x close

แพทย์ไทยคนแรก ได้รับเสนอชื่อเป็น ผอ. อนามัยโลก สมัย2


แพทย์ไทยคนแรก ได้รับเสนอชื่อเป็น ผอ. อนามัยโลก สมัย2

          นายเเพทย์สำลี เปลี่ยนบางช้าง นายแพทย์ไทยคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสมัยที่ 2

          นายเเพทย์สำลี เปลี่ยนบางช้าง นายแพทย์ไทยคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสมัยที่ 2 โดยมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งอีก 5 ปี  นายแพทย์สำลี เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอนามัยโลกประจำภูมิภาค ซึ่งมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเสนอชื่อท่านให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นสมัยที่ 2 ในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาองค์กรขององค์การอนามัยโลก

          นายแพทย์สำลี เปลี่ยนบางช้าง ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสมัยที่ 2   

          กรุงนิวเดลฮี วันที่ 9 กันยายน 2551  จากการประชุมคณะกรรมการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การอนามัยโลก สมัยที่ 61 ในวันที่ 9 กันยายน 2551 ณ สำนักงานองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรุงนิวเดลฮี สาธารณรัฐอินเดีย ได้มีการลงคะแนนเสียงของประเทศภาคีสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งหมด 11ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ราชอาณาจักรภูฏาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐมัลดีฟส์ สหภาพพม่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต และประเทศไทย   เพื่อเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงปี พ.ศ. 2551  ถึง 2557  ซึ่งปรากฏผลว่า  นายแพทย์สำลี เปลี่ยนบางช้าง ได้รับการลงคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์จากผู้แทนของทั้ง 11 ประเทศ  ทั้งนี้ การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวโดยคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก (WHO Executive Board) จะมีขึ้นในเดือนมกราคม 2552      

          เมื่อปี พ.ศ.2545รัฐบาลไทยได้เคยเสนอชื่อนายแพทย์สำลี เปลี่ยนบางช้าง เข้ารับการเลือกตั้งเป็นผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนายแพทย์สำลีฯ ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2547-วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552  และจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้การสนับสนุนการลงสมัครรับเลือกตั้งของ นายแพทย์สำลี ฯ เป็นผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสมัยที่ 2 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยมีความเห็นว่า นายแพทย์สำลีฯ เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์สูงในการปฏิบัติงานในองค์การอนามัยโลก อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้คนไทยได้ดำรงตำแหน่งระดับผู้บริหารขององค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญด้าน

          สาธารณสุขในระดับโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทย และยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไทยในเวทีสากลอีกด้วย 

          ในอดีต นายแพทย์สำลีฯ เคยรับราชการกับกระทรวงสาธารณสุข ในระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2508 ถึง 2527  โดยดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ในกรมอนามัย กรมการแพทย์และอนามัย และกรมการแพทย์ ตามลำดับตําแหน่งสุดท้ายก่อนไปปฏิบัติงานกับองค์การอนามัยโลก คือ ผู้อํานวยการสํานักงานคณะกรรมการที่ปรึกษาแห่งชาติเรื่องการป้องกันและควบคุมโรค  นายแพทย์สำลีฯ ได้ปฏิบัติงานกับองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงปี พ.ศ. 2527 ถึง 2543  โดยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการภูมิภาค และผู้อำนวยการการบริหารแผนงาน จากนั้นเคยเป็นคณบดีวิทยาลัยการสาธารณสุขแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 

          หลังจากได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการภูมิภาคเมื่อปี พ.ศ.2547   นายแพทย์สำลีฯ ได้ทุ่มเทริเริ่มงานที่สำคัญ ๆ ด้วยความมุ่งมั่น โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและกระชับความร่วมมือในการพัฒนาการสาธารณสุขของประเทศสมาชิก 11 ประเทศในภูมิภาค โดยเน้นการดำเนินการตามพันธะกิจขององค์การอนามัยโลกด้วยความรับผิดชอบและโปร่งใส นโยบายที่สำคัญขององค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้การอำนวยการของนายแพทย์สำลีฯ คือ 

          1) พัฒนาระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข โดยเน้นในเรื่องการศึกษาและการฝึกอบรม   

          2)ระดมทรัพยากรภายนอกเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด 

          3) กระจายอำนาจการดำเนินงานให้กับผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศสมาชิก และเสริมสร้างความสามารถขององค์การอนามัยโลกในการสนับสนุนประเทศมาชิกอย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ และ 

          4)สนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน

          นโยบายที่สำคัญใน 5 ปีข้างหน้า นอกเหนือจากการดำเนินงานต่อเนื่องจาก 5 ปีที่ผ่านมา จะเน้นการประชาสัมพันธ์และสนับสนุนประเทศสมาชิก ในการดำเนินงานโดยใช้แนวความคิดทางสาธารณสุขมูลฐานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสุขภาพดีถ้วนหน้าเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน และเป็นเป้าหมายทางสังคมของทุกประเทศ  สนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณสุขซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในงานส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันและควบคุมโรค สนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ มีการเตรียมทรัพยากรทั้งทางด้านบุคลากรและงบประมาณเพื่อการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แพทย์ไทยคนแรก ได้รับเสนอชื่อเป็น ผอ. อนามัยโลก สมัย2 อัปเดตล่าสุด 10 กันยายน 2551 เวลา 13:38:32 7,657 อ่าน
TOP