x close

ทุกข์หนัก!! น้ำท่วม ชาวบ้านเริ่มเครียด ขาดแคลนน้ำ – อาหาร

น้ำท่วม




สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

          สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ยังคงน่าเป็นห่วง ล่าสุดเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 กันยายน เกิดน้ำท่วมฉับพลันในเขตเทศบาลเมืองแม่สอด และตำบลรอบนอกของ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยน้ำจากลำห้วยแม่สอดไหลบ่าเข้าท่วมตัวเมือง ขณะเดียวกันน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่สอดล้นสปิลล์เวย์ออกมา ไหลลงในลำห้วยแม่สอด จึงส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันบนถนนหลายสาย และในเขตชุมชนต่างๆ ชาวบ้านต้องรีบเก็บข้าวของและทรัพย์สินไปไว้ในที่ปลอดภัย รวมทั้งใช้กระสอบทรายปิดกั้นเพื่อป้องกันน้ำเข้า

          ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ยังคงมีน้ำจากแม่น้ำมูลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ใน ต.ท่าหลวง โดยเฉพาะที่บ้านใหม่ไทรงาม หมู่ 16 ประชาชนเดือดร้อนอย่างหนัก พื้นที่ไร่นาได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ถนนสายพิมาย - ท่าหลวง มีน้ำท่วมสูงกว่า 30 เซนติเมตร

          ที่ จ.พิษณุโลก แม้ระดับน้ำในแม่น้ำวังทองจะเริ่มลดลงแล้ว แต่พื้นที่ลุ่มยังถูกน้ำท่วมขังสูงกว่า 1 เมตร โดยเฉพาะ 2 หมู่บ้านของ ต.วังพิกุล อ.วังทอง ชาวบ้านกว่า 50 ครอบครัว ยังถูกตัดขาดจากโลกภายนอก และเริ่มขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค เนื่องจากทางเข้าหมู่บ้านถูกน้ำท่วม ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนเกิดความเครียด เพราะไร่นาถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมด

          ที่ จ.พิจิตร ชาวบ้านกว่า 100 หลังคาเรือน พื้นที่บ้านไดชุมแสง ต.บ้านบุ่ง อ.เมืองพิจิตร ถูกน้ำท่วมสูง ชาวบ้านต้องอพยพไปอยู่บนชั้นสองของบ้าน และเริ่มขาดแคลนอาหาร รวมทั้งน้ำสะอาด

          ที่ จ.ปราจีนบุรี น้ำท่วมชุมชนตลาดท่าตูมนานกว่าสัปดาห์ เริ่มส่งกลิ่นเน่าเหม็น ชาวบ้านต้องปิดประตูหน้าต่าง เนื่องจากทนต่อสภาพกลิ่นเหม็นไม่ไหว

          ที่ จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำในแม่น้ำมูลยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เอ่อเข้าท่วม 11 ชุมชนในพื้นที่ อ.เมืองอุบลราชธานี  และ อ.วารินชำราบ ชาวบ้านกว่า 100 ครอบครัว ต้องอพยพไปอยู่ปลอดภัย และบางส่วนต้องขนย้ายสิ่งของขึ้นไปพักอาศัยอยู่บนชั้นสองของบ้าน

          เช่นเดียวกับที่ จ.ลพบุรี สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาเบาบางลง พายุฝนที่ตกกระหน่ำตั้งแต่วันที่ 11 - 13 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้ 9 อำเภอ 88 ตำบล 752 หมู่บ้าน ตกเป็นพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม แม้ว่าจะผ่านมาแล้ว 2 สัปดาห์ สถานการณ์บางพื้นที่จะคลี่คลาย แต่ก็ยังมีพื้นที่ประสบอุทกภัยอีก 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.โคกสำโรง และ อ.บ้านหมี่ ที่ยังต้องทนทุกข์อยู่ต่อไป

          ทั้งนี้ หลังผู้สื่อข่าวได้ออกสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของชาว อ.เมือง จ.ลพบุรี ซึ่งกำลังประสบภัยน้ำท่วมอย่างหนักใน ต.ถนนใหญ่ ต.ท่าแค ต.เขาสามยอด และ ต.ป่าตาล ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องอพยพหนีน้ำมาอาศัยอยู่ริมถนน ยังไม่สามารถกลับเข้าบ้านพักได้ เนื่องจากระดับน้ำลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้ว่าจังหวัดจะนำเครื่องสูบน้ำเกือบ 50 เครื่องมาระบายน้ำแต่ก็ยังไม่สามารถระบายน้ำออกได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในหมู่บ้านสิรัญญาหรือหมู่บ้านเศรษฐีโครงการ 3 และ 4 ที่สร้างเสร็จไปได้ไม่ถึง 5 ปี กว่า 1,000 หลังคาเรือน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นพื้นที่รับน้ำในอดีต ปัจจุบันได้กลายเป็นเมืองบาดาลไปแล้ว และคาดว่าต้องใช้เวลาอีก 1 - 2 สัปดาห์ ระดับน้ำจึงจะลดลงกลับเป็นปกติ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงต้องสัญจรด้วยเรือเท่านั้น

          นอกเหนือจากปัญหาเรื่องการอุปโภคบริโภคและที่อยู่อาศัยแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัยต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ นั่นคือน้ำที่ท่วมขังอยู่นานเกือบ 2 สัปดาห์เริ่มเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น โดยสาธารณสุขจังหวัดลพบุรีได้ขอความร่วมมือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำสารชีวภาพไปฉีดเพื่อลดปัญหาการเน่าเสีย

          อย่างไรก็ตาม แม้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะย้ายครัวเรือนไปอาศัยอยู่ริมถนนแล้ว ทว่าสองตายาย "บุญนาค ปั้นเงิน" วัย 80 ปี กับสามีหูหนวกวัย 82 ปี ก็ยังยืนยันที่จะใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านสองชั้นต่อไป จะไม่อพยพไปอยู่ในเต็นท์พักพิงชั่วคราวเหมือนชาวบ้านรายอื่นๆ เป็นอันขาด เนื่องจากเป็นห่วงบ้านมาก ไม่อยากจากไปไหน ดังนั้น ทุกวันนี้สามีวัย 82 ปีของยายบุญนาคจึงเข็นเตียงนอนไปไว้บนหลังคา เพื่อเฝ้าดูระดับน้ำว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่อย่างเป็นกังวล

          "วันที่น้ำท่วมรู้สึกกลัวมาก แรกๆ ก็เพียงช่วยกันยกของขึ้นที่สูง ไม่คิดว่าน้ำจะท่วมหนักขนาดนี้ แล้วก็ย้ายขึ้นมาอยู่ชั้นสองกัน ก็ยังกลัวว่าน้ำจะท่วมขึ้นมาอีก กลางคืนตื่นขึ้นมาก็ร้องไห้ ยายภาวนาขอให้ตายดีๆ อย่าตายในน้ำเลย แม้จะย้ายขึ้นมาอยู่ชั้นสองแล้วก็ยังกลัวอยู่ เพราะว่ายน้ำไม่เป็น ส่วนข้าวของของยายที่ชั้นล่างก็ปล่อยให้น้ำท่วมหมดแล้ว ตั้งแต่น้ำท่วมมากินไม่อิ่มนอนไม่หลับมาหลายอาทิตย์แล้ว" บุญนาคกล่าวน้ำตาคลอ

          ทว่าสำหรับ "จอย" แล้ว เธอเลือกที่จะย้ายออกมาจากบ้านชั้นเดียวที่ถูกน้ำท่วมจนมิดหลังคา อพยพมาอยู่ที่เต็นท์พักพิงชั่วคราวแทน จอยวัย 38 ปี มีอาชีพเก็บของเก่าขายยอมรับว่าเครียดมาก ไม่ได้ทำอะไรมานานเป็นสัปดาห์แล้ว ของเก่าที่ลงทุนซื้อเก็บไว้หมดเงินไปเกือบ 5,000 บาท ทั้งเศษกระดาษและขวดพลาสติกลอยหายไปกับน้ำ บ้างก็เสียหายใช้การไม่ได้อีกต่อไป เธอบอกว่าเงินเพียงแค่นี้สำหรับคนค้าของเก่าถือว่าเยอะมาก และน้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงที่สุดในชีวิตที่เคยประสบมา

          ดูเหมือนว่าชะตาชีวิตของผู้ประสบภัยน้ำท่วมจะไม่แตกต่างกันมากนัก ทุกคนล้วนสุญเสียด้วยกันทั้งสิ้น "แหมว แก้วอารี" เกษตรกรวัย 50 ปีก็เช่นเดียวกัน ข้าวในนา 35 ไร่ ที่กำลังจะเก็บเกี่ยวในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ต้องจมอยู่ใต้น้ำ ตีเป็นตัวเลขคร่าวๆ ในยุคข้าวยากหมากแพงไร่ละ 1 หมื่นบาท แหมวต้องสูญเงินไป 3.5 แสนบาทเพียงชั่วข้ามคืนเท่านั้น แม้จะได้เงินชดเชยแต่ก็เพียงไม่เกินไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลยกับสิ่งที่สูญเสียไป

          "ลงทุนไปแล้วกว่าแสนบาท ข้าวกำลังจะเกี่ยวอยู่แล้ว ฉันกะว่าจะเกี่ยวข้าวปลายเดือนกันยายนนี้ แต่น้ำท่วมเสียก่อน" แหมวบอกด้วยสีหน้าเศร้าๆ พร้อมกับบ่นน้อยใจในชีวิตว่า ปกติน้ำท่วมก็ไม่เคยถึงที่นา อย่างมากสุดเมื่อปี 2549 ก็ยังพอลงทุนใช้เครื่องสูบน้ำออกจากนาได้ แตกต่างจากครั้งนี้โดยสิ้นเชิง

          ทุกวันนี้แหมวและครอบครัวรวม 5 ชีวิต ต้องใช้ชีวิตอย่างลำเค็ญอยู่ริมถนน เมื่อฝนกระหน่ำลมพัดสาดกระเซ็นเข้ามาในเต็นท์ก็เปียกปอนไปตามกัน เวลาอาบน้ำต้องใช้น้ำเน่าที่ปล่อยมาจากที่อื่น ชีวิตลำบากยากแค้น ผสมกับปัญหาเรื่องหนี้สิน และผลผลิตทางการเกษตรที่เสียหาย ประกอบกับความช่วยเหลือยังมาไม่ถึงเช่นนี้ เลยทำให้รู้สึกเครียดมากขึ้นไปอีก


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

   

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทุกข์หนัก!! น้ำท่วม ชาวบ้านเริ่มเครียด ขาดแคลนน้ำ – อาหาร อัปเดตล่าสุด 26 กันยายน 2551 เวลา 14:38:41 5,982 อ่าน
TOP