x close

สัมผัสหนาวที่ . . . ดอยอ่างขาง

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

ดอยอ่างขาง

ดอยอ่างขาง

ดอยอ่างขาง

ดอยอ่างขาง

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก king60.mbu.ac.th
 
          ใครอยากไปแอ่วเมืองเหนือยกมือขึ้น...!! วันนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับ "ดอยอ่างขาง" แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ใกล้ไม่ไกลขอแค่ใจอยากไป ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศเหนือเพียง 137 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าไปอีก 25 กิโลเมตรเท่านั้น (อิอิ)
 
          "ดอยอ่างขาง" เป็นเทือกดอยสูงติดกับสันเขาพรมแดนประเทศพม่า จุดเด่นที่นักท่องเที่ยวชอบไปเยือนดอยอ่างขางคือ การไปเที่ยวชมดอกไม้เมืองหนาวภายใต้โครงการหลวง ทั้งนี้ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง ที่ได้รับการจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2512 ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อวิจัยพืชเมืองหนาวและส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชทดแทนฝิ่นและหยุดการทำลายป่า
 
          อย่างไรก็ตาม ดอยอ่างขางมีลักษณะเป็นแอ่งที่ราบในหุบเขา ดูไปดูมาก็คล้ายๆ กับท้องกะทะหรืออ่างน้ำ ล้อมรอบไปด้วยภูเขาสูง อยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 1,400 เมตร ทำให้อากาศบนดอยหนาวเย็นตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม อากาศที่นี่จะหนาวเย็นมากๆ เรียกได้ว่า เย็นซะจนน้ำค้างกลายเป็นน้ำค้างแข็งเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น นักท่องเที่ยวจึงควรเตรียมเครื่องกันหนาวมาให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็น หมวก ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อกันหนาว เป็นต้น
 
      เอาล่ะ!! ได้เวลาไปทำความรู้จักกับสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจบนดอยอ่างขางกันแล้ว...
 
          เริ่มกันที่ "สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง" อย่างที่กล่าวไปในตอนแรกว่าเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง อย่างไรก็ตาม สถานีแห่งนี้มีเกร็ดประวัติเล่าต่อกันมาว่า... ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จทางเฮลิคอปเตอร์ผ่านยอดดอยแห่งนี้ และทอดพระเนตรลงมาเห็นหลังคาบ้านคนอยู่กันเป็นหมู่บ้าน จึงมีพระดำรัสสั่งให้เครื่องลงจอด เมื่อเสด็จพระราชดำเนินลงมาทอดพระเนตรเห็นทุ่งดอกฝิ่น และหมู่บ้านตรงนั้นก็คือ หมู่บ้านของชาวเขาเผ่ามูเซอ ซึ่งในสมัยนั้นยังไว้แกละ ถักเปียยาว แต่งกายสีดำ สะพายดาบ พระองค์มีพระราชดำรัสที่จะแปลงทุ่งฝิ่นให้เป็นแปลงเกษตร  "สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง" จึงเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2512 มีโครงการวิจัยผลไม้ ไม้ดอกเมืองหนาว งานสาธิตพืชไร่ พืชน้ำมัน โดยมุ่งที่จะหาผลิตผลที่มีคุณค่าพอที่จะทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวเขา และทำการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมแก่ชาวเขาในบริเวณใกล้เคียง
 
          สำหรับพรรณไม้ที่ปลูกในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ไม้ผล เช่น บ๊วย ท้อ พลัม แอปเปิ้ล สาลี่ พลับ กีวี องุ่น ราสป์เบอร์รี กาแฟพันธุ์อาราบิกา นัตพันธุ์ต่างๆ ไม้ดอก เช่น แกลดิโอลัส เยอบีราพันธุ์ยุโรป สแตติส ยิบโซฟิลลา คาร์เนชั่น อัลสโตรมีเรีย ลิลี ไอริส แดฟโฟดิล รวมถึงผักต่างๆ เช่น ซูกินี เบบีแครอต กระเทียมต้น หอมญี่ปุ่น ผักกาดฝรั่ง แรดิช เฟนเนล มันฝรั่ง ถั่วแดงหลวง และถั่วพันธุ์อื่นๆ
 
          นอกจากนี้ ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ยังเป็นแหล่งเที่ยวชมวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านชาวไทยภูเขาต่างๆ ได้แก่ เผ่ามูเซอดำ ปะหล่อง และจีนฮ่อ รวมทั้งชมความงามตามธรรมชาติของผืนป่า กิจกรรมดูนก ซึ่งมีทั้งนกประจำถิ่นและนกหายากต่างถิ่น พร้อมผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย งานส่งเสริมเกษตรกรจำหน่ายภายใต้ตราสินค้า "ดอยคำ" และที่พักทั้งในรูปแบบรีสอร์ท บ้านพักแบบกระท่อม และลานกางเต็นท์พร้อมอาหารและเครื่องดื่มบริการมากมาย (ครบครันสุดๆ)
 
          "สวนบอนไซ" อยู่ในบริเวณสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้เขตอบอุ่นและเขตหนาวทั้งในและต่างประเทศ ปลูก ดัด ตัดแต่ง โดยใช้เทคนิคบอนไซสวยงามน่าชม และในบริเวณเดียวกันยังมีสวนสมุนไพรอีกด้วย สำหรับฤดูท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - มกราคม 
 
          "หมู่บ้านคุ้ม" ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นชุมชนเล็กๆ ประกอบด้วยผู้อยู่อาศัยหลายเชื้อชาติอยู่รวมกัน อาทิ ชาวไทยใหญ่ ชาวพม่า และชาวจีนฮ่อ ซึ่งได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ และเปิดร้านค้าบริการแก่นักท่องเที่ยว 
 
          "จุดชมวิวกิ่วลม" อยู่ทางด้านซ้ายมือก่อนถึงทางแยกซึ่งจะไปหมู่บ้านปะหล่องนอแลทางหนึ่ง และบ้านมูเซอขอบด้งทางหนึ่ง สามารถชมทะเลหมอกอันงดงาม และชมวิวยามพระอาทิตย์ขึ้นและตก มองเห็นทิวเขารอบด้าน และหากฟ้าเปิดก็จะมองเห็นสถานีเกษตรหลวงอ่างขางด้วย
 
          "หมู่บ้านนอแล" ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย - พม่า คนที่นี่เป็นชาวเขาเผ่าปะหล่องเชื้อสายพม่า แต่เดิมคนกลุ่มนี้อยู่ในพม่าและพึ่งอพยพมา มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง นับถือศาสนาพุทธ ทุกวันพระผู้คนที่นี่จะหยุดอยู่บ้านถือศีล อย่างไรก็ตาม จากหมู่บ้านนี้นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นทิวทัศน์สวยงามของธรรมชาติ บริเวณพรมแดนไทย - พม่าได้อีกด้วย
 
          "หมู่บ้านขอบด้ง" เป็นที่ที่ชาวเขาเผ่ามูเซอดำและเผ่ามูเซอแดงอาศัยอยู่ร่วมกัน คนที่นี่นับถือผี มีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับการส่งเสริมจากโครงการหลวงในด้านการเกษตรและด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น อาบูแค เป็นกำไลถักด้วยหญ้าไข่เหา มีสีสันและลวดลายในแบบของมูเซอ ทั้งนี้ บริเวณหน้าหมู่บ้านจะมีการจำลองบ้านและวิถีชีวิตของชาวมูเซอ โดยชาวบ้าน ครู และนักเรียนโรงเรียนบ้านขอบด้งช่วยกันสร้างขึ้นมา เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้มีโอกาสเรียนรู้และศึกษาวัฒนธรรมของหมู่บ้าน โดยที่ไม่เข้าไปรบกวนความเป็นส่วนตัวของเขามากเกินไป  และยังมีโครงการมัคคุเทศก์น้อย ที่อบรมเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านขอบด้ง เพื่อช่วยอธิบายวิถีชีวิตของพวกเขาให้ผู้มาเยือน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกและสร้างความรักในท้องถิ่นให้เด็กๆ ด้วย
 
          "หมู่บ้านหลวง" ชาวหมู่บ้านหลวงเป็นชาวจีนยูนานที่อพยพมาจากประเทศจีน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก อาทิ ปลูกผักผลไม้ เช่น พลัม ลูกท้อ และสาลี่
 
การเดินทาง

          จากเชียงใหม่ ใช้เส้นทางสาย 107 เชียงใหม่ - ฝาง เป็นเส้นทางผ่านแม่ริม แม่แตง เชียงดาว ทางแยกเข้าดอยอ่างขางมี 2 เส้นทาง คือ แยกซ้ายกิโลเมตรที่ 79 เป็นเส้นทางใหม่ที่ไม่ชันมาก ระยะทางจากแยกทางหลวงสาย 107 ไปจนถึงอ่างขางมีระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร อีกเส้นทางคือแยกกิโลเมตรที่ 137 มีระยะทางถึงอ่างขางประมาณ 25 กิโมเมตร เป็นเส้นทางที่สั้นแต่ชันมาก รถเก๋งและรถทุกชนิดขึ้นได้ถ้าคนขับมีฝีมือ ถ้าไม่แน่ใจให้จอดรถไว้ที่วัดที่ปากทางกิโมเมตรที่ 137 หรือจอดรถไว้ที่บริเวณลานจอดรถเอกชนที่มีรั้วปิดมิดชิด สถานที่รับจอดรถอยู่ตรงข้ามกับปากทางเข้าดอยอ่างขาง ค่ารถจอดคันละ 50 บาท แล้วนั่งรถสองแถวขึ้นไป หรือจะเหมารถขึ้นไปก็ได้
 
          อย่างไรก็ตาม สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและข้อมูลการท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โทร.0-5345-0107-9
 
          ... เที่ยวเมืองไทย ไม่ไปไม่รู้ แล้วเจอกันที่ "ดอยอ่างขาง" นะค้า...




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สัมผัสหนาวที่ . . . ดอยอ่างขาง อัปเดตล่าสุด 16 พฤศจิกายน 2558 เวลา 13:48:31 73,340 อ่าน
TOP