งน้ำ ไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะช่วยให้ผู้ค้ารายเล็กในท้องถิ่นอยู่ได้ แต่กลับไปส่งเสริมทุนใหญ่เข้ามาแบบไม่มีข้อจำกัด หากจะมีพิเคราะห์กันจริงๆ เมืองไทยไม่ได้มีตัวตนใดๆ ในระบบนี้ เป็นเพียงถนน สะพาน และโกดังเก็บของให้ทุนใหญ่ทอดข้ามไปพบกันจากเหนือสุดไปใต้สุด ..จากจีนไปสิงคโปร์ก็เท่านั้น

        วันนี้ปัญหามากมายจากการไหลบ่าของทุน การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้ามากมายตลอดลำน้ำ การตัดถนนสร้างระบบสาธารณูปโภค การเปิดเขตการค้าเสรี การเปิดสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ยังคงดำเนินต่อไป  ...เช่นเดียวกับครูตี๋และเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านนา ที่ยังคงต่อสู้เพื่อสายน้ำแห่งชีวิตของพวกเขาต่อไป


 

ข้อมูลจากและภาพประกอบจาก

นิตยสาร ฅ ฅน ปีที่ 3 ฉบับที่ 9 (33) เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2551

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ครูตี๋ กับการต่อสู้เพื่อลุ่มน้ำโขง สายน้ำแห่งชีวิต อัปเดตล่าสุด 22 กรกฎาคม 2551 เวลา 17:09:03 31,569 อ่าน
TOP