x close

เปิดระเบียบ สตช. ต้องถอดยศ ทักษิณ เหลือแค่นาย

ทักษิณ ชินวัตร


เปิดระเบียบ สตช. ต้องถอดยศ ทักษิณ จาก "พันตำรวจโท" เหลือแค่ "นาย" เหตุถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก-หนีคดีอาญา 

          ผู้ที่ดำรงอยู่ในยศตำรวจ สมควรจะประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ มิฉะนั้น ย่อมเป็นทางนำความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะ โดยเหตุผลดังกล่าว หากผู้ใดประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ไม่ได้ ก็ไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศตำรวจต่อไป

          การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินจากกองทุนเพื่อการฟื้นและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถนนรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท  ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 และ 122 

          ไม่เพียงแต่เป็นเหตุสำคัญที่จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณถูกเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) หรือเทียบเท่าชั้น "เจ้าพระยา" ที่ได้รับพระราชทานคืนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548 เท่านั้น

          แต่ยังป็นเหตุสำคัญที่จะทำให้ถูกถอดยศ "พันตำรวจโท" ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และ ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547

          ตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 นั้น กำหนดเรื่องการ "ถอดยศ" นายตำรวจชั้นสัญญาบัตรไว้ในมาตรา 28 และ 29 ดังนี้  

           มาตรา 28   การถอดหรือการออกจากยศตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้ทำโดยประกาศพระบรมราชโองการ 

           มาตรา 29   การให้ออกจากว่าที่ยศตำรวจชั้นสัญญาบัตรหรือการถอดหรือการออกจากยศตำรวจชั้นประทวน ให้ผู้มีอำนาจสั่งตามมาตรา 26 วรรคสาม หรือมาตรา 27  แล้วแต่กรณี สั่งได้ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

          จากมาตรา 28 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้ออก "ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วย  การถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547" มี พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามและประกาศ ณ วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2547


ทักษิณ ชินวัตร - พจมาน ชินวัตร



สำหรับรายละเอียดของระเบียบดังกล่าว มีดังนี้ 

          เนื่องจากผู้ที่ดำรงอยู่ในยศตำรวจ สมควรจะประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์  มิฉะนั้น ย่อมเป็นทางนำความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะ โดยเหตุผลดังกล่าว หากผู้ใดประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ไม่ได้ ก็ไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศตำรวจต่อไป

          อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(4)มาตรา 28 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 วางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

          ข้อ 1 การเสนอขอถอดยศตำรวจทั้งแก่ผู้ที่อยู่ในราชการตำรวจ และที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

          (1) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ว่าทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แม้ศาลจะพิพากษารอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ตาม

          (2) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท 

          (3) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพราะก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นโดยทุจริต 

          (4) กระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ 

          (5) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ 

          (6) ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ 

          (7) ถูกสั่งให้ออกจากราชการ เพราะขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ก่อนได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ

          ข้อ 2 หน้าที่ความรับผิดชอบในการพิจารณาและดำเนินการถอดยศตำรวจ

          (1) ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้กองวินัย หรือผู้บังคับบัญชาที่ได้รับมอบอำนาจในการดำเนินการทางวินัยมีหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาว่า ผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศตามข้อ 1  แล้วแจ้งผลการพิจารณาพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ให้กองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาถอดยศ เว้นแต่กรณีตามข้อ 1(7) เมื่อมีคำสั่งให้ออกจากราชการแล้วให้หน่วยต้นสังกัดดำเนินการส่งเรื่องให้กองทะเบียนพล รวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาถอดยศต่อไป

          (2) ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งยศเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาว่า  ผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศตาม ข้อ 1 แล้วดำเนินการสั่งถอดยศ พร้อมทั้งรายงานให้สำนักงานตำรวจ แห่งชาติ (ผ่านกองทะเบียนพล) ทราบ

          (3) ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่รับทราบข้อมูลการต้องหาคดีอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือถูกฟ้องในคดีล้มละลายอันเนื่องมาจากการก่อหนี้สินขึ้นโดยทุจริตของผู้ที่ดำรงยศตำรวจทั้งในส่วนของผู้ที่พ้นจากราชการไปแล้ว หรือยังคงรับราชการอยู่ในหน่วยงานอื่นของรัฐหาข้อมูลเบื้องต้นให้แน่ชัดแล้วส่งเรื่องให้กองวินัยพิจารณา หากเห็นว่าผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศก็ให้ส่งเรื่องไปยังกองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา ถอดยศต่อไป

          จากระเบียบดังกล่าวจะเห็นว่า พฤจิกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าเหตุในการ "ถอดยศ" ถึง 2 ข้อ คือ

          (2) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท

          (6) ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการในเรื่องนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

          หนึ่ง - ในส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกนั้น ให้กองวินัย หรือผู้บังคับบัญชาที่ได้รับมอบอำนาจในการดำเนินการทางวินัยมีหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาว่า ผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศแล้วแจ้งผลการพิจารณาพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ให้กองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาถอดยศ

          สอง - ในส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณหลบหนีคดีออาญาไปอยูที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษนั้น ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่รับทราบข้อมูลการต้องหาคดีอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา ของผู้ที่ดำรงยศตำรวจทั้งในส่วนของผู้ที่พ้นจากราชการไปแล้ว หาข้อมูลเบื้องต้นให้แน่ชัดแล้วส่งเรื่องให้กองวินัยพิจารณา หากเห็นว่าผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศก็ให้ส่งเรื่องไปยังกองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา ถอดยศต่อไป

          จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เห็นชัดว่า แล้วว่า พฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าเหตุตามระเบียบทั้ง 2 ประการ จึงอยู่ที่ว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบหรือไม่

          ทั้งนี้ คงต้องดูที่ผลว่า ในที่สุดแล้ว "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" จะมีสถานะเพียง "นายทักษิณ ชินวัตร" หรือไม่

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์ และหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดระเบียบ สตช. ต้องถอดยศ ทักษิณ เหลือแค่นาย อัปเดตล่าสุด 28 ตุลาคม 2551 เวลา 11:16:34 50,417 อ่าน
TOP